Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : กาพย์ห่อโคลง ของไทย

กาพย์ห่อโคลง ของไทย

กาพย์ห่อโคลง   กาพย์ห่อโคลงเป็นลักษณะของคำประพันธ์ ที่แต่งกาพย์สลับกับโคลง โดยที่นิยมมากคือ กาพย์ยานี ๑๑ กับ โคลงสี่สุภาพ ทั้งกาพย์และโคลงต้องมีเนื้อความอย่างเดียวกัน มี ๓ ลักษณะคือ
๑. แต่งกาพย์ยานี ๑๑ หนึ่งบท กับ โคลงสี่สุภาพหนึ่งบท สลับกันไป 
๒. แต่งโคลงสี่สุภาพ กับ กาพย์ยานี ๑๑ หนึงบท สลับกันไป 
๓. แต่งโคลงสี่สุภาพ หนึ่งบท กับ กาพย์ยานี ๑๑ หลายบท พรรณาข้อความไปเรื่อยๆ
แบบที่ ๓ นี้ นิยมแต่งเป็นบทเห่เรือในพิธีกระบวนเสด็จทางชลมารค เลยมีอีกชื่อว่า กาพย์ห่อโคลงเห่เรือ หรือ กาพย์เห่เรือ ผู้คิดค้น คือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง 
กาพย์เห่เรือนี้ เป็นที่นิยมต่อมาแพร่หลาย มีสารพัดจะเห่ชม เช่น เห่ชมกระบวนเรือ เห่ชมปลา เห่ชมไม้ เห่ชมนก เห่เรื่องกากี เห่บทสังวาส เห่ครวญ เห่เฉลิมพระเกียรติ เห่สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย เห่ชมเครื่องคาว เห่ชมเครื่องหวาน เห่ชมเครื่องว่าง เห่ชมผลไม้ เห่ชมสวน เห่ชมโฉม เห่ชมพระนคร เห่ชมชายทะเล เห่ชมดอกไม้ ฯลฯ สารพัดจะเห่จะชมกันเข้าไป
พูดถึงกาพย์ห่อโคลงแล้วก็ต้องสอนโคลงประกอบ ที่จริงเรื่องของโคลงนั้น มีมากมาย โคลงมีด้วยกันทั้งหมด ๒๑ ชนิด แต่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่โคลงสี่สุภาพ เพราะเป็นที่นิยมมากที่สุด
จะแต่งโคลงสี่สุภาพธรรมดาให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ให้ยึดโคลงพระลอบทนี้ไว้

                                          เสียงลือเสียงเล่าอ้าง    อันใด (พี่เอย)
                                     เสียงย่อมยอยศใคร           ทั่วหล้า 
                                     สองเขือพี่หลับไหล            ลืมตื่น (ฤาพี่)                                    
                                     สองพี่คิดเองอ้า                 อย่าได้ถามเผือ ฯ
ลักษณะบังคับของโคลง
๑. บทละ ๔ บาท บาทละบรรทัด แบ่งเป็น ๒ วรรค 
วรรคหน้า ๕ คำ วรรคหลัง ๒ คำ ยกเว้นบาทสุดท้ายวรรคหลังมี ๔ คำ (เขียนติดกัน) เฉพาะบาทแรกและบาทที่ ๓ มีคำสร้อยได้ ๒ คำ (เขียนแยกกัน)
๒. บังคับคำเอก ๗ แห่ง คำโท ๔ แห่ง 
เฉพาะวรรคแรกบาทแรก (เท่านั้น) คำเอกคำโทสลับที่กันได้ 
อย่างไรก็ตาม คำเอกสามารถใช้คำตายแทนได้
๓. สัมผัส ๓ แห่ง คือ 
คำท้ายวรรคหลังบาทแรก สัมผัสคำท้ายวรรคแรกบาท ๒ และสัมผัสคำท้ายวรรคแรกบาท ๓ 
คำท้ายวรรคหลังบาท ๓ สัมผัสคำท้ายวรรคแรกบาทสุดท้าย
                                           o o o 1 2.........o o (o o)
                                        o 1 o o o............1 2 
                                        o o 1 o o.............o 1 (o o) 
                                        o 1 o o 2.............1 2 o o
ตรงที่เป็น 1 คือเสียงเอก คือมีรูปวรรณยุกต์ไม้เอก เช่นจากโคลงพระลอได้แก่... เล่า ย่อม ทั่ว พี่ ตื่น อย่า 
เราสามารถใช้เสียงตายแทนเสียงเอกได้ เช่นจากโคลงผีเสื้อชมดอกไม้ได้แก่... ดอก แผด ปีก
ตรงที่เป็น 2 คือเสียงโท คือมีรูปวรรณยุกต์ไม้โท เช่นจากโคลงพระลอได้แก่... อ้าง หล้า อ้า ได้
                                                                 กาพย์
กาพย์ คือคำประพันธ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีกำหนดคณะ พยางค์ และสัมผัส มีลักษณะคล้ายกับฉันท์ แต่ไม่นิยม ครุ ลหุ เหมือนกับฉันท์
กาพย์ แปลตามรูปศัพท์ว่า เหล่ากอแห่งกวี หรือ ประกอบด้วย คุณแห่งกวี หรือ คำที่กวี ได้ร้อยกรองไว้
กาพย์มาจากคำว่า กาวฺย หรือ กาพฺย    และคำ กาวฺย หรือ กาพฺย มาจากคำ กวี 
กวีออกมาจากคำเดิม ในภาษาบาลี และสันสกฤต คือ กวิ  แปลว่า ผู้คงแก่เรียน ผู้เฉลียวฉลาด ผู้มีปัญญาเปรื่องปราด 
ผู้ประพันธ์กาพย์กลอน   คำ กวิ หรือ กวี มาจากรากศัพท์เดิม คือ กุธาตุ แปลว่า เสียง ว่าทำให้เกิดเสียง ว่าร้อง ร้องระงม คราง ร้องเหมือนเสียงนก หรือเสียงแมลงผึ้ง

