Featured post

แนวข้อสอบและเฉลย O-NET วิชาสังคมศึกษาฯ : ศาสนา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ม.3

แนวข้อสอบและเฉลย O-NET วิชาสังคมศึกษาฯ : ศาสนา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ม.3
ให้วง ล้อมรอบตัวอักษรหน้าคำตอบที่ถูกต้อง

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


คำอธิบาย  ความรู้ทั้งหมดนี้ นักเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียน การสอน และการเตรียมความพร้อมในการสอบแข่งขันอื่น ๆ ได้ ตามความเหมาะสม หรือ ท่านครูอาจารย์ที่จัดเตรียมเนื้อหาไม่ทันก็ยังสามารถนำเนื้อหานี้ไปใช้ได้ตามความเหมาะสมครับ

คำขอร้อง เนื่องจากเนื้อหาทั้งหมดนี้ ครูเดชเป็นผู้รวบรวมและเรียบเรียง ประกอบด้วยการนำความรู้มาแยกวิเคราะห์เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจได้ง่าย โดยที่ทำเพื่อมุ่งหวังให้เป็นประโยชน์สูงสุดในการเปิดโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนที่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอเน็ตได้ แต่ห่างไกล ได้ใช้ประโยชน์ จึงใคร่ขอความกรุณาท่านที่สนใจจะนำไปใช้ในเว็บไซต์ เว็บบล็อก หรือ เผยแผ่ ในสื่ออนไลน์ โดยใส่เคดิตที่มาด้วยนะครับ

ทั้งนี้ขอเรียนแจ้งว่า ผู้รวบรวมและเรียบเรียงไม่อนุญาตให้นำข้อมูลไปเพื่อผลกำไร ยกแต่ได้ขออนุญาตจากผู้เรียบเรียงแล้วเท่านั้น ครับ
ติดต่อครูเดชเรื่องลิขสิทธิ์ หรือ เชิญติวกวดวิชานอกสถานที่  084-014-7717 ,094-070-7114
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


วีดีโอติวเฉลยข้อสอบโอเน็ตสังคมศึกษา หน่วยศาสนาของชั้น ม.3  นักเรียนสามารถเปิดฟังพร้อม ๆ ลองทำข้อสอบได้ตามด้านนี้ครับ พร้อมคำอธิบายครับ 





ให้วง ล้อมรอบตัวอักษรหน้าคำตอบที่ถูกต้อง

1. การอยู่ร่วมกันของศาสนิกชนหลายศาสนาอย่างสงบสุขควรเริ่มต้นอย่างไร ?

1. เข้าร่วมศาสนพิธีของทุกศาสนา
2. เข้าใจความแตกต่างของแต่ละศาสนา
3. เปรียบเทียบหลักธรรมของแต่ละศาสนา
4. พัฒนาแนวทางการรวมแต่ละศาสนาเข้าด้วยกัน

คำตอบ   ข้อที่  2

การเรียนสังคมศึกษาในหน่วยวิชาศาสนานั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็ต้องการให้นักเรียนได้เข้าใจถึงความเหมือนความต่างของแต่ละศาสนา  ในคำตอบของแต่ละข้อนั้น บางข้อ มีการยกเว้น เช่นการเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา  บางศาสนาไม่อนุญาต แต่บางศาสนาไม่มีกฎที่เคร่งครัด คำตอบข้อที่ 2 จึงมีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะสอดคล้องกับคำอธิบายข้างต้นแล้วครับ   การเปรียบเทียบศาสนา เป็นสิ่งที่ไม่ควรพึ่งกระทำเลยครับ เพราะจะส่งผลเสียมากกว่า ส่วนข้อที่ 4 นั้น การพัฒนา สามารถทำได้ครับ แต่บางครั้งจะมีข้อจำกัด ให้นักเรียนพิจาณาด้วยครับ

________________________________________________


2. ข้อใดต่อไปนี้ ไม่ใช่ หลักความเชื่อหรือหลักปฏิบัติของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ?

