แก้ไขเด็กสมาธิสั้นด้วย ศิลปะ
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันปัญหาที่เด็กและเยาวชนส่วนใหม่ประสบมากที่สุด นั้น คงหนีไม่พ้น ปัญหาด้านสมาธิ เหตุใด ครูเดช จึงกล่าวเช่นนี้ ด้วยประสบการณ์ที่ได้พบและเจอนักเรียนมามากมายนั้น ทำให้ครูเดชเอง เห็นว่า ปัญหานี้ มิใช่เรื่องเล่น ๆ ที่เราคิดว่าเป็นเพียงชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น บุตรหลาน ของเราก็สามารถที่จะกลับมาเป็นปกติดังเดิม ความคิดดังกล่าว อาจจะเป็นความคิดที่ผิดไปอย่างถนัดใจ จากการสังเกตการณ์แล้ว ครูเดชเห็นว่า ปัญหานี้กำลังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเยาวชนไทย และสังคมไทยเป็นอย่างมาก
ทราบกันดีอยู่ว่า สื่ออิเล็กทรอนิค เป็นสื่อที่ครองใจเด็กและเยาวชนไทยเป็นอย่างดี ความที่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าได้ง่าย และในปัจจุบัน บางท่านกล่าวยกว่าเป็นเสมือนปัจจัยที่ 5 ก็ว่าได้ ใช่ครับ สื่ออิเล็กทรอนิค พวก ไอโพน ไอเพด และสารพัดเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ ที่เข้ามามีอิทธิพล ครูเดชเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งครับ เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการสังเกตและศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กและเยาวชน เมื่อเราได้ให้พวกเขาได้อยู่กับสื่อโทรทัศน์ เกมส์ และเครื่องมือสื่อสารเป็นระยะเวลานาน
ผลการศึกษา ออกมาเป็นที่น่าตกใจครับ เพราะการที่เราให้เด็กและเยาวชนเข้าคลุกคลีกับสื่อเหล่านี้ ด้วยระยะเวลานาน แม้ว่าความรู้สึกของผู้ปกครองบางท่านที่เห็นว่า สื่อเหล่านี้สามารถทำให้บุตรหลานนิ่งได้ หรือไม่ดื้อไม่ซนได้ เป็นระยะเวลานาน แต่ท่านหารู้ไม่ครับ สิ่งที่เรากำลังนึกและเห็นกันว่า สื่อกำลังช่วยเราในการทำให้เด็กนิ่งขึ้น กลับกลายเป็นว่า สื่อนั้น กำลังขัดขว้างพัฒนาที่เด็กพึ่งมีในช่วงวัยนั้น ๆ ไปอย่างทันทีทันใด

มีนักวิชาการด้านปฐมวัยกล่าวว่า “อย่าให้ทีวีเลี้ยงลูก” ครูเดช เห็นด้วยเป็นอย่างมากครับ ผู้ปกครองทุกท่านพึ่งตระหนักอย่างหนึ่งในดวงใจเสมอว่า แม้ว่าในสภาพสังคมปัจจุบันจะมีความเร่งรีบ อยู่ตลอดเวลา แต่เราต้องไม่เร่งรีบเวลาของบุตรหลานให้ออกจากพัฒนาการที่สมควรแก่วัยของเขาครับ ในช่วงวัยปฐมวัย เป็นช่วงเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ และเรียนรู้ผิดถูก โดยที่ผู้ปกครองควรเป็นเพียงผู้ที่ให้คำแนะนำ ตักเตือน แต่ไม่ควรขวางกั้น เป็นช่วงวัยที่ครูเดช ให้คำนิยามว่า เป็นช่วงวัยแห่งจิตนาการและการซักถาม ครูเดช ไม่เคยปฏิเสธการตอบคำซักถามของลูกศิษย์ กลับกัน ครูเดช กลับมีความสนุกและได้จุดประกายความคิดใหม่ ๆ ตลอดเวลา มองในมุมกลับกัน เด็ก ๆ อาจจะกำลังสร้างเสริมจิตนาการของผู้ใหญ่ ให้เกิดขึ้นอีกครั้งก็ได้ครับ อย่ากลัวและอย่าปฏิเสธ หรือขัดขวางการซักถาม เด็กที่ซักถามมากเท่าไหร่ เด็กคนนั้นยิ่งมีการเรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น
