Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : เรื่องเล่าเมื่อครั้งเป็นคุณครูสอนพิเศษภาษาไทย


เรื่องเล่าเมื่อครั้งเป็นคุณครูสอนพิเศษภาษาไทย

ลูกศิษย์คนแรกของคุณครู
                ลูกศิษย์คนแรกของคุณครู เป็นนักเรียนชาย ขอไม่เอยชื่อ คุณครูต้องเดินทางไปสอนที่ตลาดสำเหร่ เป็นนักเรียนชายประถมศึกษาปีที่ ๓ มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาไทย ไม่คล่อง  ต้องกล่าวก่อนว่า คุณครูเข้าวงการสอนภาษาไทยในลักษณะการสอนพิเศษนี้ เมื่อปีที่๓ ของการศึกษาที่มหาวิทยาลัย เหตุผลประการแรกคือ ต้องการหารายได้ และฝึกการเรียนการสอน อันเป็นอาชีพและสิ่งที่คุณครูชื่นชอบมากที่สุด  


คุณครูพบงานสอนนี้ในเว็บไซท์แห่งหนึ่ง คุณครูจะต้องจ่ายค่าแนะนำไปในครั้งแรก ๗๐๐ บาท นับว่าเป็นค่าแนะนำที่สูงมาก  ผู้แนะนำบอกกับครูว่า เด็กนักเรียนผู้นี้อ่อนมาก เขียนสะกดคำไม่ถูก คุณครูเลยเริ่มหนักใจว่าจะทำการเรียนการสอนได้หรือไม่  แต่เมื่อจ่ายค่าแนะนำไปแล้ว จึงจำเป็นจะต้องทำงานนี้ให้ได้หรือไม่ก็ทำให้ได้ทุนรอนที่ตนจ่ายลงคืนเสียก่อน  เมื่อทำการติดต่อกับผู้ปกครองของนักเรียน วันแรกของการเรียนการสอน ก็เริ่มขึ้น วันแรก ตามข้อกำหนดของคุณครู คือจะต้องมีการทดสอบเสียก่อนว่านักเรียนมีปัญหาอย่างไร โดยใช้แบบทดสอบการพฤติกรรมการใช้ภาษาไทย ทักษะทั้งสี่ด้าน ได้แก่ พูด ฟัง อ่าน เขียน  (ท่านผู้สนใจเข้าดูได้ในหน้าบล็อก แบบทดสอบพฤติกรรมการใช้ภาษาไทย โดยที่นำมาแสดงให้ดูนั้นจะเป็น ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ครับ)  

