Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : ข้อความ

ข้อความ


ในระดับข้อความ นักภาษาศาสตร์ศึกษาวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างประโยคเพื่อพิจารณาว่า อะไรเป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่าประโยคต่างๆนั้นสื่อความเรื่องเดียวกันอยู่ เมื่อพิจารณากลุ่มประโยค ๒ กลุ่มต่อไปนี้ จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันในแง่ของความเป็น "เรื่อง" หรือ "ข้อความ"
          ๑. สมศรีเป็นนักเรียนตัวอย่างของโรงเรียนนี้เธอเป็นเด็กฉลาดและมีความขยันหมั่นเพียร เธอมาโรงเรียนแต่เช้าทุกวัน เมื่อมาถึงเธอจะนั่งอ่านหนังสือ ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว หรือไม่เธอก็อ่านล่วงหน้าไปก่อนที่อาจารย์จะสอน
          ๒. สมศรีเป็นนักเรียนตัวอย่างของโรงเรียนนี้สุนัขสองตัววิ่งไล่กันในสนาม ประตูเปิดเวลาแปดนาฬิกา ถ้าฝนตกรถจะติด ที่นี่อาหารราคาไม่แพง  มีคนมาสมัครเป็นจำนวนมาก ผู้หญิงคนนั้นสอนภาษาไทย เด็กๆ มาแต่เช้า
          ประโยคในกลุ่มที่ ๑ มีความสัมพันธ์กันสื่อความต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน
          ประโยคในกลุ่มที่ ๒ ไม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ถึงแม้จะมีหลายประโยคก็ไม่ได้สื่อความเป็นเรื่อง หรือเป็นข้อความ
         นักภาษาศาสตร์กล่าวว่า สิ่งที่บอกให้รู้ว่าประโยคต่างๆ มีความสัมพันธ์กันและสื่อข้อความเป็นเรื่องเดียวกัน ประการหนึ่งคือ การอ้างอิงถึงกันและกัน ซึ่งส่วนมากแล้วประโยคที่ตามหลังมักจะอ้างอิงถึงประโยคที่นำมาก่อน ดังในประโยคกลุ่มที่ ๑ คำว่า "เธอ" ในประโยคที่ตามมาล้วนอ้างอิงถึง "สมศรี" ในประโยคแรกทั้งสิ้น "เธอ"ทำให้ผู้อ่าน (ผู้รับสาร) ทราบได้ว่าข้อความในประโยคต่างๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "สมศรี" คำว่าโรงเรียน" ก็มีใช้ ๒ ครั้งเป็นการย้ำบอกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ "โรงเรียน" นอกจากนี้คำว่า "นักเรียน" "โรงเรียน" "หนังสือ" "อาจารย์" "อ่าน""สอน" ก็ล้วนเป็นคำที่มีความสัมพันธ์กันในแง่ที่ว่าเป็นกลุ่มคำที่มักใช้ในบริบทของการเรียนการสอนในโรงเรียน และที่สำคัญมีคำเชื่อมความ "และ" "หรือไม่" บอกให้รู้ว่าข้อความในประโยคต่างๆ เหล่านี้เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน
          ส่วนประโยคในกลุ่มที่ ๒ ไม่มีคำสรรพนามที่จะใช้อ้างอิงถึงคำนามในประโยคที่นำมาและไม่มีคำเชื่อมความระหว่างประโยค ทั้งคำศัพท์ที่ใช้ก็ไม่มีความสัมพันธ์กัน ประโยคทั้งหมดจึงไม่มีข้อความที่เกี่ยวเนื่องกัน และไม่สามารถสื่อความเป็นเรื่องได้
          แรกทีเดียว "ภาษาศาสตร์" เป็นการศึกษาวิเคราะห์ถึงธรรมชาติและองค์ประกอบต่างๆ ของภาษาดังได้กล่าวมาแล้วนี้ แต่ต่อมานักภาษาศาสตร์ได้ขยายวงการศึกษาออกไป เนื่องจากนักภาษาศาสตร์สังเกตเห็นว่า คนในสังคมเดียวกันใช้ภาษาต่างกัน และคนๆ เดียวกันก็ใช้ภาษามากมายหลายแบบ หลายลีลา แตกต่างกันไปตามบริบท และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร ในที่สุดการศึกษาถึงความแตกต่างของภาษาในสังคมเดียวกันก็ได้กลายเป็นภาษาศาสตร์แขนงใหม่ที่เรียกว่าภาษาศาสตร์เชิงสังคม (Sociolinguistics)ส่วนการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของภาษานั้นมีมานานแล้ว แต่ภายหลังเมื่อเกิดมีทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ขึ้น ผู้ที่ศึกษาถึงวิวัฒนาการของภาษาก็ได้นำทฤษฎีภาษาศาสตร์ไปใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลง และเรียกการศึกษาแขนงนี้ว่าภาษาศาสตร์เชิงประวัติ (Historical linguistics)การศึกษาถึงพัฒนาการการเรียนรู้ภาษาของเด็กและการเรียนภาษาที่สอง ในปัจจุบันนับเป็นส่วนหนึ่งของภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา (Psycholinguistics)ภาษาศาสตร์แขนงต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีวิธีการศึกษาวิเคราะห์ภาษาและการตั้งคำถามที่แตกต่างกันไปวิธีการศึกษาวิเคราะห์ภาษาในด้านเสียง คำประโยคและข้อความ ของนักภาษาศาสตร์ที่ยกตัวอย่างมานี้ก็แตกต่างไปจากวิธีการของนักภาษากลุ่มอื่น เช่นอาจารย์ภาษาไทย ทั้งนี้เป็นเพราะนักภาษาศาสตร์ตั้งคำถามที่แตกต่างไป โดยทั่วไปนักภาษาศาสตร์มักศึกษาวิเคราะห์ภาษาเพื่อหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า "มนุษย์เรียนรู้ภาษาได้อย่างไร?" "มนุษย์ใช้และเข้าใจภาษาอย่างไร? " ต่างจากอาจารย์ภาษาไทยซึ่งมักจะถามว่า "ใช้ภาษาอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม?"
         จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า นักภาษาศาสตร์ (linguist) คือผู้ที่ศึกษาและวิเคราะห์ภาษาอย่างเป็นระบบ โดยใช้ทฤษฎีทางภาษา ผู้ที่เป็นนักภาษาศาสตร์จึงเป็นผู้ที่รู้ทฤษฎีทางภาษา และสามารถวิเคราะห์ภาษาใดๆ ก็ได้โดยไม่ต้องเป็นผู้ที่สามารถพูดภาษานั้นๆ ได้ และนักภาษาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่รู้หลายภาษา ต่างจากผู้ที่สามารถพูดได้หลายๆ ภาษา (polyglot) ซึ่งอาจไม่รู้ทฤษฎีภาษา และไม่สามารถวิเคราะห์ภาษาตามแนวของภาษาศาสตร์ได้



ขอบคุณที่มา สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 22

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1