กลับมาที่การปล่อยให้ทีวีเลี้ยงลูกนั้น ในหนังสื่อที่ครูเดช อ่าน ครูเดช เห็นได้ทันทีครับว่า เป็นจริงตามที่ผลการศึกษากล่าวไว้ พัฒนาการที่ช้า และค่อนข้างจะเชื่องช้ากงว่าเด็กในวัยเดี่ยวกันนั้น เกิดจากการที่เราใช้สื่อเหล่านี้ ไปขัดขวางการเล่น ซึ่งเป็นขั้นตอนของการพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก การคลานและเดิน เด็กไม่มีการเคลื่อนไหว เพราะนั่งหน้าจอทีวี หรือจอเครื่องมืออิเล็กทรอนิค พัฒนาการด้านการพูด โต้ตอบ สนทนา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ ตามธรรมชาติของมนุษย์ เราจะเรียนรู้ภาษาโดยการเลียนแบบพ่อแม่ เป็นภาษาแรก คือภาษาพูด การที่เราให้เด็กอยู่หน้าจอทีวีนาน ๆ แม้จะทำให้เด็กไม่ซน และดื้อ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ พัฒนาการด้านการพูด ที่ช้า บางคนอาจจะเรียกว่าเข้าชั้นอนุบาลก็ยังพูดได้ไม่เท่าที่ควร เพราะเด็กขาดการปฏิสัมพันธ์ กับบุคคลแวดล้อม ซึ่งจะเป็นผู้กระตุ้นให้เด็กมีความต้องการสื่อสาร

ครูเดช สนับสนุนให้คุณพ่อ คุณแม่ ได้เลี้ยงดูบุตรหลานด้วยตัวของท่านเองครับ แม้จะเป็นเวลาเพียงไม่นาน แต่ได้เลี้ยงมามีปฏิสัมพันธ์ และที่สำคัญคือ อย่าปล่อยให้ไอเพด ทีวี คอมพิวเตอร์ เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของบุตรหลานมากครับ เริ่มต้นจากตัวของท่านผู้ปกครองเอง ที่จะทำเป็นแบบอย่าง การเลิกเล่น การเลิกใช้เครื่องมือเหล่านั้นทันทีทันใด ก็ไม่ส่งผลดีครับ ท่านผู้ปกครองควรที่จะจัดช่วงเวลา ให้บุตรหลานได้ใช้เวลาในช่วงเวลาอื่น ๆ ในการเรียนรู้ เช่นการเรียนศิลปะ เป็นต้น การจัดระเบียบ นอกจากจะช่วยให้บุตรหลานเป็นผู้ที่มีสมาธิที่ดีขึ้นแล้ว ยังส่งเสริมให้เขาเป็นผู้มีวินัย และมีระเบียบ อันเป็นคุณภาพของบุคคลที่สังคมไทยต้องการครับ
แม้ว่าครูเดช จะมิใช่ครูด้านศิลปะมาโดยตรง แต่ครูเดช นั้น มีความชื่นชอบในศิลปะเป็นอย่างมาก คำว่ามืออาชีพสำหรับครูเดช คงไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นได้ แต่ด้วยการลองผิดลองถูก ในการพัฒนาการเรียนการสอนที่ผนวกเอาความรู้ในด้านศิลปะเข้าด้วยกัน เช่นที่ท่านจะเห็นในภาพที่ประกอบตลอดเนื้อหา เป็นกิจกรรมที่ครูเดช นำมาประยุกต์เข้ากับการส่งเสริมการอ่านและเล่าเรื่องภาษาไทย เนื้อหา “รามเกียรติ์” ในกิจกรรม “แต่งหน้าทศกัณฐ์” หากท่านผู้ปกครองท่านใด ต้องการส่งเสริมความสามารถทางด้านศิลปะ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เสริมสร้างจิตนาการและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมทั้ง ใช้เวลาว่างและแก้ไขปัญหาสมาธิสั้นแล้ว บริการของครูเดช อาจจะเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้น ห้องเรียนครูเดช ยังมีบริการสอนเสริมการบ้าน อีกด้วย หรือท่านผู้ปกครองที่ประสบปัญหา ก็สามารถติดต่อสอบถามมาได้ครับ ครูเดช ยินดีให้คำปรึกษาอย่างสุดความสามารถ ครับ
___________________________________________________________________________________________
เรื่องเล่าเมื่อครั้งเป็นคุณครูสอนพิเศษภาษาไทย
ลูกศิษย์คนแรกของคุณครู
ลูกศิษย์คนแรกของคุณครู เป็นนักเรียนชาย ขอไม่เอยชื่อ คุณครูต้องเดินทางไปสอนที่ตลาดสำเหร่ เป็นนักเรียนชายประถมศึกษาปีที่ ๓ มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาไทย ไม่คล่อง ต้องกล่าวก่อนว่า คุณครูเข้าวงการสอนภาษาไทยในลักษณะการสอนพิเศษนี้ เมื่อปีที่๓ ของการศึกษาที่มหาวิทยาลัย เหตุผลประการแรกคือ ต้องการหารายได้ และฝึกการเรียนการสอน อันเป็นอาชีพและสิ่งที่คุณครูชื่นชอบมากที่สุด เด็กนักเรียนผู้นี้อ่อนมาก เขียนสะกดคำไม่ถูก คุณครูเลยเริ่มหนักใจว่าจะทำการเรียนการสอนได้หรือไม่ เมื่อทำการติดต่อกับผู้ปกครองของนักเรียน วันแรกของการเรียนการสอน ก็เริ่มขึ้น วันแรก ตามข้อกำหนดของคุณครู คือจะต้องมีการทดสอบเสียก่อนว่านักเรียนมีปัญหาอย่างไร โดยใช้แบบทดสอบการพฤติกรรมการใช้ภาษาไทย ทักษะทั้งสี่ด้าน ได้แก่ พูด ฟัง อ่าน เขียน (ท่านผู้สนใจเข้าดูได้ในหน้าบล็อก แบบทดสอบพฤติกรรมการใช้ภาษาไทย โดยที่นำมาแสดงให้ดูนั้นจะเป็น ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ครับ)
