Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : แนวทางการพัฒนาทักษะการค้นคว้า และศึกษาด้วยตนเองเพื่อรองรับ AEC : 2558

เรียนภาษาไทย,ติวO-NETสังคมฟรี,แก้ไขอ่านเขียนไทยไม่คล่อง,ติวเตอร์สังคม,หาติวเตอร์ติวO-NETสังคม,ครูเดชแนวทางการพัฒนาทักษะการค้นคว้า และศึกษาด้วยตนเองเพื่อรองรับ AEC : 2558 (Skill Development of Independent Study for AEC) โดย ณรงค์ ขุ้มทอง ประธานกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ โรงเรียนหาดใหญ่พิทยาคมโรงเรียนควนเนียงวิทยาและโรงเรียนดาวนายร้อยการพัฒนาทางการศึกษาของไทยในศตวรรษที่ 21 กำลังเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวังและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เพราะการพัฒนาดังกล่าวเป็นการรองรับการแข่งขันอย่างเสรีที่จะเกิดขึ้นในกลุ่มประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในกลุ่มอาเซียนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และรวมถึงการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มอื่นๆ ของโลก เช่น กลุ่มประเทศ GCC เป็นกลุ่มค่อนข้างใหม่ เป็นการรวมตัวของประเทศกลุ่มอาหรับเข้าด้วยกัน จะเห็นได้ว่าการรวมกลุ่มของประเทศดังกล่าวจะเป็นผลดีของประเทศในกลุ่ม AEC เป็นอย่างมาก เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูงมากและที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มหาศาลคือ น้ำมัน เป็นกลุ่มที่ประชาชนบริโภคอาหารฮาลาล ซึ่งจะเป็นแหล่งตลาดที่ใหญ่และสำคัญยิ่งของไทยเราและกลุ่มประเทศใน AEC

การเตรียมความพร้อมที่สำคัญที่สุดแขนงหนึ่งคือ การพัฒนาคนของเราให้พร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกๆ ด้านของกลุ่มประเทศดังกล่าวข้างต้น คือการพัฒนาทักษะการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (Independent Study Skill) ทั้งนี้เพื่อสร้างคนไทยรุ่นใหม่ สร้างคุณภาพทางด้านการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์เทียบเคียงมาตรฐานสากล ยกระดับโรงเรียนของไทยเข้าสู่มาตรฐานสากล (World Class Standard School) ซึ่งโรงเรียนแต่ละโรงในประเทศไทยที่มีความพร้อมก็ควรยึดหลักกว้างๆ ดังนี้

1.หลักการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักหาประเด็นมาตั้งคำถาม ตั้งสมมุติฐาน (Hypothesis Formulation)

2.หลักการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักสืบค้นเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น จากห้องสมุด ห้องอินเตอร์เน็ต หรือจากการทดลองต่างๆ (Searching for Information)

3.หลักการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักสรุปเนื้อหาและองค์ความรู้ที่ได้มาจากการฟัง การอภิปราย การทดลอง มาคิดวิเคราะห์ พร้อมมีเทคนิคในการนำเนื้อหามาสรุปเป็นองค์ความรู้ ความสามารถ ถ่ายทอดให้คนอื่นได้อย่างเชี่ยวชาญ (Knowledge Formation)

4.หลักการฝึกให้ผู้เรียนมีทักษะในการสื่อสาร ในการนำเสนอองค์ความรู้ที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ (Effective Communication) ซึ่งการสื่อสารผู้เรียนสามารถสื่อสารได้หลายภาษาหลายช่องทาง

5.หลักการฝึกให้ผู้เรียนมีทักษะ รู้จักให้บริการสังคมและมีจิตสาธารณะ (Public Service) หลักการนี้เป็นวิธีการนำความรู้สู่การปฏิบัติ แต่ผู้เรียนจะต้องมีความรู้รอบตัว รอบโลก และนำความรู้ให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์

