Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : ผู้เรียนและสังคมได้อะไร จากนโยบาย"ลดเวลาเรียน เพิ่มการเรียนรู้"

ตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ประกาศเดินหน้านโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาการเรียนรู้ ซึ่งจะเริ่มในภาคเรียนที่ 2 ปี 2558 ตามที่ทราบแล้วนั้น ผู้เขียนในฐานะเป็นครูและผู้บริหารโรงเรียนรวม 40 ปี และในฐานะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิการปฏิรูปการศึกษาชาติ เช่น โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ห้องเรียน โครงการอ่านออกเขียนได้ภายใน 1 ปี โครงการเรียนรู้ผ่านดาวเทียม และโครงการเรียนรู้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (DLITV) ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังเดินหน้าสร้างคุณภาพทางการศึกษาอยู่ในขณะนี้

ภาพ http://www.fth0.com/uppic/12101540/news/12101540_0_20150724-151835.jpg

การปรับเวลาเรียนเพิ่มการเรียนรู้เป็นนโยบายเร่งด่วน มีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมากมาย ต่างแสดงความห่วงใยต่างๆ นานา แต่ผู้เขียนกลับมองว่านี่คือก้าวใหม่ของการจัดการศึกษาของไทย ซึ่งหลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น ได้เสนอแนะมามากพอที่ผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการมีข้อมูลพร้อมที่ตัดสินใจ

ผู้เขียนอยากฝากไปยังผู้หวังดีว่าไม่ควรกังวลใจให้มาก เรามีประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างน้อย 4-5 ประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง จีนไต้หวัน เกาหลีใต้ ที่ใช้เวลาเรียนของเด็กตั้งแต่ 08.30 น.-14.30 น.มานาน และประเทศดังกล่าวมีผลสัมฤทธิ์เชิงคุณภาพของการศึกษาอยู่ในฐานะระดับต้นๆ ของโลก

การปรับเวลาเรียนเพิ่มเวลาการเรียนรู้ของเด็กไทยครั้งนี้จะต้องวางแนวทางและระบบให้ดี การประเมินและติดตามต้องชัดเจน สม่ำเสมอ เป็นระยะ ผู้บริหารโรงเรียนต้องเข้าใจแนวปฏิบัติของนโยบายนี้พร้อมกำกับติดตามเชิงระบบ ผู้บริหารระดับเขตพื้นที่ต้องมีมาตรการตรวจสอบและติดตามที่ดีและทั่วถึง ครูจะต้องร่วมมือกำหนดเนื้อหากิจกรรมที่หลากหลายและครอบคลุมกิจกรรมที่กำหนดต้องสอดคล้องกับวิชาต่างๆ ตามหลักสูตรแกนกลางที่มากเกินและซับซ้อน ครูต้องรู้จักแยกแยะและตัดตอนออกไป

เนื้อหาใดที่ไม่มี ครูควรร่วมมือกับผู้เรียนช่วยกันสืบค้นแล้วนำมาเป็นประเด็นฝึกและศึกษาเวลาที่เหลือ 2 ชั่วโมง เนื้อหาหรือกิจกรรมควรหลากหลาย เน้นการปฏิบัติและฝึก ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ที่เด็กไทยเรียนและท่องจำ เปลี่ยนมาเรียนและฝึกปฏิบัติให้เด็กคิดเป็นและแก้ปัญหาเป็น

การลดเวลาเรียนเพิ่มเวลาเรียนรู้ ผู้เขียน เห็นด้วยกับนโยบายนี้เป็นอย่างยิ่ง และสิ่งที่ผู้รับผิดชอบตั้งแต่คณะกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน และน่าจะสอดคล้องทักษะชีวิต 5 ด้าน ดังนี้

1.ผู้เรียนเกิดทักษะการคิด (Thinking Skill)