เมื่อคุณครูไปถึงที่บ้านของนักเรียนก็ปรากฏนักเรียนชายร่างเล็ก ที่ไม่ดูจะดื้อหรือซนแต่อย่างไร หน้าตาน่ารัก เหมาะกับวัย สิ่งแรกที่คุณครูทำคือการยิ้มให้ ด้วยความเชื่อลึก ๆ ในใจว่า รอยยิ้มชนะทุกสิ่ง และก็จริงตามนั้น รอยยิ้มทำให้เรากลายเป็นคุณครูที่แสนวิเศษสำหรับนักเรียนได้จริง ๆ การประเมินทำไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แม้จะไม่บ่อยมากเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นการทำแบบประเมินที่ไม่เคร่งเครียด คุณครูจึงสอบถามนักเรียนไปอีกหลากหลายเรื่องเพื่อให้คุ้นเคย จนในที่สุดคุณครูก็ทราบแล้วว่าเหตุใดที่ผู้สอนคนเก่าจึงกล่าวว่านักเรียนอ่อนภาษาไทย แท้จริงแล้ว นักเรียนไม่เชิงอ่อนภาษาไทยมากเท่าใด แต่อาจจะเป็เพราะผู้สอนคนเก่าไม่ทำการประเมินนักเรียนก่อนทำการสอน ผู้สอนภาษาไทย ทุกท่านจะต้องจำไว้ข้อหนึ่งว่า ในด้านทักษะทางภาษาไม่ใช่ว่าทุกคน นักเรียนทุกคนจะมีความสามารถเท่ากัน การที่เราไม่ทำการวัดและประเมินผลเสียก่อนย่อมทำให้การเรียนการสอนภาษาไทยมีปัญหา ทั้งผู้สอนและนักเรียน
ในระยะแรกคุณครูก็มีปัญหากับคุณแม่ในเรื่องของการทำแผนการเรียนการสอน โดยมุมมองของคุณแม่ ท่านเห็นว่านักเรียนที่เราสอนนั้นเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ แล้ว การที่เราทำแผนการเรียนการสอนที่ต่ำกว่าระดับ อาจจะไม่สมควรมากนัก แต่เมื่อคุณครูได้พิจารณาในด้านผลการประเมินก็เห็นว่าสมควรจะทำพื้นฐานของนักเรียนให้แน่นเสียก่อน เวลาศึกษาในระดับสูงต่อไป จะได้ไม่มีปัญหา
สิ่งที่คุณครูมีมากกว่าคุณครูสอนพิเศษ หรืออาจจะเรียกว่าติวเตอร์ ก็คือแบบแผนที่มีระบบระเบียบกว่า คุณครูจะมีการทำการประเมินในตอนแรกของการรับงานสอน และจะมีการประเมินผู้สอนในทุกระยะ พร้อมทั้งมีการจัดการทำการทดสอบบทเรียนว่านักเรียนมีความเข้าใจได้ดีหรือไม่ในบทเรียน เป็นระยะ ๆ และทุกครั้งที่คุณครูไปสอนก็จะจัดทำแผนการเรียนการสอน แนบกับผลการเรียนการสอนส่งให้ผู้ปกครองหรือนักเรียนทราบทุกครั้ง ดังนั้น คุณครูจึงยืนยันว่าการเรียนการสอนกับคุณครูมีระบบระเบียบ และสามารถช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจในด้านภาษาไทยได้ดียิ่งขึ้น
จนถึงทุกวันนี้นักเรียนชายประถมศึกษาผู้นี้ก็ได้ผ่านระดับชั้น ไปตามลำดับและมีผลการเรียนด้านภาษาไทยที่ดีขึ้นไปตามลำดับ อาจจะมีคนคิดว่า คงเป็นเพราะคุณครูช่วยในด้านการเรียนการสอน แต่คุณครูอยากจะกล่าวตรงนี้เลยว่า ในการเรียนการสอนภาษาไทยคุณครูใช้การส่งเสริมการอ่าน และจะจัดหาหนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัยให้นักเรียนยืมอ่าน หนังสือเป็นบ่อเกิดที่ทำให้เราเก่งภาษาไทย เขียน อ่าน เก่งและคล่องขึ้น นักเรียนชายคนนี้ด้วยก็เช่นกัน ด้วยรอยยิ้มที่คุณครูมีให้เสมอ และความห่วงใย ไม่เลี้ยงไข้ หวังให้นักเรียนมีทักษะภาษาไทยดีขึ้น แม้ว่าการเป็นคุณครูสอนพิเศษเช่นนี้ในอดีตจะถูกเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้ แต่คุณครูก็ทำให้นักเรียนของครูทุกคนได้มีพัฒนาการที่ดี