1. สัญลักษณ์เป็นไม้กางเขนที่มีพระเยซูคริสต์ถูกตรึง
2. องค์ประมุขของคริสต์ศาสนิกชนคาทอลิกทั่วโลก คือ พระสันตะปาปา
3. ประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ 2 พิธี คือ พิธีศีลล้างบาปและพิธีศีลมหาสนิท
4. ยกย่องพระนางมารีอาและยกย่องผู้ทำความดีให้แก่ศาสนาเป็น นักบุญ”

คำตอบ ข้อที่ 3  
ให้นักเรียนใช้ตารางด้านล่างนี้พิจารณาคำตอบร่วมด้วยนะครับ  อธิบายเสริม ให้นักเรียนจำไว้ว่า คริสต์โรมันนั้นมีพิธีศีล  7 อย่างด้วยกัน พร้อมทั้งในนิกายนี้มีการนับถือและยกย่องพระนางมารี และนักบุญ  นอกจากนี้ยังมีการเคารพสัญลักษณ์แทนพระเยซู คือไม้กางเกงที่มีการตรึงพระเยซู  นอกจากนั้น คาทอลิค เป็นนิกายเดียวที่ขึ้นตรงต่อพระสันตะปาปา
ตารางใช้ในการวิเคราะห์
โรมันคาทอลิก
-สัตตะปาปา
-ยึดคำสอนนักบุญเปโตร
-มีนักบวช ห้ามแต่งงาน
-ยกย่องพระแม่มารีย์-โยเซฟ
-มีนักบุญ
-ศีลศักดิ์สิทธิ์ 7 อย่าง
-ไม้กางเขนรูปพระเยซูตรึง
กรีซออร์ทอด็อกซ์
-ไม่ขึ้นตรงต่อศาสนาจักร พระสันตะปาปา
-ไม่มีนักบุญ
-ไม่บูชารูปเคารพ 3 มิติ
-สัญลักษณ์เป็น 2 มิติเท่านั้น
โปรเตสแตนต์
-ถือพระคัมภีร์ ไม่ขึ้นกับศาสนจักร
-ไม่เชื่อสันตะปาปาและบาทหลวงไถ่บาปได้
-ไม่มีนักบวช มีแต่ผู้สอนศาสนา
-ไม่ยกย่องพระแม่มารีย์ โยเซฟ นักบุญ
-ศีลล้างบาปและศีลมหาสนิทเท่านั้น
-กางเขนไม่มีรูปพระเยซูตรึง


________________________________________________


3. หลักปฏิบัติ 5 ประการ ของศาสนาอิสลามข้อใด ที่มุสลิมอาจเลือกกระทำในลำดับสุดท้าย โดยรอให้มีความพร้อมทั้งด้านสุขภาพและทุนทรัพย์ก่อน ?

1. การละหมาด                  
2. การถือศีลอด
3. การบริจาคซะกาต                         
4. การประกอบพิธีฮัจญ์

คำตอบ ข้อที่ 4
ข้อปฏิบัติที่กล่าวมาในคำตอบทั้งหมดนั้น เป็นข้อปฏิบัติที่เรียกกันว่า ข้อปฏิบัติ 5  คือหลักปฏิบติของมุสลิมทุกคนที่ต้องถือปฏิบัติ มีทั้งสิ้น 5 ประการ คือ ถือพระเจ้าองค์เดียว ,ละหมาด 5 เวลา คือ ย่ำรุ่ง บ่าย เย็น พลบค่ำ และกลางคืน ,ศีลอด เดือนรอมฎอน ,ซะกาต  และ ฮัจญ์
หลักปฏิบัติทั้ง 5 ข้อนี้ ข้อที่ 1-4  เป็นข้อปฏิบัติที่ชาวมุสลิมสามารถปฏิบัติกันได้ แม้จะไม่มีความพร้อมมากมายนัก เช่นการเคารพพระเจ้า การละหมาด การถือศีลอด และซะกาต คือการบริจาคทาน โดยเฉพาะการบริจาคทานนั้น ก็ไม่มีข้อห้ามหรือกฎว่าต้องบริจาคมากมาย   แต่ในข้อปฏิบัติที่ 5 นั้นต้องฝช้ทรัพย์สินมาก ดังนั้นผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ จึงต้องมีความพร้อมทั้งทรัพย์สิน สุขภาพ ครับ

________________________________________________


4. เหตุการณ์ใดเป็นจุดเริ่มต้นนับศักราชอิสลาม หรือที่เรียกว่า ฮิจเราะฮ์ศักราช” ?