เวลา 2 ชั่วโมงที่เหลือ โรงเรียนและครูจะต้องออกแบบกระบวนการการเรียนรู้ เพราะปฏิบัติให้นักเรียนเกิดทักษะการคิด ผู้สอนต้องออกแบบเนื้อหาให้เป็นเนื้อหาที่เน้นการปฏิบัติผ่านกิจกรรมและโครงงานต่างๆ ทักษะและวิชาที่ส่งเสริมการคิดให้ผู้เรียนคือ ทักษะการอ่าน ทักษะด้านคณิตศาสตร์ และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่ง 3 ทักษะนี้ PISA นำมาเป็นโจทย์ประเมินผลระดับนานาชาติทุกๆ 3 ปี ฉะนั้น ถ้าครูมุ่งเน้นส่งเสริมพัฒนาเด็กไทยด้านทักษะการคิดอย่างจริงจังแล้ว น่าจะส่งผลดีต่อการประเมินของนานาชาติต่อคุณภาพการศึกษาไทยโดยทางอ้อมไปด้วย ซึ่งเดิมทั้ง 3 ทักษะไทยอยู่ลำดับ 50 ของโลก จาก 65 ประเทศทั่วโลก

สิ่งที่ครูควรฝึกให้ผู้เรียนมีทักษะการคิด 10 ทักษะ คิดเชิงวิพากษ์ / คิดเชิงวิเคราะห์ / คิดสังเคราะห์ / คิดเปรียบเทียบ / คิดมโนทัศน์ / คิดสร้างสรรค์ / คิดเชิงประยุกต์ / คิดเชิง กลยุทธ์ / คิดเชิงบูรณาการ และคิดถึงอนาคต 10 ทักษะการคิดนี้ ถ้าครูผู้สอนนำมาฝึกให้ ผู้เรียนเกิดความรู้และเข้าใจแล้วก็จะส่งผลดีต่อผู้เรียน ต่อสังคม และชาติอย่างแน่นอน

2.ผู้เรียนเกิดทักษะการสื่อสาร (Commu nication Skill)

เวลา 2 ชั่วโมงที่เหลือ ถ้าโรงเรียนและครูผู้สอนวางแผนการจัดกิจกรรมที่ดี สอดคล้องและครอบคลุมแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน การสื่อสารระหว่างผู้เรียนด้วยกัน การสื่อสารระหว่างครูกับผู้เรียน ระหว่างผู้เรียนกับบุคคลอื่นๆ ทำให้ผู้เรียนรู้จักที่จะสื่อสารว่าควรหรือไม่ รู้ว่าเวลาใดควรหรือไม่ควร รู้ว่าเมื่อสื่อสารแล้วจะเกิดผลดีหรือผลเสียอย่างไร ส่งผลให้ผู้เรียนมีมารยาทที่ดีในการสื่อสาร นอกจากนั้นแล้วโรงเรียนและครูผู้สอนควรจัดกิจกรรมการสื่อสาร โดยการใช้ภาษาที่เป็นภาษาสากล เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นต้น และเพื่อการรองรับอาเซียนที่จะเปิดประชาคมอาเซียนเป็นทางการในปลายปี 2558 ด้วยแล้วก็ควรส่งเสริมภาษาเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น ภาษาบาฮาซา ซึ่งมีประชากรเกือบ 300 ล้านคนใช้ภาษานี้ในการติดต่อสื่อสาร

รวมถึงภาษาพม่า ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม ซึ่งมีความจำเป็นและสำคัญยิ่งที่ ผู้เรียนจะต้องฝึกและปฏิบัติ เพราะมีประชากร ของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศของเรานับล้านคน

ส่วนด้านภาษาอังกฤษก็ยังเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับเด็กไทย 2 ชั่วโมงที่เหลือ สามารถจัดกิจกรรมเชิงสนทนาและปฏิบัติทางภาษาให้กับผู้เรียนได้ โดยผ่านกิจกรรมกลุ่ม กิจกรรมการแข่งขันทักษะการอ่าน การเขียน และการพูด เป็นต้น

3.ผู้เรียนเกิดทักษะการมีส่วนร่วม (Participation Skill)

ทักษะนี้ทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหากับคนอื่นได้ดี ทำให้ผู้เรียนยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ยอมรับฟังเหตุฟังผลและพร้อมปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกับสังคมที่มีความเห็นแตกต่าง ยอมรับความแตกต่างทางความคิดได้ แต่ไม่ยอมแตกแยกและขัดแย้ง เหมือนกับคนไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะคนไทยขาดการปลูกฝังและส่งเสริมการมีส่วนร่วม ฉะนั้น เวลา 2 ชั่วโมงเป็นเวลาที่มีค่ายิ่ง และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน สังคม และประเทศชาติด้วย กิจกรรมที่เหมาะและส่งเสริมทักษะการมีส่วนร่วมคือกิจกรรมกลุ่ม เช่น ชุมนุมหรือชมรมต่างๆ ซึ่งประเทศญี่ปุ่น เกาหลีจะให้ความสำคัญกิจกรรมชมรมต่างๆ มากที่สุด นักเรียนและครูต้องเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ร้อยละ 95-100 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าประชาชนญี่ปุ่นจะมีระเบียบวินัย มีเหตุและผล รักชาติ หลีกเลี่ยงการแตกแยกของคนในชาติ และมีสปิริตสูงมาก