สิ่งหนึ่งที่คุณครูยังยึดมั่นเสมอไม่เสื่อมคลาย นักเรียนลูกศิษย์ของครูจะรู้ดีว่า คุณครูไม่ได้สอนเพียงภาษาไทยแต่สอนคุณธรรม จริยธรรม มารยาทไทย และมรดกไทยไปในตัวโดยที่นักเรียนเองก็ไม่รู้ตัว แต่ครูเชื่อว่าสักว่าเมื่อลูกศิษย์ของครูเติบโต จะจำครูได้ ว่าครูสอนอะไร และควรเป็นอะไรให้แก่สังคมไทยครับ
ภาษาไทย มูลเหตุปัญหาที่เยาวชนไทยกำลังเผชิญ
ลูกศิษย์ทราบหรือไม่ครับ ว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับการใช้ภาษาไทยที่ผิดเพี้ยนไป จากประสบการณ์ที่คุณครู ได้สอนนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ๒ –ประถมศึกษา เห็นวานักเรียนไทยในปัจจุบัน มีปัญหาในการใช้ภาษาไทยเป็นอย่างมากครับ ไม่ว่าจะไม่สามารถประสมเสียงสระ ได้ จำสระไม่ได้ อ่านประสมเสียงพยัญชนะกับสระไม่ได้ ตลอดจนไม่สามารถเขียนคำยาก ๆ ได้ หรือเขียนคำเป็นกระบวนประโยคไม่ได้ หรือเขียนได้ไม่ถูกต้อง มูลเหตุปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากสิ่งใด ?
ชาติไทยเป็นเพียงชาติเดียวเท่านั้นทีรอดพ้นจากการตกเป็นเมื่องขึ้นของต่างชาติได้ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าของไทย ที่ทรงปกป้องบ้านเมืองจนไทยเป็นไทในปัจจุบัน ในอดีตคนไทยบางท่านอาจน้อยใจที่เรียนภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างชาติไม่ได้เลย เพราะเราไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ในปัจจุบันด้วยความทันสมัยแห่งเทคโนโลยี และระบบการศึกษาไทยที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้การเรียนภาษาต่างประเทศเป็นไปได้ง่ายและนักเรียน เยาวชนไทยมีโอกาสได้ใช้ภาษาต่างประเทศได้มากขึ้น แต่กระนั้น ความพัฒนาที่รวดเร็วจนเกินไป ส่งผลเสียอย่างมากต่อสังคมไทย และภาษาไทย
นักเรียนไทยเป็นจำนวนมากยังสับสนในการใช้ภาษาไทย ไม่ทราบว่า ฎ (ดอ ชฎา) และ ฏ (ตอ ปฏัก) ต่างกันอย่างไร จากกรณีที่ได้สอนนักเรียน นักเรียนบางคน อ่าน ฎ ชฎา ว่า ชอ ชฎา และยังมีปัญหาในการเขียนอีกมาก ไม่ว่า จะเป็นการจำสับสนระหว่างการเขียนพยัญชนะหัวเข้าด้านในหรือหัวออกด้านนอก ตลอดจนการเขียนเลขไทยไม่เป็น อ่านเลขไทยไม่ออก เขียนเลขไทยไม่ถูก
ปัญหาที่สำคัญของเยาวชนไทยต่อการใช้ภาษาไทยนั้นก็คือการใช้ภาษาต่างประเทศทับศัพท์ในภาษาไทย เช่นกรณีนักเรียนอนุบาล ๒ พูดว่า “ คุณครูได้หนึ่งพอยท์” ซึ่งเป็นการพูดทับศัพท์คำว่าคะแนน เป็นต้น
ใครว่าภาษาไทย คนไทยไม่มีปัญหา อยากจะเรียนให้ท่านทั้งหลายทราบว่า คนไทยนี้แหละที่ใช้ภาษาไทยผิดเพี้ยนไปมากที่สุด บางท่านที่เคยศึกษาด้านภาษาศาสตร์มาบ้าง อาจกล่าวว่า อันเนื่องด้วย ภาษาไทยเป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลยังไม่ตาย เช่นภาษาบาลี ภาษาไทยจึงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ตราบใดที่ภาษายังมีชีวิต จริงอยู่ในประเด็นนี้ คุณครูไม่ขอแย้ง แต่การใช้ภาษาที่ไม่ถนอม แม้เป็นสิ่งของสักวันคงมีวันเสื่อม และชำรุดไปในที่สุด กระผมเห็นว่า การที่มีข้อความแสลง คำพูดแปลก ๆ ของเด็กวัยรุ่น หรือ อื่น ๆ คุณครูรู้สึกดีใจที่ภาษาไทยยังไม่ตาย แต่ประกอบไปด้วยความรู้สึกว่า นับวันภาษาที่ใช้ยิ่งเสื่อมถอย มีอยู่สิ่งหนึ่งที่กระผมไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย คือการที่ ฝรั่งพูดไทยได้ชัดเจน และถูกต้อง หรือเราจะรอวันที่ให้ชาวต่างชาติต่างภาษามาสอนภาษาไทยเราหรือ ?

