Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : สาระสำคัญและผลการดำเนินการของแผนพัฒนาฯ แต่ละฉบับ

สาระสำคัญและผลการดำเนินการของแผนพัฒนาฯ แต่ละฉบับ

แผนพัฒนเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑(พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๙) 
      

    ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๔  ประเทศไทยประสบปัญหาความยากจนและการขาดแคลนบริการพื้นฐานต่างๆ  ดังนั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ช่วงคือ ช่วงแรกระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๔ -  ๒๕๐๖ และ ช่วงที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๐๗ - ๒๕๐๙ จึงได้มุ่งเน้นเน้นที่จะเร่งรัดการเจริญเติบโตทาง เศรษฐกิจ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมและส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนเป็นพิเศษ และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น  การคมนาคมขนส่ง การพลังงาน และการชลประทานฯลฯ เพื่อให้มีส่วนสนับสนุนการลงทุนด้านอุตสาหกรรม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

         สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญๆ ในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๖ ดังนี้

          - ยกระดับอัตราการเพิ่มของรายได้ประเทศจากร้อยละ ๔ เป็นร้อยละ ๕ ต่อปี และรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ต่อปี (ซึ่งเดิมเพิ่มไม่ถึงร้อยละ ๒ ต่อปี) และเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรร้อยละ ๓ ต่อปี และทางอุตสาหกรรมและเหมืองแร่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒ ต่อปี
          - เพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้าเฉลี่ยร้อยละ ๔ ต่อปี
          - เพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก  ๑๓๘,๐๐๐ กิโลวัตต์ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็น ๓๗๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖
          - ก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินใหม่ ๑,๐๐๐ กิโลเมตร และปรับปรุงถนนที่มีอยู่ให้ได้มาตรฐาน ๑,๐๐๐ กิโลเมตร ฯลฯ

          ในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้มีการระบุอย่างชัดเจนในแผนพัฒนาฯ ว่า จะเร่งก่อสร้างเขื่อนภูมิพลให้แล้วเสร็จในปี  พ.ศ. ๒๕๐๖ และเร่งปรับปรุงพัฒนาระบบการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในพระนคร ธนบุรี และจังหวัดใกล้เคียง เร่งก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินในจังหวัดสำคัญๆ  ขยายการผลิตน้ำประปาในกรุงเทพฯ เร่งขยายโทรศัพท์ขึ้นอีก ๒๐,๕๐๐  เลขหมาย โดยได้มีการกำหนดงบพัฒนา (ซึ่งมาจากงบประมาณแผ่นดิน เงินกู้ และเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ) จำนวนมากและมีสัดส่วนสูงสำหรับการพัฒนาสาขาคมนาคมและขนส่ง สาขาพลังงาน และสาขาการเกษตรและสหกรณ์ ในวนของสาธารณสุขได้กำหนดเป้าหมายที่จะสร้างโรงพยาบาลภาคเพิ่มขึ้น ๒ แห่ง โรงพยาบาลอำเภอ ๖ แห่ง พัฒนาสถานีอนามัยชั้น ๒ เป็นชั้น ๑ ปีละไม่ต่ำกว่า ๑๐ แห่ง รวมทั้งเร่งการผลิตแพทย์และพยาบาลเพิ่มขึ้น และเน้นเรื่องการป้องกันและปราบปรามโรคติดต่อสำหรับด้านการศึกษาได้มีการระบุไว้ในแผนว่าจะส่งเสริมการอาชีวศึกษาเป็นพิเศษ ส่วนรายละเอียดแผนงานโครงการได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ให้เป็นหน้าที่ของสภาการศึกษาแห่งชาติ

          ผลการดำเนินการในช่วงแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ ปรากฏว่าเป็นไปด้วยดี โดยเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๖.๔  ต่อปี สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ รายได้ต่อบุคคลเพิ่มสูงกว่าเป้าหมาย ในขณะที่การพัฒนาบริการพื้นฐานต่างๆ เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นกิจการต่างๆ ให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และกิจการด้านการเงินการธนาคาร ดังนั้น จึงได้มีการปรับปรุงเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ ระยะที่ ๒ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น

          - ยกระดับอัตราเพิ่มรายได้เป็นร้อยละ ๖ ต่อปปี และรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๓ ต่อปี
          - ให้การสะสมทุนเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ ๑๙ของรายได้ประชาชาติ
          - ปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความมั่นคง โดยกระจายการผลิตในกิจกรรมประเภทต่างๆ ให้กว้างขวางขึ้น
และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อลดปัญหาด้านการกระจายรายได้และความยากจน
          - ขยายขอบเขตโครงการพัฒนาจากเดิมที่จำกัดเฉพาะภาครัฐบาลกลาง ให้ครอบคลุมภาครัฐวิสาหกิจและส่วนท้องถิ่น