1. ศาสดามุฮัมมัดประสูติ
2. ศาสดามุฮัมมัดสิ้นพระชนม์
3. ศาสดามุฮัมมัดอพยพไปเมืองมะดีนะฮ์
4. ศาสดามุฮัมมัดได้รับโองการจากอัลออฮ์

คำตอบ  ข้อที่ 3 
หิจญเราะหฺ (อาหรับ: هِجْرَة) เป็นการอพยพหรือการเดินทางของบีมุฮัมมัดและผู้ติดตามจากเมกกะไปยังเมดินา      ทริปชวนรู้  การเปลี่ยนศักราชจากพุทธศักราชไปฮิจเราะฮ์ศักราช ใช้ พ.ศ. ตั้ง ลบ 1122  จะเท่ากับปี ฮ.ศ. ครับ


________________________________________________


5. พิธีรับศีลในข้อใดของคริสต์ศาสนาที่เป็นการยืนยันถึงการนับถือคริสต์ศาสนา ?

1. ศีลกำลัง                           
2. ศีลล้างบาป
3. ศีลอภัยบาป                    
4. ศีลมหาสนิท

คำตอบ ข้อ 1  
ให้นักเรียนพิจารณาดังนี้ครับ พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิค นั้นมี 7 ศีลด้วยกันคือ -ศีลล้างบาป (ศีลจุ่ม)  รับครั้งเดียว บาปกำเนิด
-ศีลกำลัง   ยืนยันนับถือศาสนา
-ศีลมหาสนิท  มิสซา ขนมปัง เหล้าองุ่น ระลึกพระกระยาหารมื้อสุดท้าย
-ศีลแก้บาป   สารภาพบาป
-ศีลเจิมคนไข้
-ศีลอนุกรม  ศีลบวช
-ศีลสมรส แต่งงาน 
สรุปความคิด ให้นักเรียนจำไว้ดังนี้ครับว่า ถ้าเราจะยืนยันการนับถือในศาสนาได้ ต้องมีกำลังศรัทธาในศาสนา  “มีกำลัง”  ก็ต้อง  “ศีลกำลัง”  นะครับนักเรียน


________________________________________________


6. วิธีถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาลมีการปฏิบัติกันอย่างไร ?

1. จารึกลงในใบลาน
2. จารึกลงในศิลาจารึก
3. ท่องจำด้วยปากเปล่า
4. ท่องจำและบันทึกลงในใบลาน

คำตอบ ข้อ 3
ให้นักเรียนจำดังนี้นะครับว่า ในสมัยพุทธกาล จะใช้วิธีการจำ หรือ การท่องปากต่อปาก หรือ มุขปาฐะ แต่เพียงอย่างเดียว เพราะมีพระอรหันต์จำนวนมาก (ท่านมีความจำในธรรมเป็นเลิศ)   การเริ่มจดและจารึกนั้น มาในภายหลัง คือ เมื่อมีการสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 5 ครับ  
ทริปชวนจำ             พุทธกาล  เล่าท่องพระธรรมปากเปล่า มุขปาฐะ
                                 สังคายนาครั้ง 1-4 ท่องปากเปล่า มุขปาฐะ
                                สังคายนาครั้งที่ 5 เริ่มการจดบันทึกเป็นภาษาบาลี เป็นครั้งแรกของโลก

________________________________________________



7. เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จพระดำเนิน 7 ก้าว สามารถตีความหมายได้ว่าอย่างไร ?

1. พระพุทธองค์จะทำสงความ ชนะศึกทั้งหมด 7 แคว้น
2. พระมารดาของพระองค์จะทรงเสด็จสวรรคตในอีก 7 วัน
3. พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาไปใน 7 แคว้น
4. พระพุทธองค์จะทรงมีพระธิดาและพระโอรสทั้งหมด 7 พระองค์

คำตอบ ข้อที่ 3
ให้นักเรียนพิจารณาด้วยความเป็นเหตุ เป็นผลมากที่สุดนะครับ ดังนี้
คำตอบข้อที่ 1 เป็นไปไม่ได้เลย ที่พระพุทธเจ้าจะทำสงคราม หลังตรัสรู้ ข้อนี้จึงไม่ถูกต้อง นักเรียนตัดไปเลยครับ   คำตอบข้อที่ 2 เป็นคำตอบที่ถูกนะครับ แต่ถูกไม่ตรงคำถาม พระราชมารดาของพระพุทธเจ้า พระองค์สวรรคต (คำนี้อ่านว่า สะ-หวัน-คด นะครับ) หลังจากที่ประสูติพระพุทธองค์ เมื่อ 7 วันให้หลัง แต่คำถามไม่ได้ถามวันสวรรคตของพระราชมารดา ข้อนี้จึงผิดครับ   ส่วนคำตอบข้อที่ 4 เป็นคำตอบที่ผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะ เจ้าชาสิทธัตถะมีพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น คือ ราหุล นั้นเอง
คำตอบที่ถูกต้องคือ พระองค์จะสามารถเผยแผ่ศาสนาได้ 7 แคว้น

________________________________________________



8. พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มนุษย์เรียนรู้เกี่ยวกับสมุทัยอย่างไร ?