4.ผู้เรียนเกิดทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving Skill)

2 ชั่วโมงที่เหลือ ครูผู้สอนสร้างงาน สร้างกิจกรรมให้ผู้เรียนฝึกและปฏิบัติ เมื่อฝึกและปฏิบัติแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ปัญหาดังกล่าวจะทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะคิดวิเคราะห์ค้นหาปัญหาที่มาของปัญหา สาเหตุของปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาในปัจจุบันในสภาพที่ซับซ้อน เปลี่ยนแปลง นับวันจะเกิดมากขึ้นและรุนแรง เช่น ปัญหาด้านครอบครัว ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเรียน และด้านชีวิตส่วนตัว ถ้าผู้เรียนขาดการฝึกทักษะที่ดีแล้ว จะส่งผลให้ผู้เรียนล้มเหลวในชีวิตและหน้าที่การงาน

บางครั้งอาจถึงขั้นลงโทษตนเองคือฆ่าตัวตาย ดังมีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมายในสังคมปัจจุบัน

5.ผู้เรียนเกิดทักษะจิตสาธารณะ (Public Mind Skill)

2 ชั่วโมงที่เหลือ ครูผู้สอนต้องกำหนดเนื้อหาและกิจกรรมให้ผู้เรียนมีทักษะโดยใช้หลักคุณธรรม จริยธรรมเข้ามาเสริม ส่งเสริมและปลูกฝังให้ผู้เรียนรู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้จักให้อภัย รู้จักเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ส่งเสริมให้ผู้เรียนยึดหลักค่านิยม 12 ประการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ คือ 1.รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 2.ซื่อสัตย์สุจริต 3.มีวินัย 4.ใฝ่รู้ใฝ่เรียน 5.อยู่อย่างพอเพียง 6.มุ่งมั่นและเสียสละในการทำงาน 7.รักความเป็นไทย และ 8.มีจิตสาธารณะ

ทักษะนี้สำคัญมาก เป็นทักษะที่จะสร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ สร้างความเข้มแข็งและมั่นคงของชาติ สร้างสังคมที่รู้จักแบ่งปัน ไม่เห็นแก่ตัวแก่ได้ ในประเทศจีนไต้หวันมุ่งส่งเสริมทักษะด้านนี้ผ่านกิจกรรมทางศาสนา ไต้หวันปลูกฝังให้ผู้เรียนเชื่อคำสอนของศาสดา หลักคำสอนอย่างเคร่งครัด สร้างจิตสำนึกบาปบุญคุณโทษ ถึงขั้นบางพื้นที่ไม่ยอมฆ่าสัตว์หรือไม่ยอมรับประทานเนื้อสัตว์เสียด้วยซ้ำไป

และมุ่งเน้นให้ประชาชนเสียสละเพื่อส่วนรวมและเพื่อชาติเป็นสำคัญ จึงส่งผลให้จีนไต้หวันกลายเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าประเทศหนึ่งของโลก

ฉะนั้น การที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายปรับเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้ จนหลายฝ่ายวิตกกังวลนั้น ผู้เขียนคิดว่า ถ้ากระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางกรอบ วางเป้าหมาย และมีระบบการติดตามและประเมินผลที่ดีแล้ว ผู้เขียนเชื่อมั่นว่านอกจากความรู้ที่ผู้เรียนได้รับแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เรียนจะได้รับจากนโยบายและกิจกรรมที่กำหนดแล้วคือทักษะชีวิต 5 ด้านดังที่กล่าวมาข้างต้น

เพราะทักษะ 5 ด้านข้างต้น จะเป็นตัวบ่งชี้ให้ผู้เรียนมีคุณสมบัติที่จะอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข และส่งผลโดยภาพรวมต่อการสร้างชาติ โดยคุณภาพของคน โดยทักษะ 5 ด้าน
ณรงค์ ขุ้มทอง 
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณและโรงเรียนดาวนายร้อย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์