          ผลการดำเนินการปรากฏว่า ส่วนใหญ่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในแผน เช่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๙) เฉลี่ยปีละ ๘.๑ ต่อปี รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๑ ต่อปี ผลิตผลด้านการเกษตรและด้านอุตสาหกรรมขยายตัวถึงร้อยละ ๖.๑ และ ๑๑.๒ ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น มีส่วนช่วยทดแทนการนำเข้าได้เป็นจำนวนมาก และทำให้โครงสร้างสินค้าเข้า-สินค้าออกเปลี่ยนไป เพราะเดิมก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๓ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่  ข้าว ยางพารา ไม้สัก และดีบุก ในปี พ.ศ.  ๒๕๐๙ สินค้าส่งออกได้กระจายไปสู่พืชและสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น ส่วนการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมีสัดส่วนลดลง โดยมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุนเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้มีสัดส่วนสูงขึ้น
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๔) 
          จากผลของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ ก็ยังมีการขาดแคลนบริการพื้นฐานทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องขยายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อไปขณะเดียวกันก็จะเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาและสาธารณสุข เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ กับการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เพื่อลดปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สร้างความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนั้น

          ดังนั้น แผนพัฒนาฯฉบับที่ ๒ จึงมุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป และปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์และชัดเจนขึ้น โดยเน้นการเจริญเติบโตที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสังคม โดยเพิ่มการพัฒนาสังคม สาธารณูปการ การสาธารณสุขและการศึกษา และไว้ในแผนพัฒนาฯ  ด้วย และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แผนพัฒนาฯ  ทุกฉบับก็ใช้คำว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็ยังมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

          สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญๆ ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๒ มีดังนี้

          - ให้เศรษฐกิจขยายตัวใอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๘.๕ ต่อปี และรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕ ต่อปี
          - ให้มูลค่าผลผลิตด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐.๙ ต่อปี และสัดส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ ๑๓.๖
ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในปี พ.ศ. ๒๕๑๔และให้มูลค่าผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๔.๓ ต่อปี
          - ให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ๘.๑ ต่อปี และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ ๙.๓ ต่อปี
          - ขยายการมีงานทำและพัฒนาฝีมือแรงงานในระดับต่างๆ  ให้มีคุณภาพสูงขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาระบบสังคมให้ก้าวหน้าและมีความเสมอภาคมากขึ้น
          - สร้างอาคารสงเคราะห์สำหรับผู้มีรายได้น้อย ปีละ ๗๖๐ ครอบครัว
          - เปิดเขตพัฒนาชุมชนให้ครบทุกอำเภอในภาคใต้ และร้อยละ ๖๐ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
          - ปรับปรุงโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค ๘๔แห่ง ยกระดับโรงพยาบาล ๓ แห่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำภาค
          - รับนักเรียนเพิ่มขึ้นจาก ๕.๒๙ ล้านคนเป็น ๖.๓๕ ล้านคน เร่งผลิตครู อาจารย์เพิ่มขึ้น ๔๙,๗๗๐ คน
          - ขยายคณะและภาควิชาในมหาวิทยาลัยเพื่อให้รับนักศึกษาเพิ่มขึ้น ๑๐,๓๐๐ คน
          ในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๔) ได้เกิดเหตุการณ์หลายอย่าง ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนา เช่น การถอนกำลังทหารจากเวียดนาม และการลดรายจ่ายทางด้านการทหารของสหรัฐอเมริกา การลงทุนจากต่างประเทศลดลง เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศ ทำให้รายได้จากการส่งออกของไทยลดลง ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๓ ต่อปี (ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในแผนร้อยละ ๘.๕ ต่อปี)  มูลค่าผลิตผลภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มต่ำกว่าเป้าหมาย คือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๓.๗ และ ๑๐.๑ ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่า สินค้าออกและสินค้าเข้าก็ต่ำกว่าเป้าหมายเช่น  ส่วนปัญหาเรื่องการกระจายรายได้และความยากจน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

          อย่างไรก็ตาม บริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการคมนาคมและขนส่ง พลังงาน โทรศัพท์ และประปา กระจายครอบคลุมพื้นที่สำคัญๆ มากขึ้นในขณะที่เด็กมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น โดยสามารถรับนักเรียนทุกระดับชั้นได้ถึง ๖.๔ ล้านคนหรือเพิ่มขึ้น ๑.๘ ล้านคน มีการจัดตั้งและปรับปรุงสถานีอนามัยชั้น ๑ เพิ่มขึ้น ๗๖ แห่ง ทำให้สามารถให้บริการด้านสาธารณสุขได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๑๙) 
          ในการวางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ ได้มีการกำหนดทิศทางและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกแทนการนำเข้า และยกระดับรายได้ของประชาชน รวมทั้งสนับสนุนการมีงานทำ และแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรซึ่งสูงกว่าร้อยละ ๓.๒ ตลอดจนเน้นขยายการศึกษาและการสาธารณสุขให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการบรรจุนโยบายประชากรไว้ในแผนพัฒนาฯ
          สำหรับเป้าหมายที่สำคัญๆ ในแผนพัฒนาฯ  ฉบับที่ ๓ มีดังนี้