เหตุใดในที่นี้คุณครูจึงกล่าวเรียก ภาษาอังกฤษ ว่าเป็นภาษาต่างประเทศ ทั้งที่ความเข้าใจของท่านบางท่านเห็นว่าควรใช้ว่า เป็นภาษาที่สอง ต้องเรียนอธิบายว่า ด้วยคำว่าภาษาที่สอง นั้นหมายถึง ภาษาราชการ เช่นในสิงคโปร์ จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ แต่พื้นเพคนในประเทศเป็นคนจีน ดังนั้นจะมีการใช้ภาษาจีน เรียกว่าเป็นภาษาที่ ๑ และภาษาอังกฤษ เรียกว่าเป็นภาษาที่ ๒ เพราะเป็นภาษาบังคับให้เรียนให้พูด เวลาติดต่อราชการ ส่วนในประเทศไทย เราใช้ภาษาไทยกรุงเทพ ฯ เป็นภาษาราชการ ดังนั้น เราจึงไม่เรียกว่าภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เป็นภาษาที่สองในประเทศไทย
เมื่อพูดถึงภาษาอังกฤษ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า คนไทยส่วนมามีปัญหาเวลาพูดถึงภาษาอังกฤษ ด้วยที่คนไทยมักพูดว่า “ภาษาอังกิด” โดยที่แท้จริง แล้ว จะต้องออกเสียง ร เรือ จากกฏทางภาษาศาสตร์ที่ว่า หาก ฤ ร รึ เป็นพยัญชนะ นำหน้าอักษรอื่น ให้อ่านว่า รึ แต่หากเป็นสระ เช่นในคำว่า “อังกฤษ” ให้อ่านว่าตัวริ เท่ากับอ่านคำนี้ว่า อังกริด อ่านควบกล้ำ ร เรือ กับ ก กอไก่
วิธีการสอนภาษาไทยโดยใช้ตำรา “ดรุณศึกษา” ระดับชั้นเตรียมประถมศึกษา
จุดประสงค์ เพื่อให้ผู้สอนภาษาไทยสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการวิธีการเรียนการสอน เพื่อนำไปใช้ในการสอนนักเรียนระดับเตรียมประถมศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ตำราที่ใช้ประกอบ ดรุณศึกษา ชั้นเตรียมประถมศึกษา เล่ม ๑
พื้นฐานของผู้เรียน นักเรียนชั้นเตรียมประถมศึกษา ที่มีทักษะในการจำพยัญชนะได้บ้างแล้ว รวมทั้งสระ ในการเรียนรู้เริ่มต้น ตำราเรียนดรุณศึกษาชั้นเตรียมประถมศึกษานั้น จะยังไม่นำคำศัพท์ภาษาไทยที่มีตัวสะกดเข้ามาประสม มีเพียงการนำตัวพยัญชนะต้นประสมสระและผันเสียงวรรณยุกต์ ซึ่งเป็นการไล่เรียงความยากง่ายของการเรียนรู้ของนักเรียน เพราะนักเรียนช่วงวัยเตรมประถมศึกษา นี้จะออกเสียงคำที่ประสมด้วยพยัญชนะตัวสะกดไม่ได้
พื้นฐานของผู้สอน มีความรู้ความเข้าใจในหลักทางภาษาไทยเป็นอย่างดี เข้าใจและมุ่งแก้ไขปัญหาของผุ้เรียนโดยให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาตามลำดับ ผู้สอนควรให้โอกาสผู้เรียนได้พัฒนาตนเอง ด้วยการเรียนแบบ ตั้งคำถามตอบ และสอดแทรกเนื้อหาคุณธรรมจริยธรรม เพราะการเรียนรู้ที่เก่งเพียงด้านวิชาการ มิใช่สิ่งที่สังคมไทยมุ่งหวังให้เกิดขึ้นเพียงด้านเดียว เยาวชนไทยต้องมีความรู้และคุณธรรมคู่กัน
บทเรียนที่ ๑
หน่วยการเรียนรู้ ดรุณศึกษา ชั้นเตรียมประถมศึกษา บทที่ ๑-๔
แนวทางการสอนและคำแนะนำ
บทเรียนในหน่วยการเรียนรู้แรกนั้น ผู้สอนควรได้ทำการฝึกและทดสอบผู้เรียนด้วยแบบทดสอบพฤติกรรมการใช้ภาษาไทย และทักษะภาษาไทยก่อน เพื่อทำการประเมินว่าผู้เรียนนั้น มีความสามารถหรือบกพร่องอย่างใด แบบทดสอบนี้ผู้สอนสามารถทำขึ้นมาได้เองจากความรู้ความสามารถหรือจากประสบการณ์ของท่าน ทั้งนี้ผู้เขียนได้แนบแบบทดสอบที่ผู้เขียนใช้มาด้วย
การเรียนรู้ภาษาไทยให้ได้นั้น ในลำดับแรก ผู้สอนต้องพิจารณาถึงช่วงวัยของผู้เรียนก่อนเป็นสำคัญ ทักษะทางภาษาไทย ในระดับเริ่มต้นนั้น ผู้เขียนเห็นว่า หากนักเรียนยังมีช่วงอายุที่ต่ำกว่า ๔ ปี ทักษะนี้ ผู้ปกครองเป็นผู้ที่ดีที่สุดในการเพิ่มพัฒนาการด้านทักษะภาษาไทย เพราะผู้ปกครองเป็นผู้ที่เป็นตัวอย่างในการใช้ภาษาที่ดีที่สุด ด้วยความใกล้ชิดและผูกพัน ผู้เขียนจึงไม่ใคร่จะแนะนำให้ผู้สอนเริ่มที่จะเข้าสอนอย่างจริงจังกับผู้เรียนวัยเริ่มต้นนี้ ทั้งนี้ผู้เขียนเองก็ไม่ปฏิเสธว่า การที่ผู้สอนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น จะไม่มีผลดี ผู้เขียนเห็นว่า ในกรณีแรกนั้น ผู้สอนควรเข้าไปช่วยเสริมผู้เรียน ทั้งในด้านทักษะการฝึกจำพยัญชนะ และการพัฒนากล้ามเนื้อ ที่จะทำให้นักเรียนสามารถฝึกคัดลายมือได้ในอนาคต
สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะฝากถึงผู้ปกครองอีกประการหนึ่งที่สำคัญมาก คือการใช้สื่อในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มทักษะทางภาษาไทย ให้ดีขึ้นสำหรับบุตรหลาน วัยช่วงสี่ปีแรก โดยที่สื่อที่ผู้เขียนเห็นอยู่โดยตลอดในยุคสมัยปัจจุบันนั้นก็คือ สื่ออิเล็กโทรนิค หรือการใช้ภาพวีดีโอ รูปภาพที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ในการสอน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องด้วยการที่ช่วงสี่ปีแรก นั้นได้รับสื่อกลุ่มนี้มากจนเกินไป จะทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้นได้ง่าย จริงอยู่ว่าการเรียนการสอนที่นำสื่อพวกนี้มา จะทำให้นักเรียนมีความรู้สึกสนใจมาก แต่กระนั้นหากเราใช้สื่อกลุ่มนี้มากจนเกินไป ก็ย่อมมีผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะสื่อเหล่านี้จะขโมยทักษะทางภาษาและอื่น ๆ ของเด็กไป จนนำไปสู่การมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กปกติทั่วไป หรืออาจจะมีสภาวะสมาธิสั้นในเวลาต่อมา

ผู้เขียนประสบกับเหตุการณ์นักเรียนสมาธิสั้นมามาก และนับวันผู้เขียนยิ่งเห็นว่า ด้วยนโยบายต่าง ๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยี ในการผลิตสื่อการเรียนการสอนกันมากมาย นั้น เป็นเสมือนกระจกสองด้าน ด้านหนึ่งกระบวนการทางการศึกษาของไทยได้มองเห็นว่ามีความพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้ซึ้ง และเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการสร้างสื่อการเรียนการสอนนั้นดีอยู่มาก ตรงที่สื่อมีเข้ามาช่วยลดภาระอันหนักอึ้งของครูผู้สอนให้สามารถทำการเรียนการสอนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนไม่ได้ต่อต้านการใช้เทคโนโลยี เข้ามาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน แต่ผู้เขียนเห็นว่า เราควรจะใช้อย่างถูกวิธี และไม่ควรให้ทั้งหมดของการเรียนการสอนหมดไปกับเทคโนโลยีการศึกษาเพียงอย่างเดียว
วิธีการสอนภาษาไทยโดยใช้ตำรา “ดรุณศึกษา” ระดับชั้นเตรียมประถมศึกษา ตอนที่ 2
ต่อจากตอนที่ ๑
ในมุมกลับกันที่ประเด็นปัญหาเด็กสมาธิสั้นเริ่มมีมากขึ้นนั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นควบคู่กับการมีเทคโนยีอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และเทคโนโลยีเพื่อการบันเทิงที่มีมากขึ้นทุกวัน เราอาจจะเรียกยุคนี้ว่า “ยุครวดเร็วทันใจ” เพราะเพียงปลายนิ้วสัมผัส ก็ได้ในสิ่งที่ต้องการ จึงไม่น่าจะแปลกใจนักกับการที่เด็กในยุคสมัยปัจจุบันมีปัญหาด้านสมาธิสั้นกันเพิ่มมากขึ้น ผู้เขียนเชื่อลึก ๆ ว่าการที่เราปล่อยให้บุตรหลานเสพสื่อหรือมีเวลากับเกมส์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ การดูโทรทัศน์ หรืออื่น ๆ มากจนเกินไปนั้น จะเป็นการกระตุ้นทำให้เกิดอาการสมาธิสั้นมากขึ้น เราควรจัดช่วงระยะเวลาให้เพียงพอและมีขอบข่าย ไม่เพียงแต่เป็นการลดความเสี่ยงจากภาวะสมาธิสั้นแล้ว ยังเป็นผลดีอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้บุตรหลานฝึกสร้างความมีระเบียบวินัยในตนเอง อีกด้วย
ในตำราดรุณศึกษานั้น จะแบ่งหมวดหมู่การเรียนออกเป็นกลุ่มพยัญชนะ ๓ หมวด คืออักษรกลาง สูง และต่ำ ซึ่งการแบ่งกลุ่มพยัญชนะนี้ออกเป็น ๓ หมวดนั้น ผู้เขียนจะยกบทความที่เกี่ยวข้องประกอบเพื่ออธิบายว่าเหตุใด ครูบาอาจารย์ที่เขียนตำราภาษาไทย ท่านจึงแบ่งกลุ่มพยัญชนะออกเป็น ๓ หมวดอักษร และการแบ่ง ๓ หมวดนี้ เป็นการแบ่งตามเสียงของกลุ่มอักษรจริงหรือ ?