1. ให้ละทิ้ง
2. ให้นำมาปฏิบัติ
3. ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
4. ให้นำมาใช้ในการแก้ปัญหา

คำตอบ ข้อ 1
อธิบายดังนี้ครับ    นักเรียนจะทราบแล้วว่าในข้อสอบข้อนี้เป็นการถามเรื่อง “อริยสัจ 4” คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค โดยตามที่ครูเดช เคยติวในคลิป ครูให้นักเรียนแยกดังนี้คือ แยกเป็นเหตุและผล จะแบ่งออกเป็นได้ 2 คู่ คือ
                ทุกข์ เป็นผล                         สมุทัย เป็นเหตุ
                นิโรธ เป็นผล                       มรรค เป็นเหตุ
การทำความเข้าใจ
 เพราะมีสมุทัย (สาเหตุเกิดทุกข์) ความทุกข์จึงเกิด
--------- ปวดท้องรุนแรง (ทุกข์) เพราะ ไม่ล้างมือ (สมุทัย)
เพราะมีมรรค (หนทางดับทุกข์) นิโรธจึงเกิด (การดับทุกข์)
---------มีสัมมาสติ (-การระลึกรู้ตัว-ในมรรค8) รู้ตัวว่ากำลังจะกินข้าว ก็ล้างมือก่อนกิน (มีสติ รู้ว่ากำลังทำอะไร) เมื่อกินข้าวแล้วจึงไม่ปวดท้อง ไม่ท้องเสีย (นิโรธ การดับทุกข์)
เมื่อเรารู้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นจากการไม่ล้างมือ    ทุกข์ คือการปวดท้อง  ไม่ล้างมือ คือ สมุทัย เราก็ตะต้องละเว้นไม่ทำสมุทัย ดังนี้สมุทัยจึงเป็นสิ่งที่ควรละเว้น ละเว้นเพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ นั้นเองครับ

________________________________________________



9. ทุกครั้งที่ลักขณาได้ยินเพื่อนต่างห้องนิทาว่าร้ายเพื่อนสนิทของตน เธอจะเข้าไปพูดแก้ต่าง ชี้แจงความจริงให้แก่เพื่อนของเธอ จากพฤติกรรมของลักขณา จัดว่าเป็นลักษณะของมิตรประเภทใด ?

1. มิตรมีน้ำใจ
2. มิตรอุปการะ
3. มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข
4. มิตรแนะนำประโยชน์

คำตอบ  ไม่มีข้อถูก (ครูเดชให้ข้อมูลผิดพลาดในคลิปติวโอเน็ตข้อนี้ครับ)
เพราะมิตรที่ทำการชี้แจงความจริงของเพื่อนของตน นั้นเป็นมิตรที่อยู่ในกลุ่ม มิตรมีความรักใคร่ ดังนี้
 มิตรมีความรักใคร่ แสดงออกมา ๔ ลักษณะ
..ทุกข์..ทุกข์ด้วย                                   ..สุข..สุขด้วย
..โต้เถียงคนที่พูดติเตียนเพื่อน          ..รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน

มิตร 4 ประเภท
                   ๑. มิตรมีอุปการะ แสดงออกมาในทาง  
                   ..ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว   ..ป้องกันทรัพย์ของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
..เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้    ..เมื่อมีธุระช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
                   ๒. มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุขกันได้ แสดงออกมา ๔ ลักษณะ
..ขยายความลับของตนแก่เพื่อน           ..ปกปิดความลับของเพื่อน มิให้แพร่งพรายออกไป
..ไม่ทอดทิ้งเพื่อนในยามที่ เพื่อนประสบความพิบัติ     ..แม้ชีวิตอาจสละแทนเพื่อนได้
                   ๓. มิตรแนะนำประโยชน์ แสดงออกมา ๔ ลักษณะ
..ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว                      ..แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
..ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง                    ..บอกทางสวรรค์ให้
                   ๔. มิตรมีความรักใคร่ แสดงออกมา ๔ ลักษณะ
                ..ทุกข์..ทุกข์ด้วย                   ..สุข..สุขด้วย
                ..โต้เถียงคนที่พูดติเตียนเพื่อน          ..รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน
   ที่มา : หนังสือ พระพุทธศาสนา ได้ให้อะไรแก่เรา
ธรรมนิพนธ์ พระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ)

________________________________________________



10. การตักบาตรเทโวโรหณะสอดคล้องกับเหตุการณ์ตอนใดในพุทธประวัติ ?