          - ให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๗.๐ต่อปี โดยมูลค่าผลผลิตด้านอุตสาหกรรมเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ ๘.๐ ต่อปี และด้านเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๕.๑ ต่อปี
         - ให้สาขาไฟฟ้าและประปาเพิ่มร้อยละ ๑๕ต่อปี การก่อสร้างเพิ่มร้อยละ ๖.๕ ต่อปี
         - ลดอัตราการเพิ่มของประชากรจากร้อยละ๓.๒ ต่อปี เหลือร้อยละ ๒.๕ ต่อปีโดยสนับสนุนการวางแผนครอบครัวแบบสมัครใจ ซึ่งจะมีส่วนทำให้รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ ๔.๕ ต่อปี
          - ยกระดับการมีงานทำ โดยเพิ่มการจ้างงานแก้ไขปัญหาการว่างงาน ฯลฯ

          ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ผันผวนหลายประการ เช่น การที่สหรัฐอเมริกาลดค่าเงินดอลลาร์ ทำให้ไทยต้องลดค่าเงินบาทในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ วิกฤตการณ์น้ำมันในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศเพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง
          ผลของการพัฒนาในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ ปรากฏว่า เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำกว่าเป้าหมายคือ ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๖.๕ รายได้เฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓.๕ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเช่นกัน และจากภาวะฝนแล้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ และ พ.ศ. ๒๕๑๙ ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตร แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะยังคงขยายตัวสูงในตอนต้นแผน แต่วิกฤตน้ำมันและการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบนำเข้าทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงปลายแผนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ ๕.๕ ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงคือ เฉลี่ยร้อยละ ๑๐.๘ ต่อปี การว่างงานในช่วงกลางของแผนสูงถึง ๘๐๐,๐๐๐ คนส่วนการแก้ปัญหาการกระจายรายได้และความเจริญยังไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะปัญหาการว่างงานและประชากรยังคงเพิ่มในอัตราสูง บริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมยังคงรวมกันอยู่ในส่วนกลาง และยังมีปัญหาด้านคุณภาพของบริการ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงและขยายตัวมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม มีบางเรื่องที่ประสบผลสำเร็จพอสมควร เช่น การคมนาคมและขนส่งซึ่งกระจายเชื่อมโยงระหว่างแหล่งผลิตกับตลาดกว้างขวางยิ่งขึ้น เสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศดีขึ้น ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศก็อยู่ในระดับสูง การท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกยังมีแนวโน้มค่อนข้างสดใส
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๔) 
          ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๑๙ ได้เกิดปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อ และการว่างงานอย่างกว้างขวาง รวมทั้งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับสถานการณ์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ จึงได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการวางแผนพัฒนาใหม่จาก การวางแผนแบบการจัดสรรทรัพยากร (Allocative Plan)เป็น  แผนแบบชี้ทิศทางหรือชี้นำ (Indicative Plan) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและความคล่องตัว ซึ่งผู้บริหารและหน่วยปฏิบัติสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนงาน โครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและทรัพยากรที่มีอยู่

          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ มีจุดเน้น ๒  ประการ คือ

          ประการแรก มุ่งที่จะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้มั่นคงในช่วง ๒ ปีแรกของแผน ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งชะลออัตราเพิ่มของประชากรต่อไป

          ประการที่ ๒ เร่งทำการฟื้นฟู บูรณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ และแร่ธาตุเพื่อให้เป็นรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว


          สำหรับเป้าหมายที่สำคัญๆ ของแผนพัฒนาฯ  ฉบับที่ ๔ มีดังนี้

          - ให้เศรษฐกิจขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ๗.๐ ต่อปี มูลค่าผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๐ ต่อปี และนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๗ ต่อปี
          - ลดอัตราการเพิ่มของประชากรให้เหลือร้อยละ ๒.๑ ต่อปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ซึ่งจะทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ
๔.๖ ต่อปี
          - ให้การลงทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๗.๒ต่อปี ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ๒.๒ ล้านคน
          - รักษาระดับเงินเฟ้อ ไม่ให้สูงเกินร้อยละ๖.๐ ต่อปี
          - เสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยลดความเหลื่อมล้ำทางราย-
ได้และทางสังคม ฯลฯ

          ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ ปรากฏว่าเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย เพราะต้องพึ่งพิงแหล่งพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้องใช้จ่ายเพื่อซื้อน้ำมัน วัตถุดิบ และเครื่องจักรเพิ่มขึ้นมาก ก่อให้เกิดการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละเกือบ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลประมาณร้อยละ ๖.๓ ของผลิตผลรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ ๑๑.๖ ต่อปี นอกจากนี้ยังเกิดวิกฤตการณ์ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน เช่น กรณีการล้มของบริษัทราชาเงินทุน เป็นต้น