เสริมเนื้อหา
ในตำราดรุณศึกษา ชั้นเตรียมประถม ที่กำลังศึกษาอยู่นี้ ก็เริ่มต้นด้วยกลุ่มพยัญชนะ หมวดอักษรกลาง อันประกอบด้วย
-อักษรกลาง ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ
-คำท่อง ไก่ จิก เฎ็ก (เด็ก) ฏาย (ตาย) เด็ก ตาย บน ปาก โอ่ง
ซึ่งบางตำราอาจจะมีวิธีการท่องที่แตกต่างกันออกไป วิธีการท่องจำนี้มิใช่ปัญหา เพียงนักเรียนที่เรียนสามารถท่องจำและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมากยิ่งกว่า
ตามหลักแล้วกลุ่มอักษรกลางนี้ เป็นเพียงกลุ่มอักษรเดียวเท่านั้นที่สามารถผันเสียงวรรณยุกต์ได้ถึง ๕ เสียง นั้นก็คือ เสียงสามัญ (ไม่มีรูป) เสียงเอก (รูปเอก) เสียงโท (รูปโท) เสียงตรี (รูปตรี ) และเสียงจัตวา (รูปจัตวา) ที่ผุ้เขียนเขียนทั้งเสียงและรูปนั้น เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบว่ากลุ่มอักษรกลางนี้ นอกจากสามารถผันเสียงวรรณยุกต์ได้ถึง ๕ เสียงแล้ว ทุกการผันเสียงวรรณยุกต์ อักษรกลางก็สามารถผันเสียงได้ถูกต้องตามเสียงที่ผัน กล่าวคือ ผันเสียงโท รูปหรือเครื่องหมายที่ปรากฏก็เป็นเครื่องหมายหรือรูปไม้โท นั้นเอง (ที่ผู้เขียน กล่าวดังนี้ ผู้อ่านจะเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อผู้เขียนกล่าวถึงกลุ่มอักษรสูงและต่ำ และทั้งสองกลุ่มนี้ ผันเสียงวรรณยุกต์อีกเสียง ลงเครื่องหมายหรือรูปอีกเสียง ซึ่งมีความแตกต่างจากกลุ่มอักษรกลางอย่างมาก )
ในตำราดรุณศึกษานั้น ในช่วงหน่วยการเรียนรู้ที่ ๑-๔ นั้น ยังไม่มีการผันเสียงวรรณยุกต์ มีเพียงการนำพยัญชนะต้น จากลุ่มอักษรกลาง มาประสมสระ โดยมีกลุ่มการนำมาประสมดังนี้
-หน่วยที่ ๑ อักษรกลาง ๙ ตัว ประสมสระเสียงยาว ๔ ตัว โดยตัวสระเสียงยาว ๔ ตัวนั้นคือ สระ อา อี อือ อู
-หน่วยที่ ๒ อักษรกลาง ประสมกับสระเสียงยาว อีก ๔ ตัว โดยเสียงสระยาวทั้ง ๔ ตัวนั้น คือ สระ เอ แอ โอ ออ
-หน่วยที่ ๓ อักษรกลางประสมกับสระเสียงสั้น อีก ๔ ตัว โดยเสียงสระเสียงสั้นทั้ง ๔ ตัวนั้นคือ สระ ใอ(ไม้ม้วน) ไอ (ไม้มลาย) เอา และอำ
-หน่วยที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยสุดท้ายนั้น จะเป็นการสอบซ้อม กล่าวคือการรวบรวมคำศัพท์ที่ได้ศึกษาในหน่วยที่ ๑ -๓ มาทบทวน เพื่อวัดและประเมินผลในลำดับแรกว่า ผู้เรียนมีทักษะที่พัฒนาไปมากน้อยเพียงใด
หากท่านผู้อ่านได้พิจารณาแล้ว ท่านจะเห็นว่า ในคำศัพท์พื้นฐานเหล่านี้ ไม่ได้มีความยากหรือซับซ้อนเลย เป็นคำศัพท์ที่ง่ายและรวดเร็วต่อการเรียนรู้ ประเด็นหนึ่งที่น่าสงสัยและผู้เขียนเองก็มีข้อกังขาไม่แพ้ท่านผู้อ่าน คือ เหตุเหตุตำราดรุณศึกษา จึงมีลักษณะของการเขียนคำศัพท์ของแต่ละบทเป็นลักษณะการเขียนแบบคำศัพท์แต่ละคำ เขียนเว้นวรรคกัน ตลอดเนื้อหา มีบางที่อาจะติดกัน
