Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : สพฐ.พลิกโฉมโรงเรียน มุ่งเป้า ป.1 อ่านเขียนได้

สพฐ.พลิกโฉมโรงเรียน มุ่งเป้า ป.1 อ่านเขียนได้

แต่สิ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นคือ การอ่านหนังสือไม่ออกและเขียนไม่ได้ของนักเรียนนั้นถือเป็นปัญหาสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติคุณภาพการศึกษาของประเทศ
ปัญหาการอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ของเด็กไทยนับวันจะถึงระดับขั้นที่น่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้น ซึ่งต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างมอง และวิเคราะห์กันไปต่าง ๆ นานาว่า สาเหตุของปัญหานั้นมีต้นตอมาจากโน่น นี่ นั่นมากมาย บ้างก็บอกมาจากตัวเด็กเองที่ขาดความสนใจใฝ่เรียนรู้ อาจจะเนื่องมาจากสื่อและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป บ้างก็บอกปัญหานั้นมาจากครูผู้สอนในระดับประถมศึกษาที่สอนไม่เป็น ไม่มีหลักการ ขาดเทคนิควิธีการสอนที่น่าสนใจ เนื่องจากไม่ได้จบตรงวิชาเอกภาษาไทย บ้างก็บอกครูผู้สอนไม่สนใจงานสอน ปล่อยปละละเลยเด็ก บ้างก็บอกโรงเรียนไม่มีระบบรองรับที่จะช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาด้านการอ่านออกเขียนได้โดยเฉพาะ บ้างก็บอกหนังสือเรียนและสื่อการเรียนรู้ภาษาไทยที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร บ้างก็บอกพ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเวลาใส่ใจดูแลบุตรหลานให้อ่านหนังสือหรือทำการบ้าน ซึ่งเหล่านี้เป็นการมองต่างมุมและคิดต่างมิติตามประสบการณ์ของแต่ละคนนั่นเอง
แต่สิ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นคือ การอ่านหนังสือไม่ออกและเขียนไม่ได้ของนักเรียนนั้นถือเป็นปัญหาสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติคุณภาพการศึกษาของประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังมีนักเรียนที่มีปัญหาอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้อยู่อีกเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าทุกท่านคงเห็นพ้องต้องกันว่าการอ่านออกเขียนได้นั้นถือว่าเป็นพื้นฐานและหัวใจสำคัญในการเรียนรู้ในทุก ๆ วิชา ซึ่งหากเด็กคนใดอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาตนเอง และส่งผลถึงการเรียนรู้ในวิชาอื่น ๆ ให้มีปัญหาตามไปด้วย
สิ่งที่ต้องคิดและลงมือทำอย่างเร่งด่วน นั่นคือ ทำอย่างไรที่จะให้เด็กทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษาสามารถอ่านออกเขียนได้ มีความเข้าใจในสิ่งที่อ่านและเขียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาเราได้เห็นกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศนโยบาย “ปี 2558 เป็นปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” ที่กำหนดจุดมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของชาติ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิดวิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักค่านิยม 12 ประการ และมีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียนให้เป็นไปตามเป้าหมายได้นั้น ประเด็นสำคัญในเบื้องต้นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ “การอ่านออกเขียนได้” เพราะถือว่าเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาตนเองและนำไปสู่การเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นต่อไปด้วย
นโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนตั้งแต่วัยเริ่มเรียน นั่นคือ การประกาศให้ปีการศึกษา 2558 “เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อจบ ป.1 ต้องอ่านออกเขียนได้ และมีมาตรการประเมินผลให้เป็นรูปธรรม” เพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน เร่งรัด และพัฒนาการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้เน้นคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยกำหนดเป้าหมายให้นักเรียนทุกระดับชั้นอ่านออกเขียนได้ อ่านคล่องเขียนคล่องและสื่อสารได้ เพื่อเป็นการวางรากฐานสำคัญในการเรียนรู้ในระดับชั้นที่สูงขึ้น ทั้งนี้ เห็นว่าวิธีการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ ตั้งแต่สิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน จัดบรรยากาศการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้นักเรียนสนใจใคร่เรียนรู้ รวมถึงการใช้สื่อนวัตกรรม และวิธีจัดการเรียนการสอนของครูด้วย จึงได้ดำเนินโครงการ “พลิกโฉมโรงเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี”
การดำเนินโครงการมีเป้าหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตระหนักและรับผิดชอบการดำเนินงานตามนโยบาย โดยการคัดเลือกโรงเรียนแกนนำพลิกโฉมโรงเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี ตามแนวทางการพัฒนาการทางสมอง (Brain - Based - Learning) ร้อยละ 6 ของจำนวนโรงเรียนในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งกำหนดเกณฑ์ว่าต้องเป็นโรงเรียนที่ต้องสมัครใจเข้าร่วมโครงการและพร้อมที่จะดำเนินการตามแนวทางที่กำหนด ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันที่จะปรับเปลี่ยนโรงเรียนตามแนวทางพัฒนาการทางสมอง อย่างไม่มีเงื่อนไข และขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษา
สำหรับกิจกรรมการดำเนินงานมีทั้งการอบรมวิทยากรแกนนำ การอบรมทางไกล ผ่านระบบ DLTV และ DLIT มีการติดตามประเมินผล และการส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณ สื่อและอุปกรณ์ที่จะดำเนินการตามแนวทางพลิกโฉมโรงเรียน สำหรับการอบรมวิทยากรแกนนำพลิกโฉมโรงเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปีนั้น กำหนดจัดประชุม 4 ภูมิภาค 5 จุด ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นการอบรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้แนวทางพัฒนาการทางสมอง และจัดนิทรรศการ “กุญแจ 5 ดอก สู่การพลิกโฉมโรงเรียน” ได้แก่ สนามเด็กเล่น ห้องเรียนเปลี่ยนสมอง พลิกกระบวนการเรียนรู้ หนังสือเรียนและใบงาน สื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้
“สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และโรงเรียนดำเนินการพัฒนานักเรียน ป.1 ทุกคน ให้อ่านออกเขียนได้เมื่อจบปีการศึกษา และโรงเรียนแกนนำพลิกโฉมโรงเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี สามารถขยายผลได้ครอบคลุมในเขตพื้นที่การศึกษา” นั่นคือเป้าหมายความสำเร็จของโครงการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การพลิกโฉมโรงเรียนนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคนจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดและจับมือก้าวเดินไปพร้อมกัน ด้วยแรงขับเคลื่อนสร้างพลังความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะสามารถขจัดปัญหาเด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออกและเขียนไม่ได้ให้หมดไปจริง ๆ เสียที.
ฟาฏินา วงศ์เลขา
ที่มา: http://www.dailynews.co.th

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์