Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : คณะจิตวิทยา ที่พึ่งพาของจิตใจ

คณะจิตวิทยา ที่พึ่งพาของจิตใจ

คณะจิตวิทยา ที่พึ่งพาของจิตใจ
โดยบัวอื่น
ในการดำเนินชีวิตของคนเราในแต่ละวัน ย่อมมีเรื่องราวที่ทั้งสุขทั้งทุกข์  สภาวะทุกข์นี่เองที่เราต้องการที่พึ่งทางใจ และผู้ที่จะช่วยหาทางออกแห่งปัญหานั้นให้ได้
            ผู้ที่คอยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาของจิตใจจึงมีความสำคัญมาก หากเราดูหนังฝรั่งก็จะเห็นได้ว่าในต่างประเทศนั้น อาชีพทางด้านจิตวิยาคอยให้คำปรึกษายามที่เกิดความเครียด รึเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตนั้นออกจะเฟื่องฟุอย่างมา ผิดกับประเทศไทยเราอย่างสิ้นเชิง
            คนไทยส่วนมากมีความเชื่อผิดๆว่า การไปพบจิตแพทย์รึไปขอคำปรึกษาทางจิต คือคนที่เป็นบ้า หรือวิกลจริต  ด้วยความคิดแบบนี้นี่เอง คนไทยไม่น้อยทีเดียว ที่ยามมีความทุกข์รึไม่สบายใจ ขอเลือกที่จะปรึกษาหมอดูมากกว่าจะไปพบเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา โดยตรง
            วิชาชีพทางด้านจิตวิทยาของไทยจึงไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก วันนี้จึงขอแนะนำให้รู้จักกับศิลปะแห่งวิชาชีพทางด้านจิตวิทยาเสียหน่อย
ความหมายของจิตวิทยา “Psychology"
            “Psychology" ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ "Psyche" หมายถึง "วิญญานหรือจิต"
            "Logos" หมายถึง ศาสตร์หรือการศึกษาโดยจิตวิทยาเป็นวิชาที่ก่อกำเนิดมาโดยมีวัตถุประสงค์ที่ จะศึกษามนุษย์ในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในตัวมนุษย์ด้วยกันเอง
            จิตวิทยา จึงเป็นวิชาที่ศึกษาทฤษฎีกฎเกณฑ์และวิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ตั้งแต่ที่สังเกตได้ง่ายๆ และที่ซับซ้อนเข้าใจยากที่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และกระบวนการทางจิต  เพื่อค้นหาสาเหตุและทำความเข้าใจลักษณะธรรมชาติของพฤติกรรมมนุษย์ คำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในบริบทต่างๆ เช่น  ทำไมเด็กนักเรียนถึงตีกัน ทำไมคนที่เจอปัญหาอย่างเดียวกันถึงมีความอดทนที่ต่างกัน ทำไมคนถึงเลือกสิ่งนี้หรือไม่เลือกสิ่งนี้   เหล่านี้เป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยา ในการศึกษา “พฤติกรรมและจิตของมนุษย์”
            ผู้ศึกษาจิตวิทยา จึงต้องเป็นผู้ที่มีความสนใจในเรื่องของมนุษย์และคิดช่วยเหลือสังคม หมั่นฝึกฝนทักษะทางการให้คำแนะนำและปรึกษา อีกทั้งมีพื้นความรู้เรื่องบุคลิกภาพและพฤติกรรมของมนุษย์ที่ปกติและอปกติ และที่สำคัญต้องเป็นผู้ที่มีความรักและรักษาความลับของผู้อื่นได้ดี
วิชาที่ต้องเรียนในการศึกษาจิตวิทยา 
            ในเบื้องต้นก็จะเป็นการศึกษาถึง จิตวิทยาทั่วไป, จิตวิทยาเด็ก,จิตวิทยาวัยรุ่น, จิตวิทยาผู้ใหญ่,  ความแตกต่างระหว่างหญิงชาย, ทฤษฎีจิตวิยาพัฒนาการ, แรงจูงใจมนุษย์, อารมณ์, จิตวิทยาการปรับพฤติกรรม, สถิติ, ชีววิทยา, สรีระวิทยา,  การทดสอบและการวัดทางจิตวิทยา เป็นต้น