1. มารผจญ                          
2. ปรินิพพาน
3. ลงจากเทวโลก               
4. รับข้าวมธุปายาส

คำตอบ ข้อ 3  
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้มีผู้คนมารอรับพระพุทธเจ้า ทำให้เกิดเป็นประเพณีการตักบาตรเทโวโรหะณะ ซึ่งมักจะตักหลังวันออกพรรษาไปแล้ว 1 วัน  ในประเพณี ทำให้เกิดขนมประจำประเพณี หรือ ประจำเทศกาลขึ้น คือ การทำ “ข้าวต้มลูกโยง”

________________________________________________



 11. พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เห็นถึงความสำคัญของปัญญา เพราะเหตุผลในข้อใด ?

1. ทำให้มีอาชีพที่มั่นคง
2. ทำให้มีทรัพย์สินมาก
3. ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้อื่น
4. ทำให้รู้วิธีแก้ปัญหาที่เกิดจากทุกข์ด้วยเหตุและผล

คำตอบ ข้อที่ 4
ให้นักเรียนจำไว้ว่า ศาสนาพุทธสอนในเรื่องของเหตุและผล ดังนั้น มีเพียงข้อคำตอบเพียงข้อเดียวเท่านั้นที่มีกล่าวถึงเหตุและผล นี้คือหัวใจหลักและความสำคัญของปัญญาครับ

________________________________________________



12. บุโรพุทโธที่ตั้งอยู่บนเกาะชวา สะท้อนข้อมูลตามข้อใด ?

1. พระพุทธเจ้าทรงเคยเสด็จมาประทับที่เกาะชวา
2. ในอดีตพระพุทธศาสนาบนเกาะชวาเคยเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก
3. พุทธศาสนิกชนนิยมเดินทางมาสร้างพุทธสถานที่ใหญ่โตบนเกาะชวา
4. พระสมณทูตจากชมพูทวีปมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรกในสุวรรณภูมิ

คำตอบ ข้อที่ 2
บุโรพุทโธ นั้น เป็นเจดีย์ของพุทธศาสนาที่ใหญ่โตมากดังภาพ ในเกาะชวาครับ ดังนั้นให้นักเรียนจำไว้ว่า การที่ใครคนหนึ่ง ที่ใดที่หนึ่ง จะสร้างถาวรสถานที่ใหญ่โต เช่นนี้ได้ ย่อมมีเพียงเหตุผลเดียวคือ ในช่วงเวลานั้น มีความเจริญทางศาสนาอย่างมากนั้นเองครับ

________________________________________________



13. บุคคลที่มีส่วนสำคัญทำให้อุปติสสะได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าคือใคร ?

1. พระอัสสชิ                      
2. โกณฑัญญะ
3. พระมหากัสสปะ           
4. พระโมคคัลลานะ

คำตอบ ข้อ 1
ในข้อนี้นักเรียนบางคนอาจจะไม่เข้าใจ อธิบายชื่อดังนี้ครับ
อุปติสสะ คือ พระสารีบุตรพบ พระอัสสชิเถระ จึงถามธรรมมีความศรัทธาและเลื่อมใส จึงชักชวน
โกลลิตะบวชในพระศาสนา  โกลลิตะ คือ พระโมคคัลลานะนั้นเองครับ 
หากนักเรียนที่พอรู้แล้ว อย่าสับสนนะครับ เพราะในข้อสอบถามคนชวนอุปติสสะ ไม่ใช่ถามว่าใครชวนโกลลิตะ นะครับ  อีกอย่างคือข้อสอบถามว่าบุคคลที่เป็นส่วนสำคัญ ครับ นั้นคือ ท่านพระอัสสชินั้นเองครับ

________________________________________________



14. ข้อใดเป็นการปฏิบัติตนที่สอดคล้องกับการประพฤติทางกายที่ดีตามหลักกุศลกรรมบถ 10  ?