หลักการ 5 ด้านข้างต้น เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาความพร้อมของผู้เรียน ผู้เขียนใคร่ขอเสนอแนะต่อกระทรวงศึกษาธิการ ควรกำหนดให้ทักษะนี้เป็นทักษะบังคับและควรบรรจุไว้ในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเหมือนกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี หรือยุวกาชาด เหตุผลที่ผู้เรียนไม่เห็นด้วยที่มีแนวคิดให้วิชาการค้นคว้าด้วยตนเองเป็นอีกหนึ่งวิชาให้ผู้เรียน ผู้เขียนเห็นว่าปัจจุบันเด็กไทยก็มีชั่วโมงเรียนมากระดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว และมีวิชาที่เรียนในหลักสูตรเป็นจำนวนมากเช่นกัน การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองของคนไทยยังขาดการพัฒนาและส่งเสริม ดังที่ อ.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวไว้ว่า ปัญหาการศึกษาของคนไทยคิดไม่เป็น ขาดความมุ่งมั่น อดทน ขาดหลักคิด สังคมไทยอ่อนแอ ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน หรือคุณมีชัย วีระไวทยะ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยเราสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ขาดการส่งเสริมให้คิดและเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่มุ่งเน้นด้านคุณธรรมจริยธรรม ฝึกให้คนไทยเป็นลูกน้อง เป็นผู้ตาม รอรับคำสั่ง โรงเรียนไม่มีสื่ออุปกรณ์ที่ส่งเสริมกระบวนการคิดและการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเต็มไปด้วยนักบริหาร นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ แต่ขาดคุณภาพและคุณธรรม การทุจริตคอร์รัปชั่นมีเกือบทุกองค์กร

ปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนเชื่อว่าเกิดจากรากฐานที่ล้มเหลวทางการศึกษาที่ไม่สามารถสร้างให้คนไทยเข้มแข็ง มีคุณภาพและคุณธรรมนั่นเอง


ฉะนั้น แนวทางหนึ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าผู้รับผิดชอบด้านการศึกษาของไทยเอาจริงเอาจัง โดยการนำกระบวนการการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมาใช้อย่างเข้มแข็งจริงจัง โดยพัฒนาผู้เรียน 3 ทักษะ ดังนี้

1.ทักษะการค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ (Research and Knowledge Formation Skill) เป็นทักษะที่ต้องการให้ผู้เรียนรู้จักกำหนดประเด็นของปัญหา รู้จักตั้งสมมุติฐาน รู้จักเทคนิคการค้นคว้า รู้จักเทคนิคการแสวงหาความรู้ มีเทคนิคการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างองค์ความรู้ ถ้าให้ผู้เรียนมีทักษะด้านนี้ที่สมบูรณ์ควรเพิ่มทักษะStepladder Technique เป็นวิธีการที่ให้ผู้เรียนร่วมกับสมาชิกมีส่วนร่วมในการคิด การทำงาน คิดวางแผนสร้างองค์ความรู้ ซึ่ง Stepladder มี 5 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1 ก่อนทำงานให้ผู้เรียนวางแผน

ขั้นที่ 2 ผู้เรียนนำปัญหาหรือองค์ความรู้มาวิเคราะห์

ขั้นที่ 3 ผู้เรียนนำองค์ความรู้จากการค้นคว้ามาสร้างทางเลือกในการนำไปใช้

ขั้นที่ 4 ผู้เรียนนำข้อมูลมาสังเคราะห์และสร้างองค์ความรู้ใหม่

ขั้นที่ 5 ผู้เรียนนำข้อมูลมาประมวล แล้วตัดสินใจขั้นสุดท้าย นำไปใช้

จะเห็นได้ว่าเทคนิค Stepladder เป็นเทคนิคที่ผู้เรียนหรือครูผู้สอนสามารถนำมาใช้สอนหรือแนะนำผู้เรียนนำไปใช้จัดการเรียนรู้ หรือจัดการในการวางแผนการทำงานได้ และโดยเฉพาะหลังจากปี 2558 ประชาคมอาเซียนก็จะขับเคลื่อนเต็มรูปแบบ ฉะนั้นถ้าเยาวชนไทยเราสามารถนำวิธีการเรียนรู้และค้นคว้าคำตอบเองออกมาใช้เต็มศักยภาพ เชื่อว่าคุณภาพของคนไทยเราคงจะดีขึ้นในเชิงคุณภาพทุกๆ ด้าน พร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลก และถ้าสามารถนำเทคนิค Stepladder มาต่อยอด เสริมทักษะ การค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ให้ผู้เรียนก็ยังเสริมคุณภาพผู้เรียนให้มีคุณภาพได้อีกทางเช่นกัน

2.ทักษะการสื่อสารและการนำเสนอ (Communication and Presentation) เป็นทักษะที่มุ่งให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้รับมาวางแผน ใช้วิธีการและเทคนิคในการถ่ายทอดวิธีการสื่อความหมาย แนวคิดใหม่ๆ นำข้อมูลและองค์ความรู้ใหม่ๆ เสนอด้วยวิธีการใหม่ๆ ที่หลากหลายและรัดกุม

