Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : ทำน้ำเสียให้เป็นน้ำสะอาด

บทความ : ทำน้ำเสียให้เป็นน้ำสะอาด การเรียนรู้แบบโครงงานจากเด็กน้อยเชียงใหม่
คุณครูปานฤทัย อึ้งเกษมศรี โรงเรียนบ้านคุณแม่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เห็นความสนใจของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 2 ที่อยากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียที่ได้ไปพบเจอมา หลังจากที่ครูได้พานักเรียนไปเที่ยวตลาด แล้วกระตุ้นให้มีการสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว


เพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “ไม่มีใครได้กลิ่นเหม็นอะไรเลยเหรอ” สิ้นสุดประโยคนี้ เหมือนเป็นประโยคสะกดใจให้เพื่อนๆ ในห้องหันมามองที่คนพูดเพียงคนเดียว แล้วจากนั้นก็มีเสียงของเด็กๆ ตามมาไม่ขาดสาย ใช่ๆ เราก็ได้กลิ่นนะ เหม็นด้วย แล้วกลิ่นมาจากไหน มีใครเห็นเขาทิ้งอะไรไม่รู้ลงในน้ำบ้างไหม กลิ่นเหม็นมาจากน้ำเสียที่เราพบในตลาดรึเปล่านะ

เมื่อกลับมาถึงโรงเรียนได้สนทนากันถึงสิ่งที่พบ และสิ่งที่เด็กสงสัยอยากรู้จนได้โครงงานน้ำเสีย โดยที่ เด็ก ๆ ได้ร่วมกันตั้งคำถามที่แต่ละคนสงสัยกันมามากมาย

จากนั้นครูและนักเรียนร่วมกันตรวจสอบคำถาม และเลือกคำถามหลักที่จะนำไปสู่การหาคำตอบที่อยากรู้
“เราจะทำน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำสะอาดได้อย่างไร ?”
แล้วกระตุ้นด้วยคำถาม “เราจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อทำให้เราได้คำตอบในสิ่งที่เราสงสัย ?”

เด็กๆ ช่วยกันนำเสนอวิธีแสวงหาความรู้ ซึ่งเมื่อได้วิธีการต่างๆ แล้ว จึงได้ร่วมกันวางแผนลำดับขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมด้วยตนเอง โดยมีคุณครูคอยกระตุ้น และช่วยเหลือในบางขั้นตอนที่เด็กๆ ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง มีการสืบค้นสิ่งที่สงสัย ซึ่งดำเนินการตามขั้นตอนที่ได้วางแผนร่วมกัน เช่น ทำกิจกรรมสำรวจแหล่งน้ำในโรงเรียน ตรวจสอบคุณภาพน้ำ สืบค้นความรู้ในอินเทอร์เน็ต ไปทัศนศึกษา จนสามารถตอบคำถามที่ตั้งขึ้นได้ และสร้างเครื่องกรองน้ำของเด็ก ๆ ได้


จากนั้นเด็กๆ ร่วมกันจัดนิทรรศการ และนำเสนอผลการเรียนรู้ ให้พี่ๆ น้อง ๆ และผู้ปกครอง ร่วมรับชมและรับฟัง เพื่อเป็นการประเมินผลการเรียนรู้ในสิ่งที่เด็ก ๆ ได้ลงมือปฏิบัติว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้หรือไม่ มีส่วนไหนที่ต้องปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อไป

“ผลที่เกิดขึ้นคือ เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำสิ่งที่ลงมือปฏิบัติไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน มีความสุขในการเรียนรู้ และนำทักษะที่ใช้ในการเรียนรู้ไปผสมผสานในชีวิตประจำวันได้ดี ซึ่งทำให้เห็นว่า การเรียนรู้โดยการมีส่วนร่วมระหว่างบ้าน ชุมชน และโรงเรียน ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข และรู้จักรับฟัง ยอมรับเหตุผลซึ่งกันและกัน มีเหตุผลในการอธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น” คุณครูปานฤทัย อึ้งเกษมศรี กล่าว


กิจกรรมนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการบูรณาการการเรียนรู้ ตามแนวทาง “สะเต็มศึกษา” (STEM Education) เป็นประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์ผลงานหรือแก้ปัญหาเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ผ่านกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม

ผลงานดังกล่าว ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการ “สะเต็มศึกษา พัฒนาเด็กไทย” ที่ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)


**************************************************************
สินีนาฎ ทาบึงกาฬ ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท. รายงาน


จาก http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/teacher/21007

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1