1. ประภาปล่อยให้ยุงกัดเพราะการฆ่าสัตว์นั้นเป็นบาป
2. สมภพลงโทษสุนัขโดยไม่ให้อาหารและน้ำเป็นเวลา 3 วัน
3. กมลซื้อโทรศัพท์มือสองต่อจากเพื่อนที่ขโมยมาเพราะราคาถูก
4. สินสมุทรเก็บเงินได้จากสนามเด็กเล่นจึงนำไปคืนครูประจำชั้น

คำตอบ ข้อที่ 4
แม้ว่าข้อนี้นักเรียนจะไม่รู้เลยว่า กุศลกรรมบถ 10 คืออะไร แต่นักเรียนก็พอจะเดาคำตอบได้ครับ เดาจากความแตกต่างมากที่สุดของ คำตอบข้อ 1 นั้นไม่ใช่แน่นอน เพราะคือการทรมานตน ไม่ถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า   ข้อที่ 2 ก็คือการทรมานสัตว์ ไม่ใช่เช่นกันครับ  ข้อที่ 3 การซื้อของโดยที่รู้ว่าขโมยมา เป็นทั้งบาปและผิดกฎหมาย ข้อที่ถูกต้องที่สุด และตรงกับคำว่ากุศล จึงมีเพียงสิ่งเดียว คือข้อ 4 การทำความดีนั้นเองครับ

                   คำว่า กรรมบถ (อ่านว่า กำมะบด) แปลว่า ทางแห่งกรรม
                   ที่เป็นกายกรรม มี 3 อย่าง คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
                   ที่เป็นวจีกรรม มี 4 คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
                   ที่เป็นมโนกรรม มี 3 คือ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้าย เห็นชอบตามคลองธรรม
                 (สัมมาทิฐิ)
                   กุศลกรรมบถ ก็คือสุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจนั่นเอง

________________________________________________


15. บุคคลใดต่อไปนี้ทำบุญแบบอามิสทาน ?

1. วิหคให้อภัยเพื่อนที่ทำหนังสือของตนหาย
2. สกุณาติวหนังสือให้เพื่อนก่อนสอบ
3. ปักษีบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
4. ปักษาหมั่นไปถามพระอาจารย์เกี่ยวกับพระธรรมะที่ตนสงสัย

คำตอบ ข้อที่ 3
พิจารณาคำตอบได้ดังนี้ครับ  อามิสทาน คือ การให้ทานด้วยสิ่งของ
                ข้อ 1 อภัยทาน                      ข้อ 2 ธรรมทาน
                ข้อ 3 อามิสทาน                  ข้อ 4 ธรรมทาน

________________________________________________



16. ในฐานะที่นักเรียนเป็นคนไทย สามารถมีส่วนช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ?

1. บวชเณรหรือบวชชีพราหมณ์
2. เป็นอาสาสมัครออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา
3. พิมพ์เผยแผ่ตำราทางพระพุทธศาสนาให้หลากหลายภาษา
4. ศึกษาคำสอนทางพระพุทธศาสนาให้ถ่องแท้และนำไปปฏิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น

คำตอบ ข้อที่ 4
การสืบทอดพระพุทธศาสนานั้นไม่ได้หมายความว่าต้องทำการบวช หรือ ใช้กำลังทรัพย์เสมอไปครับ การศึกษาเพียงคำสอนให้เข้าใจและนำไปปฏิบัติเป็นหนทางที่เหมาะสมที่สุดของทุกคนครับ

________________________________________________


17. บุคคลใดต่อไปนี้ปฏิบัติตนไม่ถูกต้องในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3  ?

1. เง็กตื่นมาตักบาตรแต่เช้าตรู่
2. เม้งชวนเพื่อนๆ ไปเวียนเทียนที่วัดตอนค่ำ
3. เกียวไปฟังพระเทศน์เรื่องโอวาทปาฏิโมกข์
4. กิมไปถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์ที่วัด

คำตอบ ข้อที่ 4
ทุกคนในคำตอบทำได้ถูกต้องทั้งหมด เพราะ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 นั้นคือ วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ข้อที่ผิดคือข้อที่ 4 เพราะ การถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้น ทำกันเฉพาะในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเท่านั้นครับ
จำ! ผ้าอาบน้ำฝน ใช้เวลาฝนตก  ฝนตก พระจำพรรษา วันเข้าพรรษา

________________________________________________


18. การกระทำในข้อใดเป็นวิธีการคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม ?