โดยลักษณะเด่นของภาษาไทย หรือจะเรียกว่าเป็นลักษณะที่ยากแก่ผู้ศึกษาภาษาไทย อีกประการหนึ่ง นั้นก็คือ การที่ภาษาไทย มีลักษณะการเขียนภาษาไทย เขียนรูปประโยค เป็นลักษณะของพลความต่าง ๆ รวบรวมกันอยู่ในวรรคเดียวกัน จนมีความสับสนเกิดขึ้นแก่ผู้ศึกษาโดยทั่วไปว่าคำที่เขียนติดต่อกันนั้น อ่านอย่างไร อาทิ ปลาตากลม ควรที่จะอ่านว่า ปลา –ตา-กลม หรือ ปลา-ตาก-ลม
เพราะความยากของลักษณะการเขียนของภาษาไทยนี้หรือไม่ ที่ทำผู้แต่งตำราเล่มนี้ แยกคำศัพท์ต่าง ๆ แม้ว่าจะรวบรวมแต่งเป็นรูปประโยคแล้วก็ตาม เมื่อผู้เขียนได้ลงสู่การสอนจริง กับนักเรียนที่มีปัญหาด้านภาษาไทย ผู้เขียนเห็นว่า รูปแบบและลักษณะของการเขียนแยกคำนี้ มีทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย แง่ดีที่ว่านี้ คือ ง่ายต่อการอ่านและการจำคำ การออกเสียง และความหมายของผู้เรียน ยาก คือ ผู้สอนเมื่อสอนถึงบทหนึ่ง ที่ผู้เรียนควรที่จะสามารถอ่านจับใจความได้แล้ว กลับมีปัญหาข้อบกพร่องที่ว่า ชินกับการอ่านแบบแยกคำมาโดยตลอด เมื่อต้องพบกับประโยคที่ยาวและมีความต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถอ่านได้ หรืออ่านได้แต่จับใจความสำคัญของประโยคนั้น ๆ ไม่ได้ ปัญหาจึงเกิดขึ้น
แล้วเราควรจะทำเช่นไร เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ที่ผู้เขียนเองก็ประสบเช่นเดียวกัน ?
เมื่อผู้เขียนพิจารณาจากตำราเรียนดรุณศึกษาแล้ว แม้ว่าจะมีข้อด้อยประการที่ว่า ตำรามีการเขียนแยกคำศัพท์ แต่หากมองในแง่ดีแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าผู้เรียนส่วนมากได้ประโยชน์จากการอ่านแบบนี้ แต่กระนั้น ผู้เขียนเองก็พิจารณาอยู่เนื่อง ๆ ว่า ปัญหาที่ผู้เรียนจะประสบนั้น ย่อมมีเช่นกัน ผู้เขียนจึงไมได้ใช้เพียงตำราดรุณศึกษาเพียงอย่างเดียวในการเรียน แต่ใช้ตำราอื่น ๆ หรือบทความอ่านอื่น ๆ ประกอบด้วยเสมอ
การเรียนการสอน ของครูภาษาไทย ในบางบริบทอาจจะไม่ได้มีความหมายว่าจะต้องตรงในเนื้อหาหลักสูตรเสมอไป ผู้เขียนเห็นว่า ความสำคัญของภาษาไทย คือครูผู้สอนจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนไม่เหนื่อยและเบื่อในการเรียน และจะทำอย่างไรให้ประเด็นปัญหาภาษาไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ลดทอนปัญหาลง บ้าง
ในบทที่ ๑-๔ ของตำราเรียนภาษาไทย ดรุณศึกษา ชั้นเตรียมประถมศึกษา นี้ รูปแบบการเรียนการสอน ของผู้เขียน จะไม่เน้นเพียงการอ่านออกเสียงให้มีความชัดเจน หรือการจำคำศัพท์ได้เพียงอย่างเดียว แต่คือการอ่าน เขียน จำและเข้าใจความหมายของคำศัพท์นั้น ๆ ผู้เขียนประสบปัญหานี้มาเช่นเดียวกัน เมื่อได้ทำการเรียนการสอนภาษาไทย นั้นคือการที่ผู้เรียนสามารถอ่านออก เขียนได้ จำรูปสระ วรรณยุกต์ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่เมื่อย้อนถามถึงความหมายของคำ กลับไม่สามรถตอบได้ ลักษณะปัญหาประการนี้ ผู้เขียนเรียกว่า “การท่องนะโม”
“การท่องนะโม” คือสภาวการณ์ที่ผู้เรียนไม่สามารถเข้าใจความหมายของคำศัพท์นั้นๆ ได้ แต่สามารถอ่าน เขียน และจำรูปแบบของ