          อย่างไรก็ดี ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔  ปรากฏว่า เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย คือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีสาขาที่เพิ่มสูงขึ้นคือ สาขาเหมืองแร่ ก่อสร้างคมนาคมขนส่ง และประปา ทั้งนี้เพราะรัฐทุ่มเทการลงทุนเป็นจำนวนมาก ส่วนสาขาที่ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายคือ สาขาเกษตร ทั้งนี้เป็นเพราะความจำกัดของที่ดิน และความเสื่อมโทรมของที่ดิน แหล่งน้ำ ส่วนสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายเช่นกัน ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ถึง ๖๐๐,๐๐๐ คน และยังโยงไปถึงปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในสาขาเกษตรและที่อยู่ในชนบทที่ห่างไกล ผู้ที่อยู่ในสาขาเกษตกรซึ่งมีจำนวนมาก มีรายได้ต่ำกว่าผู้อยู่ในสาขาอุตสาหกรรมเกือบ ๕ เท่าตัวประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงหนือมีรายได้ต่างจากคนในกรุงเทพฯ เพิ่มจาก ๖.๙ เท่าตัว ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็น ๗.๕ เท่าตัว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔

          สำหรับการพัฒนาด้านสังคม ปรากฏว่า มีบางเรื่องทำได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้คือ สามารถลดอัตราการเพิ่มของประชาชนใน ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เหลือเพียงร้อยละ ๒.๒ ส่วนการพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุขยังคงมีปัญหาด้านคุณภาพของบริการ และยังไม่สามารถกระจายได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่ยากจนและห่างไกล
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๒๙) 
          จากการที่ประเทศไทยได้ทำการพัฒนามาแล้ว ๒๐ ปี ปรากฏว่าเศรษฐกิจขยายตัวค่อนข้างสูงรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้น การผลิตมีการกระจายตัวอย่างกว้างขวางทั้งภาคเกษตรอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม บริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมขยายตัวกว้างขวางขึ้น แต่ ปรากฏว่ายังคงมีปัญหาสำคัญๆ หลายประการ  เช่น เรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเกินตัวทั้งของภาครัฐบาลและเอกชน โครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ปัญหาสังคม และปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้น ในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๕ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาประเทศเป็น แนวใหม่ เช่น

          -  แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๕ เป็นแผนนโยบายที่ยึดพื้นที่เป็นหลักในการพัฒนาและมีลักษณะทั้งในเชิงรับและเชิงรุก
          -  เน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศเป็นพิเศษพร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแต่ละด้าน  และยอมให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่สูงนัก แต่ต้องอยู่ในระดับที่จะไม่ก่อ ให้เกิดปัญหาการว่างงาน
          - เน้นความสมดุลในการพัฒนา โดยมุ่งเน้นการกระจายรายได้และการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค การกระจายการถือครองทรัพย์สิน และการสร้างความเป็นธรรมในสังคม
          - เน้นการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทล้าหลัง เพื่อให้คนในชนบทอยู่ในฐานะพออยู่-พอกิน มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ สามารถช่วยเหลือตนเองได้

          สำหรับเป้าหมายสำคัญๆ  ในแผนพัฒนาฯ  ฉบับที่ ๕ มีดังนี้

          - ให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๖.๖  ต่อปี โดยภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๕ และ ๗.๖  ต่อปีตามลำดับ ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๒.๓ ต่อปี
          - ให้ดุลการค้าขาดดุลเฉลี่ยไม่เกินปีละ ๗๘,๔๐๐ ล้านบาท และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยไม่เกินปีละ ๕๓,๐๐๐  ล้านบาท
          - ลดอัตราการเพิ่มของประชากรไม่ให้เกินร้อยละ ๑.๕ ในปี ๒๕๒๙ และลดอัตราการไม่รู้หนังสือให้เหลือร้อยละ ๑๐.๕  ของประชากร
          - ขยายการศึกษาทุกระดับเพื่อรับนักเรียนเพิ่มคือ ระดับก่อนประถมศึกษาให้ได้ร้อยละ ๓๕.๔ ของประชากรในกลุ่มอายุมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษาร้อยละ ๔๘.๓, ๓๐.๙ และ ๔.๘ ของประชากรในกลุ่มอายุ
          - ขยายบริการการป้องกันโรคให้ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมายร้อยละ ๗๐ และขจัดปัญหาการขาดโปรตีนแคลอรีของเด็กทารกและเด็กก่อนวัยเรียนระดับ3 ให้หมดไป
          - ลดปัญหาอาชญากรรมความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ ให้ต่ำกว่า ๗๕ราย ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน
          - แก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทล้าหลังโดยเร่งเพิ่มผลผลิตให้เพิ่มขึ้นอีกโดยเฉลี่ยร้อยละ ๒ ต่อปี เร่งขยายและ
กระจายบริการทางด้านการศึกษาและสาธารณสุข เช่น จัดหาหนังสือประกอบการเรียนและจัดระบบบริการสาธารณสุข
มูลฐานให้ทั่วถึงใน ๒ ปี จัดบริการทางโภชนาการแก่เด็กและหญิงมีครรภ์๒.๒ ล้านคน