ทักษะนี้ส่งเสริมให้ผู้เรียนนำแนวคิดจากทักษะ R.K.F.S. มาเขียนเป็นเอกสารทางวิชาการ และนำเสนอถ่ายทอดข้อมูล สามารถนำทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ (Conrtructionism) มาสอนให้

ผู้เรียนนำมาใช้บูรณาการกับทักษะการสื่อสารและการนำเสนอ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ให้ผู้เรียนสร้างชิ้นงานจากการทำโครงการ (Project Based Learning)

อีกประเด็นที่สำคัญยิ่งของทักษะนี้คือ ถ้าผู้เรียน

มีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้ ก็สามารถทำให้เยาวชนของไทยมีคุณภาพพอที่จะเข้าแข่งขันหรือสามารถนำไปใช้ในประชาคมอาเซียนได้หลังจากปี 2558 ซึ่งผู้สอนหรือผู้เรียนจะต้องมีทักษะการสื่อสารและการนำเสนอพื้นฐานเบื้องต้น ดังนี้

1.1 ควรรู้ว่าเราจะสื่อสารในสถานการณ์ใด เวลาใด งานอะไร

1.2 ควรรู้ว่าเราควรสื่อสารสถานที่ใด

1.3 ควรรู้ว่าเราสื่อสารกับใคร สถานะของผู้ฟังเป็นอย่างไร

1.4 ควรรู้ว่าเราสื่อสารในกรอบของสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมใด จึงจะเหมาะสม

1.5 ควรรู้ว่าเรามีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารอย่างไร

การสื่อสารและการนำเสนอเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เรียนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากผู้เรียนมีความสามารถทางภาษาแล้วก็ตาม แต่ผู้เรียนจะต้องเข้าใจบริบทอื่นๆ เพราะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Meterial) การแลกเปลี่ยนทางอารมณ์ (Emotion) และการสร้างความสัมพันธ์ (Relation) และสุดท้ายผู้ที่จะประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดจะต้องประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1.เป็นผู้มีบุคลิกภาพที่ดี รวมถึงพฤติกรรมที่แสดงออกที่ดีและเหมาะสม

2.มีความมุ่งมั่น คล่องแคล่วมั่นใจ

3.แสดงออกถึงความตั้งใจและให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน

4.มีสื่อและเทคโนโลยีช่วยเสริมกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างกลมกลืนและสอดคล้องกับความเป็นจริง

5.มีความรู้และความเข้าใจในเนื้อหาอย่างชัดเจนและแม่นยำ

6.มีจิตวิทยาที่เสริมสร้างแรงจูงใจและเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน

7.มีจิตวิทยาในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสมาชิกได้ โดยมุ่งให้เกิดความรู้ (Knowledge) ความเข้าใจ (Understanding) ความถนัดหรือทักษะ (Skill) และมีทัศนคติและจริยธรรมเชิงบวกเสมอ (Habit)

ทักษะการสื่อสารและการนำเสนอ ผู้เขียนคิดว่าเป็นทักษะที่สำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาของไทย ควรนำมาใช้ในโรงเรียนอย่างจริงจัง

3.ทักษะการนำองค์ความรู้ไปใช้บริการทางสังคม (Social Service Activity Skill) หรือการสร้างบริการสาธารณะ ( Public Service) โดยผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในเชิงปฏิบัติสู่สังคมให้มากที่สุด แต่ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะว่า ก่อนที่จะนำความรู้สู่สังคมได้นั้น ผู้เรียนจะต้องมีความสามารถเบื้องต้น ดังนี้

1.ต้องสร้างวินัยในตนเอง ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย รู้ขอบเขตของหน้าที่และสิทธิเสรีภาพ ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

2.ต้องตระหนักเสมอว่าตนเองคือส่วนหนึ่งทางสังคม รับผิดชอบต่อส่วนรวมต่อประเทศชาติและโลก

3.ต้องเป็นผู้ที่ตระหนักถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและต้องช่วยแก้ไข

