Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : ทำไมคนไทยปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ผล

ทำไมคนไทยปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ผล

รศ.วิทยากร เชียงกูล
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต
วิทยากร ม.รังสิต@facebook.com

พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 อ้างว่ากระจายอำนาจการบริหารการจัด การศึกษา การปรับหลักสูตร, การสอนแบบใหม่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง คิด วิเคราะห์เป็น ฯลฯ มีการจัดสรรงบประมาณการศึกษาราว 20% ของงบของทุกกระทรวง, 4% ของ GDP และตัวเงิน เพิ่มมาโดยตลอด ครูอาจารย์ได้ปรับเงินเดือนหลายครั้ง บวกกับการเพิ่มเงินวิทยฐานะ รวมแล้วสูงขึ้นเกือบเท่าตัว เช่น ครูที่ที่มีเงินเดือน 15,000 บาท ในปี 2544 ได้รับเพิ่มเป็น 24,000-25,000 บาท ในปี 2553 แต่ไม่มีการปฏิรูปกระบวน การเรียนการสอนให้มีคุณภาพทั่ว ทั้งประเทศจริง ผลสัมฤทธิ์การศึกษาไทยโดยเฉลี่ยทั้งประเทศตกต่ำมาตลอด

ปัญหาหลักคือ คนไทยมีวัฒนธรรมเรียนรู้แบบจดจำเนื้อหา และเรียนเพื่อสอบให้ผ่านมากกว่าเรียนแบบวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ นำไปใช้งานแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมได้จริง เป็นกันหมดทั้งนักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ คนจบปริญญาเอกที่เขียนกฎหมาย นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ฯลฯ ชนชั้นนำไทยหลายคนรู้แบบจำหลักการจาก ต่างประเทศมาได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เป็นจริงของประเทศไทยอย่างเจาะลึก มากพอที่จะจับประเด็นใหญ่ได้ว่าปัญหาที่เป็นรากเหง้าของไทยจริงๆ แล้วอยู่ที่ไหน ควรจะประยุกต์อย่างไรจึงจะเหมาะสมกับไทยซึ่งมีลักษณะเฉพาะ

การจะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลจริงต้องมียุทธศาสตร์ มีโครงการเปลี่ยนแปลงการวัด การประเมินติดตาม เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ ไม่ใช่ทำได้แค่การเขียนเป้าหมาย หลักการ กฎหมาย โรดแมพ แผนพัฒนา ฯลฯ แบบสวยๆ เท่านั้น นี่คือประเด็นที่ต้องวิเคราะห์กันว่า ทำไมคนไทยถึงชอบ ทำเสียของ คือปฏิรูปประเทศไม่ได้จริงเหมือนคนอื่น

คนไทยตั้งคณะกรรมการ สภาปฏิรูป ฯลฯ ส่งคนไปดูงานต่างประเทศ จัดประชุมสัมมนาฝึกอบรมกันมาก แต่ไม่ได้ผล เพราะคนที่จะลงมือปฏิรูปคือ นายกฯ คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารและครูอาจารย์ เกือบทั้งหมดมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปการศึกษาน้อย เพราะได้รับการศึกษาแบบเก่า เรียนแบบท่องจำเพื่อสอบ เอาคะแนนและประกาศนียบัตร ติดอยู่ในระบบขุนนางข้าราชการ ที่ทำงานไปตามระเบียบก็ได้ขึ้นเงินเดือนทุกปีอยู่แล้ว ไม่มีใครมาประเมินหรือเลิกจ้าง พวกเขาไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลหรือคุณภาพการจัดการศึกษา

ปัญหาใหญ่คือ สังคมไทยไม่มีระบบ ที่จี้ตรวจสอบ ให้นักการเมืองและข้าราชการผู้บริหารจัดการศึกษาเหล่านี้ต้องรับผิดชอบต่อผู้เรียน ต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่เป็นเจ้าของประเทศและเสียภาษีมาเป็นงบประมาณการศึกษาปีละ 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินเดือนของผู้บริหาร ครูอาจารย์ เสีย 80% ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนเองก็รู้น้อย และแค่อยากให้ลูกหลานมีที่เรียน อยากให้ลูกหลานได้ประกาศนียบัตร/ปริญญามากกว่าได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ แม้จะลงทุนไปมาก เช่น ขายนาส่งลูกไปเรียนมหาวิทยาลัย เรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำ ก็พอใจที่ได้ ถ่ายรูปร่วมกับลูกที่ใส่เสื้อครุยเหมือนเทวดาในงานวันรับปริญญา

ความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษา จะเห็นได้จากวิธีคิดทำงานแบบจำรูปแบบ บางอย่างของต่างประเทศ เช่น การปรับ 14 กรม คณะกรรมการ 5 ชุด กระจายอำนาจสู่เขตการศึกษา การเขียนหลักสูตรที่ดูดี ฯลฯ แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกระบวนการคัดเลือก ผลิตครู และการ ส่งเสริมให้ครูต้องทำงานแบบมืออาชีพ ที่ต้องมีคุณภาพสูง ไม่ได้ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงหลักสูตร, กระบวนการเรียนการสอน, การวัดผล เพื่อสร้างให้ผู้เรียนรักการอ่าน รู้วิธีการเรียน คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น มีความรู้ ทักษะ คุณสมบัติเป็นพลเมืองที่มี คุณภาพในโลกศตวรรษที่ 21 ได้อย่างแท้จริง

ตัวปัญหาคือ ระบบการบริหาร (ทั้งการเมืองและระบบราชการ) แบบขุนนางที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง และใช้อำนาจลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นๆบุคลากรส่วนใหญ่คิดและทำงานแบบขุนนาง ทำตามระเบียบ ตามเจ้านาย เพื่อประโยชน์ (ตำแหน่ง, รายได้) ของตนเอง ไม่ได้รับผิดชอบต่อคุณภาพของผู้เรียน ไม่ได้รับผิดชอบต่อการพัฒนาคุณภาพประชาชน แม้แต่ครูที่มีคุณภาพ ความตั้งใจที่มีอยู่บ้าง ก็ต้องทำงานตามระบบ สอนตามหลักสูตรที่เน้นเนื้อหา บรรยายมาก แต่ได้ผลน้อย ฯลฯ

องค์ความรู้จากงานวิจัย, งานวิเคราะห์ ว่าประเทศอื่นเขาปฏิรูปการศึกษาสำเร็จได้อย่างไรมีอยู่ มีการแปล สัมมนาฝึกอบรม ไปดูงานกันมาก นักวิชาการ ผู้บริหาร การศึกษา เขียนโรดแมพ, แผนพัฒนา, แผนปฏิรูป, ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ ออกมาสวยๆ ว่าปัญหาคืออะไร จะต้องแก้ปัญหาตรงไหน ปฏิรูปกี่ด้าน แต่เวลาลงมือทำจริง ได้แต่ทำงานแบบประนีประนอม แบบข้าราชการที่ค่อยทำไปเรื่อยๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ปัญหาทุจริต โยกย้ายคน ฯลฯไปวันๆ ผู้บริหารระดับนำไม่มีวิสัยทัศน์/ความกล้าที่จะปฏิรูปโครงสร้างแบบฟันธง ผ่าตัดใหญ่ เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปครูอย่างแท้จริง ไปจำรูปแบบคนอื่นเป็นเรื่องๆ เช่น ประเทศอื่นครูเงินเดือนสูง ก็เพิ่มเงินเดือน เพิ่มวิทยฐานะครูที่ส่ง ผลงานวิชาการมาขอตำแหน่งกันใหญ่ แต่ไม่ได้มีการฝึกอบรมครูใหม่ ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, วิธีการสอน, การทำงานของครู ให้ทันสมัยและมีคุณภาพเพิ่มขึ้น ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนตกต่ำ ส่วนทางกับการขึ้นเงินเดือนครู และการเพิ่มงบการศึกษา

ถ้าอยากให้ครูไทยคิดวิเคราะห์เป็น ในการทดสอบความรู้เรื่องการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ PISA ของ OECD ครั้งใหม่ในเดือนสิงหาคมนี้ ควรจะกำหนดให้ทั้งผู้บริหารและครูทั้งประเทศไปเข้าสอบ PISA พร้อมกับนักเรียนด้วยจะได้วัดว่าครูไทยมีความรู้ในวิชาพื้นฐานเรื่องการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่ใช้งานแบบคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ได้อยู่ระดับไหน ถ้าคะแนนออกมาต่ำ ก็จัดฝึกอบรมครูครั้งใหญ่ ให้โอกาสครูในการเรียนรู้ใหม่ เพื่อไปสอบอีกครั้งใน 3 ปีข้างหน้า ถ้าสอบอีกครั้งไม่กระเตื้องขึ้น ควรย้ายไปทำงานธุรการหรือให้ออกไปเลย เหมือนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่มีการจัดสอบความรู้สอบพระทั่วประเทศ รูปไหนไม่มีความรู้จริงก็ให้สึกไป เพราะผู้ไม่มีความรู้พอทำให้เกิดความเสียหายได้มาก ถ้ายังผลิตครูดีๆ ได้ไม่ทัน ใช้วิธีระดมทรัพยากรผลิตตำราหนังสืออ่านประกอบดีๆ มาให้นักเรียน นักศึกษา อ่านด้วยตัวเองได้ ยังจะดีกว่าการจ้าง ครูอาจารย์ที่ไม่ได้ความ


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 

ภาพ  http://www.chiangrai108.com/wp-content/uploads/2014/06/%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2.jpg

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์