Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : โคมไฟล้านนา (ภูมิปัญญาการใช้ความร้อน)

โคมไฟล้านนา   (ภูมิปัญญาการใช้ความร้อน)
ประวัติและความเป็นมา

โคมไฟหรือว่าวไฟ เกิดขึ้นเมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด อาจเป็นเพียงคำเล่า หรือตำนาน ดังที่พบในหนังสือประเพณีสบสองเดือนล้านนาไทยของ ศาสตราจารย์มณี พะยอมยงค์ สรุปไว้ว่า โคมลอยที่ปล่อยตอนกลางคืน จะใช้ก้อนไม้เป็นก้อนกลม ชุบด้วยนํ้ามันยางหรือนํ้ามันขี้โล้จนชุ่มแล้วนำไปมัดกับปากโคมลอย เมื่อรมควันจนได้ที่แล้วจะจุดไฟที่ท่อนผ้า แล้วปล่อยโคมลอยขึ้นสู่อากาศ โคมลอยจะลอยไปตามกระแสลม ดูเหมือนลักษณะดวงไฟ คล้ายดาวเคลื่อนคล้อยไปในเวหาอันงดงามน่าดูยิ่งนัก
คนล้านนาเชื่อกันว่า การปล่อยโคมลอยเป็นการปล่อยเคราะห์ ปล่อยนามให้หมดไป บ้างก็ว่าเป็นการบูชาเทวดาบนสวรรค์ บ้างก็ว่า ปล่อยเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี แต่หากพิจารณาแล้วโคมลอยเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ประดิษฐ์เพื่อสนองความต้องการในความเชื่อของคนให้เกิดความสบายใจ เป็นภูมิปัญญาของคนล้านนา ในการนำเอาความร้อนมาใช้พยุง ดันให้โคมลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า