กาพย์ ตามความหมายเดิม มีความหมายกว้างกว่าที่เข้าใจกัน ในภาษาไทย คือ บรรดาบทนิพนธ์ ที่กวีได้ ร้อยกรองขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โคลง ฉันท์ กาพย์ หรือ ร่าย นับว่าเป็นกาพย์ ทั้งนั้น แต่ไทยเราหมายความแคบ คือหมายความถึง คำประพันธ์ชนิดหนึ่ง ของกวีเท่านั้น
กาพย์มีลักษณะผิดกับกลอนธรรมดา คือ
๑. วางคณะ พยางค์ และสัมผัสคล้ายกับฉันท์ 
๒. ใช้แต่งปนกับฉันท์ได้ และคงเรียกว่า คำฉันท์ เหมือนกัน
กาพย์ที่นิยมใช้อยู่ในภาษาไทย มี ๕ ชนิด คือ
๑. กาพย์ยานี ๑๑ 
๒. กาพย์ฉบัง ๑๖ 
๓. กาพย์สุรางคนางค์ มีอยู่ ๓ ชนิด คือ กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ สุรางคนางค์ ๓๒ และ สุรางคนางค์ ๓๖ 
๔. กาพย์ห่อโคลง 
๕. กาพย์ขับไม้ห่อโคลง
กาพย์ เป็นคำประพันธ์ที่มีลักษณะคล้ายฉันท์ มีกำเนิดมาจากคัมภีร์วุตโตทัยของบาลีและสันสกฤต เช่นเดียวกับฉันท์ แต่ไม่บังคับ ครุ ลหุ จึงได้รับความนิยมในการใช้แต่งเป็นอย่างมาก ใช้แต่งวรรณคดีทั้งเรื่อง หรือแต่งกับคำฉันท์ หรือแต่งกับ
โคลงสี่สุภาพ เป็น กาพย์ห่อโคลง และ กาพย์เห่เรือ หรือใช้แต่งกล่อมช้าง เรียกว่า กาพย์ขับไม้
กาพย์ยานี มีจำนวนคำในแต่ละวรรคเท่ากับอินทรวิเชียรฉันท์ คือ ๑๑ คำ เพียงแต่กาพย์ยานีไม่มีบังคับ ครุ ลหุ และมีตำแหน่งสัมผัสนอกคล้ายกลอน ยกเว้นตำแหน่งคำสุดท้ายวรรครองกับคำที่สามวรรคส่ง ที่ไม่บังคับสัมผัส แต่คนส่วนใหญ่ เป็นนักกลอนมาก่อน จึงมักใส่สัมผัสตำแหน่งนี้ให้ด้วยซึ่งก็ทำให้กาพย์ยานีมีความสละสลวยมากขึ้น
                        กาพย์ยานีลำนำ              สิบเอ็ดคำจำอย่าคลาย
                วรรคหน้าห้าคำหมาย               วรรคหลังหกยกแสดง 
                ครุลหุนั้น                              ไม่สำคัญอย่าระแวง
                สัมผัสต้องจัดแจง                   ให้ถูกต้องตามวิธี
                                                          (หลักภาษาไทย: กำชัย ทองหล่อ)



ที่มาจาก : thaigoodview.com

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1