ปราสาทขอมในประเทศไทย
ปราสาทขอมในประเทศไทย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์
ความหมาย ที่มาของรูปแบบ คติการสร้าง และความสำคัญของปราสาทขอม
ความหมาย

คำว่า “ปราสาท” (Prasada) มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต หมายถึง อาคารที่มีส่วนกลางเป็นห้องเรียกว่า “ห้องครรภคฤหะ” หรือ “เรือนธาตุ” และมีหลังคาเป็นชั้นซ้อนกันหลายชั้นเรียกว่า “เรือนชั้น”หลังคาแต่ละชั้นนั้นเป็นการย่อส่วนของปราสาท โดยนำมาซ้อนกันในรูปของสัญลักษณ์แทน ความหมายของเรือนฐานันดรสูง อันเป็นที่สถิตของเหล่าเทพเทวดา ดังนั้นปราสาทจึงหมายถึงอาคารที่เป็นศาสนสถานเพื่อ ประดิษฐานรูปเคารพ และการทำพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ใช่พระราชมณเฑียรอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุนี้จึงมีความแตกต่างในเรื่องของวัสดุ กล่าวคือ ปราสาทที่เป็นศาสนสถานนั้น สร้างด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรงประเภทอิฐหรือหิน ส่วนพระ ราชมณเฑียรที่ประทับของพระมหากษัตริย์ สร้างด้วยไม้ทั้งสิ้น “ปราสาทขอม” หมายถึง อาคารทรงปราสาทที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมขอมหรือ เขมรโบราณเพื่อใช้เป็นศาสนสถานในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งในศาสนา ฮินดู และพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ส่วนคำว่า “ปราสาทขอมในประเทศไทย” นั้น หมายถึง อาคารทรงปราสาทในวัฒนธรรมขอมที่พบในดินแดนไทยในปัจจุบัน ซึ่งดินแดนเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอม รวมทั้งบางส่วนได้มีการรับอิทธิพลทางศาสนาและงานศิลปกรรมขอมมาสร้างโดยคนในท้องถิ่น แต่เดิมมักเรียกงานศิลปะของวัฒนธรรมขอมในประเทศไทยว่า “ศิลปะลพบุรี” เนื่องจากเชื่อว่าเมืองลพบุรี เคยเป็นเมืองศูนย์กลางของขอมในประเทศไทยในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ และมีลักษณะของงานศิลปกรรมบางอย่างที่แตกต่างจากศิลปะขอม แต่ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า “ศิลปะขอมที่พบในประเทศไทย” เพราะเป็นคำรวมที่ครอบคลุมพื้นที่และระยะเวลามากกว่า กล่าวคือ พื้นที่ของประเทศไทยที่รับวัฒนธรรมขอมอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘
ที่มาของรูปแบบ
อาคารทรงปราสาทที่ใช้เป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมขอมนั้นมีที่มาจากอินเดีย กล่าวคือ ชาวอินเดียได้สร้างปราสาท ขึ้น เพื่อประดิษฐานรูปเคารพทางศาสนา เรียกว่า เทวาลัย โดยสร้างเป็นอาคารที่มีหลังคาซ้อนชั้นขึ้นไปหลายชั้น แต่ละชั้นมีการประดับอาคารจำลอง สามารถแยกออกเป็น ๒ สายวัฒนธรรม ได้แก่ อินเดียภาคเหนือ เรียกว่า “ทรงศิขร” (สิ-ขะ-ระ) คือ ปราสาทที่มีหลังคารูปโค้งสูง ส่วนในอินเดียภาคใต้เรียกว่า “ทรงวิมาน” คือปราสาทที่มีหลังคาซ้อนเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมักประดับอาคารจำลองจากรูปแบบของปราสาทขอม ในระยะแรกเชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลของทรงศิขรจากอินเดียภาคเหนือ ส่วนทรงวิมานนั้นส่งอิทธิพลมายังศิลปะชวา ต่อมาภายหลังช่างขอมได้นำเอารูปแบบทั้ง ๒ สายวัฒนธรรมมาผสมผสานกันจนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะของตัวเองขึ้น
คติการสร้าง