          สำหรับการพัฒนาในเชิงรุก ได้กำหนดเรื่องสำคัญที่จะดำเนินการคือ

          - เร่งพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ให้เป็นที่ตั้งอุตสาหกรรมหนักอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ครบวงจร เพื่อเป็นการกระจายความเจริญ และเป็นฐานที่สำคัญในการเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
          -  เร่งพัฒนาการเกษตรในเขตเกษตรก้าวหน้า โดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิตแทนการขยายพื้นที่เพาะปลูกเร่งกระจายการผลิต และส่งเสริมให้เอกชนลงทุนด้านการผลิตในเขตเกษตรก้าวหน้า
          - เร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยใช้มาตรการทางภาษีและสิ่งจูงใจต่างๆ เพื่อส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออก และการกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ส่วนภูมิภาค เพื่อกระจายรายได้และความเจริญไปสู่พื้นที่ต่างๆ  ทั่วประเทศ

          ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวอีก ค่าเงินดอลลาร์ผันผวนและราคาน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในช่วงของแผนพัฒนาฯ  ฉบับที่ ๕ ประกอบกับประเทศอุตสาหกรรมใช้นโยบายกีดกันทางการค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ เศรษฐกิจขยายตัว เพียงร้อยละ ๕.๔ ต่อปี เพราะการผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรม การลงทุนและการส่งออกต่ำกว่าเป้าหมาย และเกิดการว่างงานประมาณ ๑ ล้านคนในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่รัฐบาลไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพ มีการกำหนดนโยบายและมาตรการทางด้านการเงินการคลังที่ถูกต้อง เช่น  การลดค่าเงินบาท การณรงค์เพื่อการประหยัดใช้ของไทย และร่วมใจส่งออกฯลฯ ประกอบกับการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ส่งผลทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจมาได้ด้วยดี นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ ๒.๙ ส่วนการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทล้าหลัง ก็สามารถช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป้าหมายได้เป็นอย่างดี ในขณะที่สามารถลดอัตราการเพิ่มของประชากรใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้คือ  เหลือร้อยละ ๑.๗ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙

         อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาบางประการโดยเฉพาะอย่างยื่งที่ดิน ๙๙.๘ ล้านไร่ ที่ยังขาดความอุดมสมบูรณ์ไม่เหมาะกับการเกษตร มีปัญหาเรื่องการบุกรุกทำลายป่า และประชาชนใน ๓,๘๒๔ หมู่บ้าน ยังขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และ ๑๒,๖๗๘ หมู่บ้าน ยังมีปัญหาเรื่องน้ำกิน - น้ำใช้  นอกจากนี้ มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนเงินออม ทำให้จำเป็นต้องพึ่งทรัพยากรจากต่างประเทศมาลงทุน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาเรื่องหนี้สิน ส่วนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายเพราะรัฐบาลจำเป็นต้องจำกัดขนาดของการลงทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลังต่อไป

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๓๐ - ๒๕๓๔) 
          ในช่วงของการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ ปรากฏว่า ประเทศไทยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลายประการ ซึ่งมีสาเหตุมาจากทั้งเหตุการณ์ภายนอกประเทศและภายในประเทศดังที่กล่าวแล้วในตอนต้น ดังนั้น ในการวางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ จึงมุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การรักษาระดับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่ำร้อยละ ๕ ต่อปี เพื่อรองรับกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้น และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเร่งพัฒนาสังคม โดยเร่งพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งการเสริมสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมที่ดีงาม คือ ใช้ศาสนธรรมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตใจโดยการเน้นเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และค่านิยมพื้นฐาน ๕ ประการ เป็นหลัก ได้มีการกำหนดแนวทางที่สำคัญ ๓ แนวทางคือ ๑) การเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาประเทศ ๒) การปรับปรุงระบบการผลิต การตลาดและคุณภาพปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และ ๓) การกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภูมิภาคและชนบท โดยเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพี่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่

          ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดแผนงานหลักรวม ๑๐ แผนงาน เพื่อสนับสนุนแนวทางดังกล่าวข้างต้นและให้ความสำคัญต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการในรูปของแผนงานและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

          อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มมีการดำเนินการตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ ปรากฏว่า สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นเกิดคาด เช่น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับนโยบายและมาตรการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเงินการคลังของรัฐบาลบังเกิดผลในทางปฏิบัติทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และ ๒๕๓๑ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๙.๕ และ ๑๓.๓  ตามลำดับ ปัญหาการว่างงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกลับกลายเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและช่างอุตสาหกรรม บริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจขาดแคลน ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงมีการปรับปรุงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ ใหม่ โดยมี วัตถุประสงค์ที่สำคัญ ๒ ประการคือ