หลักสูตรภาควิชาจิตวิทยาเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เลือกวิชาจิตวิทยาแขนงต่าง ๆ เช่น
จิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) 
            เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับ การปรึกษาเชิงจิตวิทยา (Counseling) ซึ่งเป็นกระบวนการที่มุ่งให้ผู้มีปัญหาได้ทำความเข้าใจกับปัญหาของตน และมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง โดยนักจิตวิทยาการปรึกษา (Counselor) มีหน้าที่เป็นผู้เอื้อให้ผู้มีปัญหาได้เข้าใจปัญหาของตนอย่างชัดเจนที่สุด นักจิตวิทยาการปรึกษาจะไม่เข้าไปบงการ แนะนำ หรือ แทรกแซง ผู้รับบริการ แต่ละช่วยให้เค้าสามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตัวเอง  (ที่มา:http://www.psy.chula.ac.th/psy/files/intro_counseling.pdf)
จิตวิทยาคลินิก
            จิตวิทยาคลินิกจะมีจุดที่เน้นอยู่ 2 ส่วน คือ การทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา และทำจิตบำบัด ในการเรียนจะเกี่ยวกับอาการผิดปกติทางจิต ทั้งเรื่องโรค พยาธิสภาพ การใช้เครื่องมือหรือแบบวัดทางจิต เพื่อใช้ในการตรวจเป็นข้อมูลประกอบในการวินิจฉัยโรคทางจิต การทำจิตบำบัด  ผู้ที่จบทางด้านนี้จึงมักทำงานตามสายงาน คือ เป็นนักจิตวิทยาคลินิกในโรงพยาบาล เพื่อทำการประเมินและบำบัดทางจิตแก่ผู้ป่วยทางจิตเวช เป็นนักจิตวิทยาตามสถานพินิจหรือศาล เพื่อทำการประเมินสภาพจิตของผู้ต้องหา รวมทั้งทำกิจกรรมหรือบำบัดทางจิตแก่ผู้ต้องขัง 
จิตวิทยาสังคม (Social Psychology) 
            จิตวิทยาสังคม เป็นวิชาที่ศึกษาพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อทำความเข้าใจอิทธิพลของสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ว่า
            ผู้คนคิดอย่างไรเกี่ยวกับผู้อื่น ศึกษาเรื่องความเชื่อ เจตคติ ค่านิยม ความคิดเห็นภาพลักษณ์ ภาพในความคิด (Stereotype) การอนุมานสาเหตุ (Attribution) ปัญญาทางสังคม (Social cognition) ฯลฯ 
            
ผู้คนมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร ศึกษาเรื่องความก้าวร้าว การช่วยเหลือผู้อื่น ภาวะผู้นำ การเปลี่ยนเจตคติของคนอื่น การโน้มน้าวใจคนอื่น การคล้อยตาม การร่วมมือ การแข่งขัน การแสดงตน การประจบประแจง อิทธิพลทางสังคม ฯลฯ
           
 รวมทั้งผู้คนมีอิทธิพลต่อกันและกันอย่างไรบ้าง ซึ่งจะศึกษาเรื่องความชอบพอ ความดึงดูด ความใฝ่สัมพันธ์ อคติ (Prejudice) การโฆษณา การโฆษณาชวนเชื่อ สงครามจิตวิทยา ฯลฯ 

จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Industrial and Organizational Psychology)
    เป็นการจัดการคนในองค์กรโดยใช้หลักจิตวิทยา  เป็นศาสตร์ที่ศึกษาจิตวิทยาเพื่อนำมาประยุกต์กับการทำงานและนำมาซึ่งความ เป็นอยู่ที่ดีของบุคลากร ทุกระดับในบริบทของการทำงาน ส่วนมากนั้นเน้นไปในหลักเข้าใจในพื้นฐานของจิตใจมนุษย์โดยนำมาอ้าง อิงจากทฤษฎีต่างๆที่มีคนนำมาพิสูจน์แล้ว ดังนั้นจิตวิทยอุตสาหกรรมจึงเป็นการเรียนรู้หลักจิตวิทยาควบคู่ไปกับการ ทดลองทฤษฎีต่างๆทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้องค์การสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) 
            เน้นเรียนเกี่ยวกับพัฒนาการ ของมนุษย์ในทุกช่วงวัย สาขานี้เกิดจากแนวความคิดที่จะอธิบายพฤติกรรม จิตใจ รวมทั้งความสามารถต่างๆของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย และเพื่อที่หาหาแนวทางที่จะทำให้มนุษย์มีพัฒนาการที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ของตนเอง ซึ่งมักจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็กและวัยรุ่น เรียนพัฒนาการทุกช่วงวัย ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ความต้องการทางสังคม  


