ประวัติความเป็นมาของมาลัย
1. ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับมาลัย
 |
http://pirun.ku.ac.th |
บรรพบุรุษของไทยเรา มีชื่อเสียงในงานด้านศิลปะการประดิษฐ์อย่างมากมาย โดยเฉพาะการประดิษฐ์ตกแต่งพวงดอกไม้ ใบไม้ ผลไม้ และวัสดุอื่น ๆ เป็นที่ขึ้นชื่อมานานแต่โบราณกาลแล้ว
ในสมัยรัตนโกสินทร์ทุกรัชกาล งานฝีมือด้านการประดิษฐ์ดอกไม้ เป็นที่นิยมนำมาประดิษฐ์ในงานต่าง ๆ แทบทุกงาน โดยเฉพาะงานพิธีต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 นิยมการทำดอกไม้เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมีงานพระราชพิธีใด ๆ เจ้านายฝ่ายในจะต้องประกวดกันจัดแต่งดอกไม้มาถวายให้ทรงใช้ในงานนั้น ๆ เสมอ สมเด็จพระพันปีหลวง ได้ทรงคิดร้อยมาลัยด้วยดอกไม้ต่างๆ และใช้ใบไม้แทรกนำ ทำให้มีลวดลายต่าง ๆ กันอย่างงดงาม และพลิกแพลงทำรูปต่าง ๆ กัน ในงานพระศพสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินมาตา ซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าพระองค์นี้ พระบรมศพประดิษฐานอยู่ ณ วังสะพานถ่าน (คือตลาดบำเพ็ญบุญเวลานี้) สมเด็จพระพันปีหลวงมีพระราชเสาวนีย์ ให้ท้าววรคณานันท์ (ม.ร.ว. ปั้ม มาลากุล) จัดทำมาลัยไปประดับพระศพตลอดงานนี้ มาลัยที่ตกแต่งเปลี่ยนสี เปลี่ยนรูป เปลี่ยนแบบเรื่อย ๆ มา จึงนับได้ว่าตั้งแต่บัดนั้นการร้อยมาลัยได้มีการวิวัฒนาการก้าวหน้ากว่าเดิม เป็นต้นมาหลายรูปแบบ และในระหว่างนั้น ท่านเจ้าคุณประยูรวงศ์ ก็ได้จัดทำมาลัยครุยขึ้นมา ท้าววรคณานันท์เป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นเจ้าของมาลัยงามหลายแบบและความรู้ ความชำนาญในเรื่องร้อยมาลัยนี้ก็ได้สืบต่อมาจนถึง ม.ล. ป้อง มาลากุล ผู้ซึ่งมีความสามารถในเรื่องการทำดอกไม้สดและดอกไม้แห้ง
สร้างโดย:
ครูจิณณพัต ปั้นดี โรงเรียนบางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา 13250
http://www.thaigoodview.com/node/63480