เมื่อคุณครูไปถึงที่บ้านของนักเรียนก็ปรากฏนักเรียนชายร่างเล็ก ที่ไม่ดูจะดื้อหรือซนแต่อย่างไร หน้าตาน่ารัก เหมาะกับวัย สิ่งแรกที่คุณครูทำคือการยิ้มให้ ด้วยความเชื่อลึก ๆ ในใจว่า รอยยิ้มชนะทุกสิ่ง และก็จริงตามนั้น รอยยิ้มทำให้เรากลายเป็นคุณครูที่แสนวิเศษสำหรับนักเรียนได้จริง ๆ  การประเมินทำไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แม้จะไม่บ่อยมากเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นการทำแบบประเมินที่ไม่เคร่งเครียด  คุณครูจึงสอบถามนักเรียนไปอีกหลากหลายเรื่องเพื่อให้คุ้นเคย จนในที่สุดคุณครูก็ทราบแล้วว่าเหตุใดที่ผู้สอนคนเก่าจึงกล่าวว่านักเรียนอ่อนภาษาไทย แท้จริงแล้ว นักเรียนไม่เชิงอ่อนภาษาไทยมากเท่าใด แต่อาจจะเป็เพราะผู้สอนคนเก่าไม่ทำการประเมินนักเรียนก่อนทำการสอน ผู้สอนภาษาไทย ทุกท่านจะต้องจำไว้ข้อหนึ่งว่า ในด้านทักษะทางภาษาไม่ใช่ว่าทุกคน นักเรียนทุกคนจะมีความสามารถเท่ากัน การที่เราไม่ทำการวัดและประเมินผลเสียก่อนย่อมทำให้การเรียนการสอนภาษาไทยมีปัญหา ทั้งผู้สอนและนักเรียน  
                ในระยะแรกคุณครูก็มีปัญหากับคุณแม่ในเรื่องของการทำแผนการเรียนการสอน โดยมุมมองของคุณแม่ ท่านเห็นว่านักเรียนที่เราสอนนั้นเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ แล้ว การที่เราทำแผนการเรียนการสอนที่ต่ำกว่าระดับ อาจจะไม่สมควรมากนัก แต่เมื่อคุณครูได้พิจารณาในด้านผลการประเมินก็เห็นว่าสมควรจะทำพื้นฐานของนักรียนให้แน่นเสียก่อน เวลาศึกษาในระดับสูงต่อไป จะได้ไม่มีปัญหา
                สิ่งที่คุณครูมีมากกว่าคุณครูสอนพิเศษ หรืออาจจะเรียกว่าติวเตอร์ ก็คือแบบแผนที่มีระบบระเบียบกว่า  คุณครูจะมีการทำการประเมินในตอนแรกของการรับงานสอน และจะมีการประเมินผู้สอนในทุกระยะ พร้อมทั้งมีการจัดการทำการทดสอบบทเรียนว่านักเรียนมีความเข้าใจได้ดีหรือไม่ในบทเรียน เป็นระยะ ๆ และทุกครั้งที่คุณครูไปสอนก็จะจัดทำแผนการเรียนการสอน แนบกับผลการเรียนการสอนส่งให้ผู้ปกครองหรือนักเรียนทราบทุกครั้ง ดังนั้น คุณครูจึงยืนยันว่าการเรียนการสอนกับคุณครูมีระบบระเบียบ และสามารถช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจในด้านภาษาไทยได้ดียิ่งขึ้น 
                จนถึงทุกวันนี้นักเรียนชายประถมศึกษาผู้นี้ก็ได้ผ่านระดับชั้น ไปตามลำดับและมีผลการเรียนด้านภาษาไทยที่ดีขึ้นไปตามลำดับ อาจจะมีคนคิดว่า คงเป็นเพราะคุณครูช่วยในด้านการเรียนการสอน แต่คุณครูอยากจะกล่าวตรงนี้เลยว่า ในการเรียนการสอนภาษาไทยคุณครูใช้การส่งเสริมการอ่าน และจะจัดหาหนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัยให้นักเรียนยืมอ่าน หนังสือเป็นบ่อเกิดที่ทำให้เราเก่งภาษาไทย เขียน อ่าน เก่งและคล่องขึ้น นักเรียนชายคนนี้ด้วยก็เช่นกัน ด้วยรอยยิ้มที่คุณครูมีให้เสมอ และความห่วงใย ไม่เลี้ยงไข้ หวังให้นักเรียนมีทักษะภาษาไทยดีขึ้น แม้ว่าการเป็นคุณครูสอนพิเศษเช่นนี้ในอดีตจะถูกเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้ แต่คุณครูก็ทำให้นักเรียนของครูทุกคนได้มีพัฒนาการที่ดี

                สิ่งหนึ่งที่คุณครูยังยึดมั่นเสมอไม่เสื่อมคลาย นักเรียนลูกศิษย์ของครูจะรู้ดีว่า คุณครูไม่ได้สอนเพียงภาษาไทยแต่สอนคุณธรรม จริยธรรม มารยาทไทย และมรดกไทยไปในตัวโดยที่นักเรียนเองก็ไม่รู้ตัว แต่ครูเชื่อว่าสักว่าเมื่อลูกศิษย์ของครูเติบโต จะจำครูได้ ว่าครูสอนอะไร และควรเป็นอะไรให้แก่สังคมไทยครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1