          - เร่งรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับสูง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
          - มุ่งให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจกระจายออกไปในภูมิภาคต่างๆ  อย่างต่อเนื่องและแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้และ
ความยากจนของประชาชนทั้งนี้ ได้มีการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญๆในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๔ ไว้ดังนี้
          - ให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๗.๕ต่อปี และรักษาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ให้เกินร้อยละ ๔ ของผลผลิตรวม
          - เร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยหาทางลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและขยายความสัมพันธ์กับต่างประเทศเพื่อขยายการส่งออก
          - เร่งพัฒนาระบบบริการพื้นฐาน โดยแยกเป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทางด้านการขนส่งทางน้ำและทางอากาศ และปู
พื้นฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวให้เพียงพอกับความต้องการ
          - เร่งผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงานเช่น ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ช่างเทคนิค และครู-อาจารย์ในสาขาวิชาช่าง ฯลฯ

          ผลการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖  ปรากฏว่า ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในหลายด้าน โดยเพาะอย่างยิ่ง การลงทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๒๐.๒ และเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๑๐.๙ การส่งออกขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ ๒๕.๗ ต่อปี ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ทั้งนี้เป็นเพราะมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยทั้งภายในและภายนอกประเทศ รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนต้นแผน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการกำหนดให้ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และ ๒๕๓๑ เป็นปีท่องเที่ยวไทยและปีศิลปหัตถกรรมไทยตามลำดับ ฐานะการเงินการคลังของประเทศยังมีเสถียรภาพ การว่างงาน เหลือเพียงร้อยละ ๐.๖ ของกำลังแรงงาน ปัญหาหนี้สินต่างประเทศเริ่มผ่อนคลายลงคือ สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้จากการส่งออกลดจากร้อยละ  ๒๐.๖ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เหลือร้อยละ ๑๐.๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ ๕ ต่อปี
          อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าประเทศไทยยังคงมีปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ เพราะกลุ่มคนยากจน ๒๐ เปอร์เซนต์สุดท้าย มีสัดส่วนรายได้ลดลง การพัฒนาและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ๆ

         นอกจากนี้ ช่องว่างระหว่างการออมกับการลงทุนยังขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ ๘.๕ ของผลิตผลรวม ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดปัญหาหนี้สินต่างประเทศ บริการพื้นฐานยังไม่เพียงพอคือมีลักษณะเป็นคอขวดซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขยายตัว และทวีความรุนแรงมากขึ้น พื้นที่ป่าไม้ลดลงจาก ๑๐๙.๕ ล้านไร่ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เหลือเพียง ๙๐ ล้านไร่ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ หรือไม่ถึงร้อยละ ๒๘ ของพื้นที่ประเทศ และการที่สังคมไทยเปลี่ยนจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมือง และสังคมอุตสาหกรรม มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจและวัฒนธรรม ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพย์ติดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนอกจากนี้ ระบบราชการและการบริหารด้านเศรษฐกิจยังปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๓๙) 
          การที่ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ ทั้งทางด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันยังคงมีปัญหาหลายประการตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้น ในการวางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๗ จึงกำหนดวัตถุประสงค์หลักที่จะเสริมสร้าง ความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมคุณภาพชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทาง ๔ ประการ คือ ๑) การรักษาอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพอย่าง ต่อเนื่อง ๒) การกระจายรายได้และกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบท ๓) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมและ ๔) การพัฒนากฏหมายและระบบราชการให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

          ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดเป้าหมายสำคัญๆ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๗ ไว้ดังนี้
          - ให้เศรษฐกิจขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ ๘.๒ ต่อปี โดยให้สาขาเกษตรขยายตัวร้อยละ ๓.๔ สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ ๙.๕ ต่อปี และการส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๑๔.๗ ต่อปี

          - ให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มจาก ๔๑,๐๐๐  บาท ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็น ๗๑,๐๐๐ บาท ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙
    
          - กำหนดเป้าหมายการเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยรักษาระดับเงินเฟ้อเพิ่มเฉลี่ยไม่ให้เกินร้อยละ ๕.๖ ต่อปี การขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยไม่ให้เกินร้อยละ ๙.๔ และ ๕.๒ ของผลผลิตรวม
   
          - กำหนดเป้าหมายการพัฒนาบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยให้มีการผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ  ๘ ต่อปี เพิ่มเลขหมายโทรศัพท์จากสัดส่วน ๓.๖ เลขหมาย ต่อประชากร ๑๐๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นไม่ต่ำกว่า ๑๐ เลขหมาย ต่อประชากร ๑๐๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙
 
          - กำหนดเป้าหมายการกระจายรายได้ โดยดูแลบุคคลในกลุ่มเป้าหมาย ๖ กลุ่มไม่ให้มีการกระจายรายได้ที่เลวลง ลดสัดส่วนประชาชนที่อยู่ภายใต้ขีดความยากจนจากร้อยละ ๒๓.๗ ในปี พ.ศ.  ๒๕๓๑ เหลือไม่เกินร้อยละ ๒๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙
    