4.ต้องยึดหลักธรรมในการทำเป็นชีวิต และพร้อมที่จะถ่ายทอดหลักธรรมที่ดีสู่สังคม

ทักษะนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งเช่นกัน เพราะเป็นทักษะที่ผู้เรียนต้องนำไปใช้ต่อสังคม ซึ่งการพัฒนาผู้เรียนในปัจจุบัน ไม่ใช่ให้ผู้เรียนมีความรู้เชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว (Academic Knowledge) แต่ควรให้ผู้เรียนนำประสบการณ์เรียนรู้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือมีจิตใจที่สูงส่ง มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์โลก เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน



ในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศในยุโรป ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดจิตสำนึกในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม ผ่านกระบวนการเรียนรู้และการสอนที่เรียกว่า การเรียนรู้ด้วยการบริการสังคม (Service-Learning) ซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นวิธีการสอนที่ผู้เรียนเรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในการให้บริการแก่สาธารณะ ซึ่งสอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของชุมชน (Taylor และ Ballengee-Morris, 2004) จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของการเรียนรู้ด้วยการบริการสังคมนั้น เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้เรียนและสังคม

กล่าวคือ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถในเชิงวิชาการ อารมณ์ และสังคมควบคู่กันไปด้วย ขณะที่ชุมชนหรือสังคมก็จะได้รับประโยชน์จากการที่ผู้เรียนเข้าไปให้บริการในลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมอาสาสมัคร (Volunteer) ซึ่งในกลุ่มประเทศดังกล่าวจัดกิจกรรมอาสาสมัครหรือการให้บริการต่อสังคมโดยไม่รับค่าตอบแทนนั้น ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมเสริมเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรในรูปแบบที่เป็นวิชาการเลือกด้วย

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐอเมริกาได้รายงานว่า ในปี ค.ศ.1999 มีโรงเรียนของรัฐกว่า 83% ที่มีนักเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมให้บริการชุมชน และในปี ค.ศ.2005 สำรวจพบว่าโดยส่วนใหญ่นักเรียนมักปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสังคมในรายวิชาสังคมศึกษา (12%) วิทยาศาสตร์ (10%) และภาษาอังกฤษ (7%) (the National Center For Education Statistics, 2010)

ประเด็นสำคัญที่นักการศึกษาของไทยต้องนำไปขบคิดคือ หลักสูตรสถานศึกษาของประเทศได้นำแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ด้วยการบริการสังคมมาเป็นฐานในการออกแบบหลักสูตรแล้วหรือยัง และหากทำแล้วอยู่ระดับใด (ข้อมูลเฉลิมลาภ ทองอาจ การเรียนรู้ด้วยการบริการสังคม)

ที่จริงแล้วแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้วยการบริการสังคมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ในการศึกษาของไทยแต่เดิมได้ปฏิบัติกันมา เราคงจะเคยทราบว่า ครูพระสงฆ์สมัยโบราณสอนให้ศิษย์มีความรู้และทักษะวิชาช่าง ด้วยการพาศิษย์ไปซ่อมแซมหรือสร้างศาสนสถาน แม่บ้านแม่เรือนสมัยก่อนทำกับข้าวได้หลายชนิด เพราะไปเรียนรู้วิธีการประกอบอาหารจากแม่ครัวใหญ่ในงานวัดหรืองานบุญต่างๆ แพทย์แผนไทยเรียนรู้กรรมวิธีรักษาโรค ก็ด้วยการตามครูแพทย์ไปให้บริการแก่ชาวบ้านในหลายๆ แห่ง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน

การเรียนรู้สมัยก่อนจึงไม่ใช่การเรียนรู้เพื่อประโยชน์เฉพาะตน แต่เป็นการเรียนรู้ที่สังคมจะได้รับประโยชน์จากการเรียนของเราด้วย

การศึกษาในยุคก่อนจึงไม่เคยทิ้งสังคมไปเช่นในปัจจุบัน ดังที่เรามักจะได้ยินคำถามทั้งจากครูและผู้เรียนของเราเสมอว่า "เรียนแล้วจะนำไปทำอะไรก็ไม่รู้" "เรียนแล้วไม่เห็นว่าสังคมจะได้รับประโยชน์อะไร"

และในที่สุดเราก็สรุปได้ว่า "ถ้าเช่นนั้นก็เรียนให้สำเร็จก่อนแล้วค่อยกลับมาช่วยสังคม" คำถามที่เราต้องคิดต่อก็คือ ก็แล้วเหตุใดเราไม่ทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นเรื่องที่สังคมได้ประโยชน์ทุกขณะ และเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ต้องสอน แต่เกิดจากการที่ผู้เรียน "เห็นปัญหา" และ "เกิดเมตตา" ที่จะช่วยผู้ที่มีใจเมตตาให้ แม้แต่คนที่อาจจะไม่รู้จักเช่นนี้ จะไม่ใช่มนุษย์ที่สมบูรณ์หรือผู้เรียนที่เราต้องการให้เกิดขึ้นจากการศึกษาหรอกหรือ


