เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : วิธีการสอนภาษาไทยโดยใช้ตำรา “ดรุณศึกษา” ระดับชั้นเตรียมประถมศึกษา ตอนที่ 1
ผู้เขียน ครูเดช สุรเดช ภาพันธ์ ประสบการณ์การสอนและแก้ไขปัญหาภาษาไทย แก่นักเรียนระดับเตรียมประถมศึกษา-ประถมศึกษา มากกว่า 4 ปี และเป็นเจ้าของศูนย์ภาษา
ปรึกษาปัญหาการแก้ไขปัญหาภาษาไทย e-dej@hotmail.com 084-014-7717
วิธีการสอนภาษาไทยโดยใช้ตำรา
“ดรุณศึกษา” ระดับชั้นเตรียมประถมศึกษา
จุดประสงค์
เพื่อให้ผู้สอนภาษาไทยสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการวิธีการเรียนการสอน
เพื่อนำไปใช้ในการสอนนักเรียนระดับเตรียมประถมศึกษา
เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ตำราที่ใช้ประกอบ ดรุณศึกษา ชั้นเตรียมประถมศึกษา เล่ม ๑
พื้นฐานของผู้เรียน นักเรียนชั้นเตรียมประถมศึกษา
ที่มีทักษะในการจำพยัญชนะได้บ้างแล้ว รวมทั้งสระ
ในการเรียนรู้เริ่มต้น ตำราเรียนดรุณศึกษาชั้นเตรียมประถมศึกษานั้น
จะยังไม่นำคำศัพท์ภาษาไทยที่มีตัวสะกดเข้ามาประสม
มีเพียงการนำตัวพยัญชนะต้นประสมสระและผันเสียงวรรณยุกต์
ซึ่งเป็นการไล่เรียงความยากง่ายของการเรียนรู้ของนักเรียน
เพราะนักเรียนช่วงวัยเตรมประถมศึกษา
นี้จะออกเสียงคำที่ประสมด้วยพยัญชนะตัวสะกดไม่ได้
พื้นฐานของผู้สอน
มีความรู้ความเข้าใจในหลักทางภาษาไทยเป็นอย่างดี
เข้าใจและมุ่งแก้ไขปัญหาของผุ้เรียนโดยให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาตามลำดับ ผู้สอนควรให้โอกาสผู้เรียนได้พัฒนาตนเอง
ด้วยการเรียนแบบ ตั้งคำถามตอบ และสอดแทรกเนื้อหาคุณธรรมจริยธรรม เพราะการเรียนรู้ที่เก่งเพียงด้านวิชาการ มิใช่สิ่งที่สังคมไทยมุ่งหวังให้เกิดขึ้นเพียงด้านเดียว
เยาวชนไทยต้องมีความรู้และคุณธรรมคู่กัน
_____________________________________________________________________________________________
บทเรียนที่ ๑
หน่วยการเรียนรู้ ดรุณศึกษา
ชั้นเตรียมประถมศึกษา บทที่ ๑-๔
แนวทางการสอนและคำแนะนำ
บทเรียนในหน่วยการเรียนรู้แรกนั้น ผู้สอนควรได้ทำการฝึกและทดสอบผู้เรียนด้วยแบบทดสอบพฤติกรรมการใช้ภาษาไทย
และทักษะภาษาไทยก่อน เพื่อทำการประเมินว่าผู้เรียนนั้น
มีความสามารถหรือบกพร่องอย่างใด
แบบทดสอบนี้ผู้สอนสามารถทำขึ้นมาได้เองจากความรู้ความสามารถหรือจากประสบการณ์ของท่าน
ทั้งนี้ผู้เขียนได้แนบแบบทดสอบที่ผู้เขียนใช้มาด้วย
การเรียนรู้ภาษาไทยให้ได้นั้น
ในลำดับแรก ผู้สอนต้องพิจารณาถึงช่วงวัยของผู้เรียนก่อนเป็นสำคัญ ทักษะทางภาษาไทย
ในระดับเริ่มต้นนั้น ผู้เขียนเห็นว่า หากนักเรียนยังมีช่วงอายุที่ต่ำกว่า ๔ ปี
ทักษะนี้ ผู้ปกครองเป็นผู้ที่ดีที่สุดในการเพิ่มพัฒนาการด้านทักษะภาษาไทย
เพราะผู้ปกครองเป็นผู้ที่เป็นตัวอย่างในการใช้ภาษาที่ดีที่สุด ด้วยความใกล้ชิดและผูกพัน
ผู้เขียนจึงไม่ใคร่จะแนะนำให้ผู้สอนเริ่มที่จะเข้าสอนอย่างจริงจังกับผู้เรียนวัยเริ่มต้นนี้
ทั้งนี้ผู้เขียนเองก็ไม่ปฏิเสธว่า การที่ผู้สอนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น
จะไม่มีผลดี ผู้เขียนเห็นว่า ในกรณีแรกนั้น ผู้สอนควรเข้าไปช่วยเสริมผู้เรียน
ทั้งในด้านทักษะการฝึกจำพยัญชนะ และการพัฒนากล้ามเนื้อ
ที่จะทำให้นักเรียนสามารถฝึกคัดลายมือได้ในอนาคต
สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะฝากถึงผู้ปกครองอีกประการหนึ่งที่สำคัญมาก
คือการใช้สื่อในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มทักษะทางภาษาไทย ให้ดีขึ้นสำหรับบุตรหลาน
วัยช่วงสี่ปีแรก โดยที่สื่อที่ผู้เขียนเห็นอยู่โดยตลอดในยุคสมัยปัจจุบันนั้นก็คือ
สื่ออิเล็กโทรนิค หรือการใช้ภาพวีดีโอ รูปภาพที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา
ในการสอน
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
เนื่องด้วยการที่ช่วงสี่ปีแรก นั้นได้รับสื่อกลุ่มนี้มากจนเกินไป
จะทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้นได้ง่าย
จริงอยู่ว่าการเรียนการสอนที่นำสื่อพวกนี้มา
จะทำให้นักเรียนมีความรู้สึกสนใจมาก แต่กระนั้นหากเราใช้สื่อกลุ่มนี้มากจนเกินไป
ก็ย่อมมีผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะสื่อเหล่านี้จะขโมยทักษะทางภาษาและอื่น ๆ
ของเด็กไป จนนำไปสู่การมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กปกติทั่วไป
หรืออาจจะมีสภาวะสมาธิสั้นในเวลาต่อมา