 
วิธีการทำ
ขั้นตอนการทำโคมไฟหรือว่าวไฟ ขั้นตอนแรกจะนำไม้ไผ่มาจักตอกเป็นเส้นกลมยาวประมาณ ๓ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๕เซนติเมตร นำเส้นตอกมาม้วนทับเหลื่อมกันให้ได้เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ เมตร ใช้ด้ายเหนียวพันหัวไม้ที่ทับกันให้แน่น จะได้วงไม้ขึ้นมาวงหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า วงปากเตรียมไว้ หลังจากนั้น เลือกกระดาษว่าสีขาวเป็นแผ่นมาต่อกันเป็นผืนใหญ่แล้วนำมาม้วนเป็นวงตามขนาดของวงไม้ที่เตรียมไว้ แล้วใช้กาวติดริมต่อกันให้เป็นทรงกระบอกกลวง โดยให้วงไม้ อยู่ด้านใน แล้ววัดจากปากขึ้นไปประมาณ ๒ เมตร นำกระดาษมาปิดปากด้านบนให้มิดชิดก็จะได้ตัวโคมไฟหรือว่าวไฟ เสร็จแล้วนำปากด้านล่างเข้าติดกับวงไม้ ไผ่ จนรอบเพื่อเป็นปากโคมไฟด้านล่าง เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้ก็จะได้โคมไฟหรือว่าวไฟ ลูก
จากนั้นก็ทำเชื้อเพลิง สมัยโบราณจะใช้เศษผ้าทำเป็นก้อนชุบนํ้ามันชัน(ขี้ยา) โดยใช้ชัน(ขี้ยา) เคี่ยวจนเหลว นำก้อนผ้าลงชุบเพื่อนำไปผูกกับโคมไฟ หากวิธีนี้ไฟไหม้ไม่หมด ก็จะเป็นอันตรายกับบ้านเรือนได้ แต่ปัจจุบันช่างทำโคมไฟบางท่านได้เอากระดาษทิชชูมา 1 ม้วน แล้วทำการเคี่ยวขี้ผึ้งจนเหลว เมื่อได้ที่จะนำเอากระดาษทิชชูจุ่มลงไปทั้งหมด รอสักครู่ให้กระดาษทิชชูซึมเนื้อกระดาษดีแล้ว จึงยกออกมาตั้งไว้สักครู่ขี้ผึ้งเย็นลงก็จะได้ก้อนเชื้อเพลิง 1 ก้อน แล้วแบ่งออกเป็นสามท่อน นำแต่ละท่อนไปผูกกับโคมไฟ 1 ลูกต่อ ท่อน ก้อนเชื้อเพลิงนี้จะให้ความร้อนประมาณเกือบชั่วโมง แล้วไหม้จนหมดโคมไฟถึงจะตกลงสู่พื้นดิน ทำให้ไม่เกิดอันตราย
ต่อไปนำก้อนเชื้อเพลิงไปผูกกับโคมไฟ จะใช้ลวดจำนวน  เส้นนำไปผูกขวางเป็นเส้นผ่าศูนย์กลางที่ปากด้านล่าง โดยใช้ปลายลวดผูกกับวงไม้ ให้เส้นลวดตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดตรงปลายเส้นลวดคือจุดศูนย์กลางของโคมไฟ นำก้อนเชื้อเพลิงไปวางบนจุดตัด แล้วผูกไว้ให้แน่น แต่บางคนจะตัดลวดที่จุดตัด ลวดจะขาดออกเป็นสี่เส้น ตรงจุดกึ่งกลางปากโคมไฟและแล้วนำก้อนเชื้อเพลิงเข้าไปวางแล้วมัดด้วยเส้นลวดทั้งสี่ก็ได้เช่นกัน
การปล่อยโคมไฟ สมัยโบราณจะมีคนช่วยพัดให้ลมเข้าสู่ตัวโคมจนพองแล้วจะจุดไฟ ให้เปลวไปนำเอาอากาศขึ้นสู่เบื้องบนของโคมไฟ ตัวโคมไฟจะลอยขึ้น แต่จะมีคนดึงไว้ก่อนเพื่อทดสอบความดันของลมร้อน ขณะเดียวกัน คนที่เหลือจะรีบนำลูกเล่นมาผูกติดกับลวด ลูกเล่นดังกล่าวประกอบด้วย ปะทัด ไฟที่ทำจากดินปืน แตกออกเป็นแสงตกลงมา เสร็จแล้วผูกสายสายชนวนให้แนบกับเชื้อเพลิง การทำขั้นตอนนี้ต้องทำอย่างรวดเร็ว เสร็จแล้วคนถือปากจะดังตัวโคมไฟมาทดสอบความดันลมอีกครั้งเมื่อเห็นว่าดึงดีแล้วจึงจะปล่อยขึ้น
ปัจจุบัน การปล่อยโคมไฟ นอกจากจะปล่อยในตอนยี่เป็งของคนล้านนาแล้ว บางแห่งยังนิยมปล่อยในวันขึ้นปีใหม่ งานบุญศพในคืนสุดท้ายก่อนนำศพไปเผา บางแห่งปล่อยในงานขึ้นบ้านใหม่ งานบุญต่างๆ
คุณค่าของโคมไฟพอสรุปได้ดังนี้
- เป็นการแสดงออกของความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับการใช้ความร้อน อากาศขยายตัวเป็นประโยชน์ต่อการนำโคมลอยขึ้น
- เป็นการรวมกลุ่มคนในยามคํ่าคืนได้ร่วมกันทำกิจกรรมนี้ที่มีประโยชน์ เป็นการพักผ่อนที่ไม่ข้องแวะกับอบายมุข
- เป็นที่พึ่งทางใจ ทำให้เกิดความปีติในการทำบุญโดยเฉพาะคืนยี่เป็งล้านนา เป็นกิจที่ทำขึ้นตามความเชื่อของบุคคลเพื่อเป็นพุทธบูชา
- เป็นสิ่งที่ทำให้บางคนเกิดมีอาชีพในการทำโคมไฟขายมีรายได้ที่บริสุทธิ์ โคมไฟจึงควรเป็นสิ่งคู่ล้านนาต่อไปอีกนาน



โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์