จิตวิทยาชุมชน
            จิตวิทยาชุมชนเป็นแขนงวิชาที่แยกออกมาจากจิตวิทยาคลินิกอีกที มีความแตกต่างกันตรงที่จิตวิทยาชุมชนเน้นการป้องกันไม่ให้เกิด มากกว่าจะเน้นไปที่การรักษาเยียวยา 


จิตวิทยาการแนะแนว
            ในสาขานี้ทำให้นึกถึงภาพอาจารย์แนะแนวตามโรงเรียน ที่คอยให้คำแนะนำ ดูและ มีความเข้าใจในนักเรียน มีวิธีการเทคนิคในการดูแลและช่วยเหลือนักเรียนได้เหมาะสมเป็นรายๆไป


แนวทางการอาชีพ
            ถึงแม้งานของนักจิตวิทยาจะเน้นไปในสายงานของการบำบัดและการเรียนการศึกษา แต่นักจิตวิทยาก็สามารถเข้าไปทำงานได้ในหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งงานที่นักจิทวิทยาสามารถทำได้ ก็มีดังเช่น

            1. นักวิชาการ เป็นอาจารย์สอนวิชาจิตวิทยาตามสถาบันที่มีการสอนวิชานี้ ในสถาบันการศึกษาของรัฐ และเอกชน บางคนก็ทำงานวิจัยและให้ดูแลโครงงานวิจัยของนักเรียนนักศึกษา แนะนำการทำวิทยานิพนธ์หรือปริญญานิพนธ์ของนักศึกษา และบางคนก็ทำวิจัยกันเอง อยู่ในห้องทดลองหรือที่อื่นๆ 
            2. ทำทำหน้าที่เป็นนักจิตวิทยาตามโรงพยาบาลและหน่วยงานทางจิตเวช 
            3. นักจิตวิทยาการปรึกษาในสถาบันการศึกษาหน่วยงานทางสุขภาพจิต องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน 
            4. บุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่ด้านการช่วยเหลือ ป้องกัน แก้ไขปัญหา และพัฒนาคน 
            5. นักวิจัยจิตใจและพฤติกรรมมนุษย์ 
            6. งานฝึกอบรม งานบุคคล งานประชาสัมพันธ์ และงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 
            7. พนักงานคุมประพฤติ และนักทัณฑวิทยา กระทรวงยุติธรรม
            8. ทำงานธนาคาร บริษัทเอกชน โรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับงานบริหารบุคคล 
            9. เป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่มีปัญหาด้านต่าง ๆ ตามโรงเรียน สถาบันการศึกษา โรงงานอุตสาหกรรม บริษัทเอกชนและมูลนิธิต่าง ๆ 


คณะจิตวิทยาที่เปิดสอน
            คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
            คณะศิลปศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ 
            คณะสังคมศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ 
            คณะมนุษยศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
            คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการแนะแนว ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
            คณะศึกษาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.ศิลปากร
            คณะมนุษยศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.เชียงใหม่
            คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.บูรพา
            คณะศึกษาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.มหาสารคาม
            คณะศึกษาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.รามคำแหง
            คณะศึกษาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.ทักษิณ
            คณะสังคมศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.พายัพ
            คณะสังคมศาสตร์ สาขาจิตวิทยา ม.นเรศวร
            คณะศึกษาศาสตร์ –ปัตตานี จิตวิทยาการปรึกษา สงขลานครินทร์   
            คณะครุศาสตร์   สาขาจิตวิทยา ราชภัฏธนบุรี   
            คณะครุศาสตร์   สาขาจิตวิทยา วไลยอลงกรณ์   
            วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ สาขาจิตวิทยา


ข้อมูลจาก
            Faculty of Psychology Chulalongkorn University
            Faculty of Humanities Srinakharinwirot University
            ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
            ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
            เวบเด็กดี วิชาการดอทคอม

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์