สถานศึกษาหลายแห่งสรุปไปว่า การเรียนการสอนแบบโครงการ (Project Learning) เป็นวิธีการเรียนรู้ด้วยการบริการสังคม ข้อสรุปดังกล่าวอาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะมิติของการเรียนรู้ด้วยการบริการสังคม ไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมสร้างความรู้ตามความสนใจของผู้เรียนเท่านั้น เพราะสิ่งที่ผู้เรียนสนใจอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์หรือช่วยให้ปัญหาสังคมหรือชุมชนของเขาคลี่คลายไปก็เป็นได้ เราอาจจะเคยเห็นนักเรียนทำโครงงานประดิษฐ์หุ่นยนต์ ในขณะที่ชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่มีปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรม การให้บริการต่อสังคมจึงต้องมองปัญหาใกล้ตัว หรือเป็นเรื่องที่สังคมเรียกร้องขอความช่วยเหลือก่อนเป็นหลัก

ดังนั้น กิจกรรมการเรียนการสอนตามวิธีนี้อาจอยู่ในรูปแบบอื่น นอกจากโครงงาน เช่น การเป็นอาสาสมัครในองค์กรศาสนา องค์กรเยาวชนหรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร หรือการฝึกงานในหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานที่ให้บริการต่อสาธารณะ เป็นสาธารณะ เป็นต้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดเราจึงมีเยาวชนวัยรุ่นชาวต่างประเทศเข้ามาทำงานอาสาสมัครพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ดังเช่นเคยปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา องค์มกุฎราชกุมารในเชื้อพระวงค์ของประเทศอังกฤษทรงหยุดเรียนในมหาวิทยาลัยที่ทรงเรียนเป็นเวลา 1 ปี ทั้งนี้ เพื่อเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเข้าโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทวีปอเมริกาใต้ เป็นต้น

ในขณะที่นักเรียนไทยอายุเท่ากัน อาจจะตั้งใจท่องตำรับตำราอยู่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม โดยไม่เคยเหลียวมาสนใจเลยว่าฝรั่งหัวแดงพวกนี้มาทำอะไรกัน และทำเพื่ออะไร

เมื่อปี 2548 ผู้เขียนมีโอกาสไปศึกษาดูงานด้านการศึกษา ณ ประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสาธารณรัฐประชาชนจีน จะพบว่าการเรียนการสอนจะเน้นเนื้อหากับการปฏิบัติที่เข้มข้นมาก การเรียนรู้นอกห้องเรียนมีความสำคัญมากพอๆ กับการเรียนในชั้นเรียน และนักเรียน นักศึกษาเหล่านี้จะเดินทางไปศึกษาในต่างจังหวัดในประเทศของตนเองและต่างประเทศ

ในช่วงปิดภาคเรียนจะเป็นอาสาสมัครในองค์กรต่างๆ จึงจะเป็นคำตอบได้ว่าทำไมคุณภาพทางการศึกษาของกลุ่มประเทศเหล่านี้จึงมีคุณภาพระดับต้นๆ ของเอเชียและระดับโลก

จากการสำรวจและจัดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยสุดยอดแห่งเอเชียประจำปี 2013-2014 ของนิตยสาร Time Higher Education ของประเทศอังกฤษ พบว่า อันดับที่ 1 มหาวิทยาลัยโตเกียว อันดับที่ 2 มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ อันดับที่ 3 มหาวิทยาลัยฮ่องกง อันดับที่ 4 มหาวิทยาลัยเกาหลีใต้ อันดับที่ 5 มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และยังพบว่าประเทศญี่ปุ่นมี 20 มหาวิทยาลัยอยู่ใน 10 มหาวิทยาลัยรองลงมา ประเทศจีน 18 มหาวิทยาลัย เกาหลีใต้ 14 มหาวิทยาลัย ประเทศจีนไต้หวัน 100 มหาวิทยาลัย ฮ่องกง 6 มหาวิทยาลัย สิงคโปร์ 2 มหาวิทยาลัย และประเทศไทย 2 มหาวิทยาลัย ลำดับที่ 50 และ 82 ของเอเชีย

จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยลำดับคุณภาพต้นๆ ในเอเชียใกล้บ้านเรามีมากมายทีเดียว แต่ทำไมคนไทย เด็กไทยไม่นิยมไปศึกษาต่อเหมือนกับไปศึกษาในอเมริกา อังกฤษ หรือออสเตรเลีย รวมทั้งนักการศึกษาไทยก็ไม่ค่อยนำผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของประเทศดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาเยาวชนไทยเท่าที่ควร แต่ปี 2014 ยังโชคดีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ติดลำดับที่ 50 และมหาวิทยาลัยมหิดล ติดลำดับที่ 82 ของเอเชีย ยังพอรักษาหน้าตาของประเทศไทยไว้บ้างไม่มากก็น้อย

อยากฝากเป็นข้อคิดว่า ประเทศไทยลองส่งนักบริหารการศึกษาหรือนักเรียนไทยไปศึกษาดูว่าประเทศดังกล่าวเขาจัดการศึกษาอย่างไร จึงมีคุณภาพดังที่ปรากฏแก่ชาวเอเชียและชาวโลก แต่ระยะหลังมีนักการศึกษา ครู-อาจารย์ต่างๆ เดินทางไปในประเทศดังกล่าวมากขึ้น แต่ไม่ทราบว่าไปศึกษาดูงานหรือไปทำกิจกรรมใด



แนวทางเริ่มต้นสู่การใช้วิธีการเรียนรู้ด้วยการบริการสังคมคือ การสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยในห้องเรียน กระตุ้นให้ผู้เรียนมองเห็นปัญหาหรือสิ่งทีชุมชนต้องการให้พวกเขาไปช่วยเหลือ หรือสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์ในชุมชนดีขึ้นจากนั้นให้อิสระแก่ผู้เรียนเพื่อให้พวกเขาแสดงความรับผิดชอบในการจัดการทุกขั้นตอนในการเลือกหรือออกแบบกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาในการดำเนินการ การจัดเตรียมอุปกรณ์ การลงมือปฏิบัติ การประเมินการให้บริการ และการสะท้อนความคิดหลังการปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องคำนึงถึงที่จะทำให้การเรียนรู้ด้วยการบริการสังคมมีประโยชน์อย่างแท้จริงก็คือ กิจกรรมที่นักเรียนเลือกปฏิบัติควรเอื้อต่อการนำความรู้ที่เรียนมาใช้ประโยชน์

ตัวอย่างเช่น นักเรียนอาจจะเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในการปลูกต้นไม้ในโรงเรียน ซึ่งนักเรียนจะต้องแสดงให้เห็นถึงวิธีการนำความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาใช้ เช่น การทำกราฟหรือแผนภูมิแสดงปริมาณต้นไม้ ประเภทต้นไม้ หรือการบำรุงรักษาระบบนิเวศวิทยาในโรงเรียน เป็นต้น

ดังที่กล่าวมานี้ การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติเพื่อสังคมจึงน่าจะเป็นก้าวต่อไปของการพัฒนาหลักสูตร เพราะเป็นหนทางตรงที่ทำให้ผู้เรียนของเราพัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ และพร้อมที่จะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้อย่างสง่างาม โดยเฉพาะพร้อมที่จะแข่งขันกันกับกลุ่มประเทศในเอเชียต่อไป

การเสริมทักษะการเรียนรู้ด้วยการค้นคว้าด้วยตนเองจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการให้ผู้เรียนมีทักษะในด้านนี้ทั้ง 3 ทักษะ ซึ่งสามารถจัดเชิงบูรณาการในสาระทุกสาระ ผู้สอนจึงสามารถนำมาใช้ได้ทุกเวลา ทุกคาบก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ทำอยู่แล้วแต่ทำโดยไม่ใช้หลักการ ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน จึงไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนเท่าที่ควร

และที่สำคัญยิ่งคือ ผู้เรียนจะไม่สนใจและไม่รับรู้ความเป็นไปในสังคม และเราจึงไม่เห็นคนไทยหรือเยาวชนไทยออกมาปกป้อง รักษาความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในทางสังคม ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการศึกษา และทางการเมืองเลย ถึงเวลาแล้วที่เราควรผลักดันเรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการลองช่วยหาคำตอบ





(ที่มา:มติชนรายวัน 8 มกราคม 2558)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์