Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : เรียนวิทยาศาสตร์ไปทำอะไร

เรียนวิทยาศาสตร์ไปทำอะไร

คมชัดลึก :" เรียนวิทยาศาสตร์จบแล้วไปทำอะไร ? " คือคำถามยอดฮิตที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองมักจะถาม พอๆกับคำกล่าวที่ว่า พัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นคำกล่าวที่มักจะได้ยินอยู่เสมอ
          วันนี้ ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อาสามาไขข้อข้องใจ ผ่าน "คมชัดลึก" ว่า จริงๆแล้ว วิทยาศาสตร์นั้นมีความสำคัญกับประเทศมากน้อยเพียงใด
          ดร.สุพจน์อธิบายว่า ครอบครัวคือหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม ดังนั้นหากต้องการสังคมโลกเป็นอย่างไร จะต้องเริ่มสร้างจากสังคมครอบครัวเช่นเดียวกันหากเราต้องการ วัสดุที่มีสมบัติใดๆ เช่น นำไฟฟ้าได้ ทนการกัดกร่อนได้ ป้องกันไฟได้ ปลดปล่อยสารที่ต้องการได้ หยุดยั้งการทำงานของเชื้อโรคได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง เรียนรู้อะตอม หรือ โมเลกุล ซึ่งประกอบขึ้นจากอะตอม หรือเข้าใจลึกลงไปถึงพฤติกรรมของโปรตอน นิวตรอน และอิเล็กตรอน ที่ประกอบกันขึ้นเป็นอะตอม เพราะเป็นหน่วยที่เล็กและที่สำคัญที่สุดที่เป็นตัวกำหนดสมบัติและการทำงานของอวัยวะและของวัตถุสิ่งของ ซึ่งคนที่รู้จักพวกนี้ก็คือนักวิทยาศาสตร์นั่นเอง

          ดังนั้นผู้ที่เรียนจบวิทยาศาสตร์แล้วจะไปเป็น ครู-อาจารย์ รวมไปถึงการเข้าสู่อาชีพด้านบุคลากรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารงานด้านการศึกษาตามหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ หรือเป็น นักวิทยาศาสตร์: ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯและกระทรวงที่ต้องใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ ทดสอบ และตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสอบการปนเปื้อน หรือตรวจสอบความเป็นพิษต่าง ๆ เพื่อการใช้ในประเทศและส่งออกเช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
          งานด้านพิสูจน์หลักฐาน: อีกงานที่ต้องการนักวิทยาศาสตร์มากขึ้นเพราะนับวันคดีความต่าง ๆ จะมีความซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ลึกซึ้งมากขึ้น จะสามารถนำไปช่วยแก้ปัญหาด้านอาชญากรรมได้มากขึ้น ดังจะเห็นได้ในหลาย ๆ คดีว่า เก็บเส้นผมได้เส้นเดียว หรือเศษผิวหนังในเล็บมือได้ ก็สามารถคลี่คลายคดีได้ เป็นต้น
          อาจารย์ในมหาวิทยาลัย: คณะวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เช่น แพทย์ วิศวะ เภสัช ทันตะฯ รับอาจารย์ที่จบสาขาวิทยาศาสตร์เข้าทำงานมากขึ้น อีกแหล่งงานคือ กลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ซึ่งได้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฎ ราชมงคลและมหาวิทยาลัยเอกชน มีความต้องการอาจารย์(ปริญญาเอก) ด้านวิทยาศาสตร์สูงมากนักวิจัยในสถาบันวิจัยชั้นสูง: ตัวอย่างเช่นนักวิจัยในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งปัจจุบันมีนักวิจัยที่จบทางด้านวิทยาศาสตร์กว่า 3000 คนและเชื่อว่าในอนาคต จะมีสถาบันวิจัยลักษณะเช่นนี้ ทั้งภาครับและเอกชน เพิ่มมากขึ้น
          รวมทั้งภาคเอกชน: โรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างจะเป็นตลาดใหญ่เพราะโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นภาคการผลิตทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นโรงงาน ด้านเกษตร อาหาร สิ่งทอ พลาสติก น้ำมัน อิเล็กทรอนิค เป็นต้น ล้วนต้องการนักวิทยาศาสตร์เพื่อทำหน้าที่ดูแลคุณภาพ ดูแลสภาพแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งนี้รวมถึงสถานพยาบาล ต่าง ๆ ด้วย
          "เพื่อแก้ปัญหาเด็กไทยอ่อนวิทย์จึงได้จัดโครงการตลาดวิชาวิทยาศาสตร์ (Science for All) คณิตศาสตร์ แต่ละวิชาจะมีคณะทำงานเพื่อจำแนกและกำหนดเนื้อหาแต่ละหัวข้อย่อยวิชาละ 100 หัวข้อ โดยครอบคลุมเนื้อหา ม. ปลาย และปี 1 จากนั้นจะเสาะหาครู อาจารย์ นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่มีทักษะการสอนวิทยาศาสตร์เข้าใจ เนื้อหาวิชามากกว่าการทำข้อสอบได้ มาจัดทำเป็นวิดีทัศน์การสอนลงระบบ online ภายใน3 ปี ให้ครู นักเรียนเข้ามาอ่านได้ เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาเด็กไทยอ่อนวิทย์ได้ในระดับหนึ่ง"  ดร.สุพจน์กล่าว
          อย่างไรก็ตามในอนาคตรัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพื่อให้เกิดศูนย์วิจัย ศูนย์บริการ หรืออุตสาหรรมขนาดใหญ่ของภาครัฐหรือเอกชนในระดับที่เป็นศูนย์กลาง (hub) ระดับภูมิภาคหรือระดับโลก เช่นการตั้งโรงงานอิเล็คทรอนิคส์ขนาดใหญ่  การจัดตั้งและลงทุนด้าน life science center  หรือhealth science center ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล


          รวมทั้งการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์  ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา แต่ละโครงการฯจะแหล่งงานขนาดใหญ่ที่ต้องการนักวิทยาศาสตร์โครงการละหลายพัน หรือเป็นหมื่นคนและจะมีอุตสาหกรรมและการจ้างงานด้านอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย ถึงตรงนี้น้องๆที่กำลังจะแอดมิชชั่นส์คณะวิทยาสตร์คงมีคำตอบให้กับตัวเองแล้ว


ขอขอบคุณที่มา : คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1