1. สมหญิงอุทิศร่างกายให้แก่สภากาชาดเพื่อการศึกษาวิจัยก่อนเสียชีวิต
2. สมชายขยันทำงานเพื่อสร้างทรัพย์สมบัติให้ได้มากที่สุด
3. สมโชคเดินทางท่องเที่ยวรอบโลกเพื่อสร้างความสุขให้กับตนเอง
4. สมทรงไม่กระทำการอันใดที่เป็นการสร้างภาระให้กับตนเองและผู้อื่น

คำตอบ ข้อที่ 1
วิธีการคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม เป็นการใช้เหตุผลหรืออุบายเพื่อให้เกิดการกระทำที่เป็นกุศล ในข้อ 2 และ 3 เป็นการสร้างความสุขแก่ตน ไม่ถือว่าเป็นการปลุกเร้าคุณธรรม ในข้อที่ 4 นั้น ก็เป็นเสมือนการก่อภาระแก่ตนเอง และผู้อื่น มิใช่การปลุกเร้าเช่นเดียวกันครับ มีเพียงข้อ 1 เท่านั้น ที่มีการคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม ดังที่กล่าวในข้างต้น เป็นอุบาย ว่าตนเองต้องตาย ก็ทำชีวิตให้มีคุณค่า ปลุกเร้าคุณธรรม การไม่เห็นแก่ตัว การทำคุณประโยชน์ต่อผู้อื่น นั้นเองครับ

________________________________________________


19. การเผยแผ่พระพุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพานที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดคือข้อใด ?

1. การทำสังคายนาครั้งที่ 1
2. การร้อยกรองพระธรรมวินัย
3. การแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
4. การส่งสมณทูตของพระเจ้าอโศกมหาราช

คำตอบ ข้อที่ 4  
เพราะในสมัยพระเจ้าอโศก พระองค์ได้ส่งสมณะทูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทำให้การเผยแผ่เป็นรูปธรรม หรือเห็นได้เด่นชัดที่สุดในสมัยนี้นครับ

________________________________________________


20. ข้อใดแสดงความสัมพันธ์กันได้ถูกต้อง ?

1. วันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
2. วันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
3. วันอัฏฐมีบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
4. วันอาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3

คำตอบ ข้อที่ 2
ให้นักเรียนเข้าดูคำอธิบายอย่างละเอียดใน ทริปจำวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  คลิกที่เมนูด้านบน เลือกติว O-NET เลือกหัวข้อย่อยศาสนา และเลือกทริปครับ

________________________________________________


21. จุดมุ่งหมายของ จิตภาวนาคือข้อใด ?

1. การสวดอ้อนวอนให้บรรลุผล
2. การสร้างความสงบในจิตใจ
3. การมีระเบียบวินัย สำรวมกายวาจา
4. การแผ่ความดีไปสู่มวลมนุษย์

คำตอบ  ข้อที่ 2
ให้นักเรียนพิจารณาตามข้อคำตอบครับ นักเรียนจะเห็นว่า ในข้อ 3 เป็นการรวมทั้งกายและจิต ข้อที่ 4 การเผยแผ่ เป็นการกระทำทางกาย จึงตัดคำตอบนี้ออกครับ เพราะ โจทย์ถาม “จิตภาวนา” คือเรื่องของจิต แต่เพียงอย่างเดียว   จึงจะเหลือ 2 ข้อ คือ ข้อ 1 และ 2 ทั้งนี้ ข้อ 1 นั้น เป็นการภาวนาในความหมายของคนทั่วไป แต่จริง ๆ แล้ว คำว่า ภาวนา นั้นมีความหมายว่าการสำรวจหรือทำให้จิตใจสงบ การอ้อนวอนเป็นไปในลักษณะการมีความทุกข์จึงอ้อนวอน ไม่ใช่การภาวนาที่ถูกต้อง ดังนั้นข้อ 2 ถูกต้องที่สุดครับ

________________________________________________


22. ความเข้าใจในไตรลักษณ์ จะช่วยในการดำเนินชีวิตของเราอย่างไร ?