การสร้างอาคารทรงปราสาทมาจาก คติความเชื่อของชาวอินเดียที่ว่าเทพเจ้าทั้ง หลายสถิตอยู่ ณ เขาพระสุเมรุอันเป็นแกนกลางของจักรวาลซึ่งอยู่บนสวรรค์ การสร้างปราสาทจึงเปรียบเสมือนการจำลองเขาพระสุเมรุมายังโลกมนุษย์ เพื่อเป็นที่สถิตของเทพเจ้า และมีการสร้างรูปเคารพของเทพเจ้าขึ้นเพื่อประดิษฐานไว้ภายใน โดยตัวปราสาทมีสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ใช้แทนความหมายของเขาพระสุเมรุ เช่น มีปราสาทประธานตรงกลาง มีปราสาทบริวารล้อมรอบ ถัดออกมามีสระน้ำ และกำแพงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง การที่ทำหลังคาปราสาทเป็นเรือนซ้อนชั้นก็ หมายถึง สวรรค์หรือวิมานของเทพเทวดานั่นเอง ด้วยเหตุที่เป็นการจำลองจักรวาลมาไว้บนโลกมนุษย์ และเป็นที่สถิตของเทพเจ้า จึงต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาอย่างเคร่งครัด ตัวปราสาทจึงมีขนาดใหญ่โต และใช้เวลาก่อสร้างยาวนาน
ความสำคัญ ด้วยเหตุที่ปราสาทขอมคือศูนย์กลางของจักรวาล ดังนั้นตัวปราสาทและเขต ศาสนสถานจึงถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และใช้ในความหมายที่เป็นศูนย์กลางของเมืองหรือชุมชน ปราสาทเป็นที่ประดิษฐาน รูปเคารพ และใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งในศาสนาฮินดูจะมีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี เช่น การสรงน้ำรูปเคารพที่อยู่ภายในห้องครรภคฤหะ น้ำที่สรงแล้วจะไหลออกมาทางท่อน้ำเรียกว่า ท่อโสมสูตร ซึ่งต่อออกมาภายนอกตัวปราสาท เพื่อที่ชาวบ้านจะได้นำน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ไปใช้ นอกเหนือจากปราสาทที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนแล้วการสร้างสระน้ำและบาราย (สระน้ำขนาดใหญ่) ก็เป็นส่วนหนึ่งของปราสาท เพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับชุมชนในการอุปโภคบริโภค ดังนั้น การสร้างปราสาทจึงเป็นภาระสำคัญของพระมหากษัตริย์ที่เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ต้องสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่บรรพบุรุษ หรือให้แก่พระองค์เอง และสร้างบารายให้แก่ประชาชน การสร้างปราสาทที่มีขนาดใหญ่จึงแสดงให้เห็นถึงบุญบารมี และพระราชอำนาจของกษัตริย์แต่ละพระองค์ด้วย
ความเกี่ยวเนื่องระหว่างปราสาทกับศาสนา
โดยทั่วไปศาสนสถานในศิลปะขอม จะสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงบางแห่งหรือบางสมัยเท่านั้น ที่สร้าง ขึ้นเนื่องในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เช่น ปราสาท ที่สร้างขึ้นในศิลปะแบบบายน ทั้งหมดเพราะในขณะนั้นมีการเปลี่ยนมา นับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานแล้ว วิธีสังเกตว่าศาสนสถานแห่งนั้นๆ สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาและลัทธิใด ดูได้จากรูปเคารพที่ประดิษฐานภายในปราสาทประธานเป็นสำคัญ ถ้าไม่ปรากฏรูปเคารพให้ดูได้จากภาพเล่าเรื่องบนทับหลัง โดยเฉพาะทับหลัง ประดับด้านหน้าของห้องครรภคฤหะจะเป็นตัวบอกได้ดีที่สุด ในส่วนของปราสาทที่สร้างขึ้นในศาสนาฮินดูแยกออกเป็น ๒ ลัทธิ ได้แก่ “ไศวนิกาย” คือ การบูชาพระอิศวร หรือพระศิวะเป็นใหญ่ เช่น ปราสาทพนมรุ้ง และ “ไวษณพนิกาย” คือ การบูชาพระนารายณ์ หรือพระวิษณุเป็นใหญ่ เช่น ปราสาทนครวัด ส่วนปราสาทหินพิมายและกลุ่มปราสาทรุ่นหลัง ในศิลปะแบบบายนที่พบทางภาคกลางของประเทศไทยทั้งหมดนั้น สร้างขึ้นเนื่องในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เช่น พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี
ขอบคุณที่มา : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 30