1. เป็นคนแก่ที่มีคุณภาพ
2. ยิ้มแย้มแจ่มใสมีความเข้าใจกัน
3. ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท
4. ทำใจได้ดั่งคำว่า ใครชอบ ใครชังช่างเถิด

คำตอบ  ข้อที่ 3  
กฎไตรลักษณ์ คือ สิ่งธรรมดาสามัญ 3 สิ่ง คือ  อนิจัง ทุกขัง อนัตตา   คือ ความไม่เที่ยงเที่ยงแท้แน่นอน ล้วนเป็นความทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน  ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอยู่ในสภาพนี้  เมื่อเราทราบว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นเป็นปกติ เราจึงควรดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทครับ

________________________________________________


23. หน้าที่สำคัญของพราหมณ์ ตามหลักศาสนาฮินดูคือข้อใด ?

1. สอนหนังสือ                  
2. ประกอบพิธีกรรม
3. โล้ชิงช้า                          
4. จัดบายศรี

คำตอบ  ข้อที่ 2
หน้าที่ของพราหมณ์ที่สำคัญมี 2 อย่างหลัก ๆ คือ การศึกษาคัมภีร์พระเวท และการประกอบพิธีกรรม นั้นเองครับ

________________________________________________


24. จุดมุ่งหมายในการประกาศบัญญัติ 10 ประการของโมเสสคือข้อใด ?

1. ให้เคารพบิดามารดาของตน
2. มิให้โลภในสิ่งที่ไม่ใช่ของตน
3. อย่าฆ่ามนุษย์เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นบุตรของพระเจ้า
4. สร้างขวัญและกำลังใจให้ชาวยิวมีความอดทนและศรัทธาในพระเจ้าองค์เดิม

คำตอบ  ข้อที่ 4
การมอบบัญญัติ 10 ประการจากพระเจ้า ผ่านศาสนทูต คือ ท่านโมเสก นั้น เป็นช่วงเวลาที่ชาวยิวอยู่ในสภาวะที่ลำบาก และไร้ที่อยู่ ดังนั้นหัวใจสำคัญที่ท่านโมเสกนำโองการจากพระเจ้ามานั้น จึงเป็นการทำให้ชาวยิวที่มีความทุกข์ยากลำบากมีความอดทน มีกำลังใจ และทำให้เกิดความสามัคคี เพราะมีพระเจ้าพระองค์เดียวด้วยกันนั้นเอง ครับ

________________________________________________


25. บุคคลใดย่อมได้รับการยกเว้นในการถือศีลอด ?

1. อารี เป็นหญิงแม่ลูกอ่อน
2. อุทัย อายุไม่ถึง 20 ปี
3. อาทิตย์ เป็นอาสารักษาดินแดน
4. เอื้อมพร ต้องดูแลมารดาที่ป่วยหนัก

คำตอบ  ข้อที่ 1
อธิบายตามข้อมูลนี้ครับ
สำหรับผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถือศีลอด ได้แก่
                   1. คนเจ็บป่วย
                    2. หญิงที่มีประจำเดือน
                    3. หญิงที่ให้นมบุตร แต่หากมีความสามารถ ก็จะถือได้
                    4. หญิงที่ตั้งครรภ์
                    5. คนแก่ชรา ที่ไม่มีความสามารถเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม บุคคลเหล่านี้ต้องจ่ายทาน เป็นข้าวสารวันละ 1 มุด
        (1 มุด ประมาณ 6 ขีด) และสำหรับคนเจ็บป่วย และสตรีที่มี
      ประจำเดือนนั้นให้ถือศีลอดใช้ภายหลังให้ครบก่อนรอมฎอนในปีถัดไป



นักเรียนสามารถดูเฉลยข้อสอบได้ตามลิงค์นี้ครับ 
สำหรับเตรียมสอบ O-NET สังคม หน่วยศาสนา  ป.6   ลิงค์ศาสนา 1   คลิก    ลิงค์ศาสนา 2   คลิก
สำหรับเตรียมสอบ O-NET สังคม หน่วยศาสนา  ม.3   ลิงค์   คลิก  
สำหรับเตรียมสอบ O-NET สังคม หน่วยศาสนา  ม.6   ลิงค์

หรือทดลองทำข้อสอบ O-NET สังคม ย้อยหลังและ PRE-O-NET ได้ตามลิงค์ 
ทำข้อสอบ O-NET สังคม ป.6 ย้อนหลัง   ลิงค์  
ทำข้อสอบ O-NET สังคม ม.3 ย้อนหลัง  ลิงค์

ทำข้อสอบ O-NET สังคม ม.6  ย้อนหลัง  ลิงค์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์