         - กำหนดเป้าหมายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม  เช่น ลดอัตราการเพิ่มของประเทศเหลือไม่เกินร้อยละ ๑.๒ ขยายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจาก ๖ ปี เป็น ๙ ปี ขยายการมีงานทำเพิ่มขึ้น ๒.๘ ล้านคนกำหนดเป้าหมายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ร้อยละ ๒๕ ของพื้นที่ประเทศ ฯลฯ

          ผลการดำเนินการในช่วงแผนพัฒนาฯ  ฉบับที่ ๗ ปรากฏว่ามีบางเรื่องประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เช่น เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๘.๒ ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๒๕๓๘ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ ๙ ต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่กำหนดไว้ในแผน การส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๑๔.๒ สัดส่วนคนยากจนในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ลดลงเหลือร้อยละ ๑๓.๗ของประชากรทั้งประเทศ บริการพื้นฐานทั้งถนน ไฟฟ้า และประปา ขยายครอบคลุมทั่วประเทศคนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น และได้รับบริการทางสาธารณสุขครอบคลุมกว้างขวางขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีปัญหาสำคัญๆ เช่น ปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาสังคมและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยังมีประชาชนซึ่งอยู่ห่างไกลบางกลุ่มยังไม่ได้รับบริการพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและสังคม หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งยังมีปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น เงินเฟ้อและปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และปัญหาหนี้สินของประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว


สรุปผลการพัฒนเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ ถึงฉบับที่ ๗(พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๓๙) 
          การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลา และผลของการพัฒนาเป็นเรื่องที่มีความสืบเนื่องเกี่ยวพันกันมาโดยตลอด ไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาด สำหรับผลของการพัฒนาในระยะ ๓๕ ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีบางเรื่องประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาในหลายเรื่อง สำหรับผลของการพัฒนาที่สำคัญๆ สรุปได้ดังนี้

          - สังคมไทยได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น เศรษฐกิจขยายตัวโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ ๗.๘ ต่อปี รายได้ต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก ๒,๑๐๐ บาท ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็น ๗๖,๖๕๐ บาท ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ตามราคาประจำปี ฐานะการเงินการคลังของประเทศมีความมั่นคง และได้รับการยอมรับโดยทั่วไปจากนานาประเทศ บริการพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคมกระจายไปทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ในหมู่บ้านชนบทมีไฟฟ้าใช้แล้วร้อยละ ๙๗.๗ มีน้ำสะอาดดื่มกินในระบบประปา สำหรับเขตเมืองในภูมิภาคมากกว่าร้อยละ ๗๕ และร้อยละ ๓๒ ในหมู่บ้านชนบท ในด้านคมนาคมขนส่งได้มีถนนเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด อำเภอ และตำบลอย่างทั่วถึง ประชาชนมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น โดยมีอัตราเข้าเรียนในภาคบังคับถึง ร้อยละ ๙๗.๗ ความสำเร็จของการพัฒนาด้านสาธารณสุขได้ทำให้อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้น

         - แม้ว่าการพัฒนาประเทศจะบรรลุเป้าหมายด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาการกระจายรายได้ เพราะคนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีรายได้ต่อหัวต่อปีสูงกว่าคนในภูมิภาคอื่นๆ มาก โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด ๒๐ เปอร์เซนต์แรกมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๕๘.๙ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นร้อยละ ๕๙.๙ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ และเป็น ๖๐.๓ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด ๒๐ เปอร์เซ็นต์สุดท้าย มีสัดส่วนรายได้ลดลงจากร้อยละ ๖.๕  ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เหลือเพียง ร้อยละ ๖.๐ ในปีพ.ศ. ๒๕๓๕ และเป็น ๕.๖ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗

          - การมุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการแข่งขันเพื่อสร้างความมั่นคงในด้านรายได้ทำให้สังคมไทยมีความเป็นวัตถุนิยมมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมของคนในสังคมคือ การย่อหย่อนในศีลธรรม จริยธรรม ขาดระเบียบ วินัย การเอารัดเอาเปรียบ ส่งผลให้วิถีชีวิตและค่านิยมดั้งเดิมที่ดีงามของไทยเริ่มจางหายไปพร้อมๆ  กับการล่มสลายของสถาบันครอบครัว ชุมชน และวัฒนธรรมของท้องถิ่น การเจ็บป่วยของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่โรคสมัยใหม่ เช่น   รวมทั้งการบาดเจ็บล้มตายจากอุบัติเหตุและอุบัติภัยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

          - การเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงเป็นลำดับ ในช่วง ๒ ปี แรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๗ ป่าไม้ยังคงถูกทำลายลงถึงปีละ ๑ ล้านไร่ ที่ดินทำกินถูกชะล้างพังทลายจนไม่สามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป ปัญหาความเสื่อมโทรมของอากาศปริมาณฝุ่นละออง รวมทั้งเสียงในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองหลักในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ การพัฒนาที่ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนและการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการมองข้ามการพัฒนาคุณค่าของความเป็นคนละเลยต่อภูมิปัญญา และความเป็นไทย จะมีส่วนส่งผลกระทบถึงการพัฒนาประเทศในระยะยาว
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๔) 
          ผลของการพัฒนาในระยะ ๓๕ ปี ตามที่กล่าวข้างข้น พอสรุปได้ว่า ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในหลายๆ เรื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาอีกหลายประการ เช่น ปัญหาด้านสังคมและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม หรืออยู่ในสภาพที่เรียกว่า เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา และการพัฒนาไม่ยั่งยืน หากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว และผลสุดท้ายจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์

          ดังนั้น ในการจัดเตรียมวางแผนพัฒนาฯ  ฉบับที่ ๘ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้แทนจากทุกฝ่ายทุกสาขาอาชีพ จึงได้มีการระดมความคิดร่วมกันว่า การพัฒนาประเทศไทยในอนาคตควรเป็นอย่างไร เพื่อใคร และควรมีการพัฒนาแบบใด ทั้งนี้ได้ทำการทบทวนถึงผลการพัฒนาในระยะที่ผ่านมา ที่มีทั้งส่วนที่ประสบผลสำเร็จและส่วนที่เป็นปัญหา รวมทั้งการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาที่พอสรุปได้ว่า เป็นเพราะการวางแผนและการพัฒนาในระยะที่ผ่านมาขาดการกำหนดเป้าหมาย หรือจุดหมายของประเทศในระยะยาวทำให้ต่างฝ่ายต่างดำเนินการ ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาในระยะที่ผ่านมามุ่งเน้นเฉพาะการเร่งรัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ยุทธศาสตร์ของการพัฒนามุ่งเน้นที่จะขยายการผลิตด้านอุตสาหกรรมและส่งเสริมการส่งออก โดยใช้ความได้เปรียบทางทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างเหลือเฟือ และแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำเป็นปัจจัยในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อคน และคุณค่าของความเป็นมนุษย์เท่าที่ควร การพัฒนาที่เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจเหมาะสมหรือสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศในขณะนั้น แต่อย่างไรก็ตาม อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุที่มีมากขึ้น มิได้หมายความว่า คนไทยและสังคมไทยจะมีความสมบูรณ์พูนสุข หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง เพราะในขณะที่เศรษฐกิจก้าวหน้า แต่วิถีชีวิตที่ดีงามเรียบง่ายของสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป พร้อมๆ กับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมความมั่นคงของครอบครัวและชุมชนคลายตัวลงปัญหาสังคมต่างๆ ขยายตัวและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนา จากเดิมที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นจุดมุ่งหมายหลักแต่เพียงอย่างเดียวเป็นการเน้นให้คนเป็นศูนย์กลางหรือเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาเพราะคนเท่านั้นที่เป็นปัจจัยชี้ขาดถึงความสำเร็จของการพัฒนาในทุกเรื่อง โดยการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยทำให้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาอีกต่อไป รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการวางแผน จากการวางแผนแบบแยกส่วนรายสาขาเศรษฐกิจ หรือสังคมที่ขาดความเชื่อมโยงเกื้อกูลต่อกัน มาเป็นการพัฒนาแบบรวมส่วนหรือบูรณาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งเน้นที่จะให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตามผล ร่วมปรับปรุงวิธีการดำเนินงาน และร่วมได้รับประโยชน์จากการพัฒนา การพัฒนาที่เน้นให้คนเป็นศูนย์กลางหรือเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนา เรียกอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการพัฒนาของคน โดยคน และเพื่อคนซึ่งจะทำให้การพัฒนาประเทศไทยก้าวเข้าสู่การพัฒนาที่พึงปรารถนาในระยะยาว คือ เศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา และการพัฒนายั่งยืน

          การพัฒนาเพื่อให้คนไทยส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรืออยู่ดีมีสุข จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนา หรือยุทธศาสตร์การพัฒนาใหม่โดยจะต้องทำการพัฒนาทั้งที่ "ตัวคน" อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา เพื่อให้เป็นคนที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนารู้จักตัวเอง รู้เท่ากันโลก มีศักยภาพที่จะปรับตัวเองให้อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่าตลอดทุกช่วงวัยของชีวิต ควบคู่กับพัฒนาสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวคนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมการบริหารจัดการ ฯลฯ ให้เอื้อตอการพัฒนาคน

          สำหรับเป้าหมายสำคัญๆ  ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ มีดังนี้

          - เตรียมความพร้อมทุกด้านของเด็กปฐมวัย (๐ - ๕ ปี) อย่างมีคุณภาพขยายโอกาสทางการศึกษาขึ้นพื้นฐานเป็น ๙ ปี แก่เด็กในวัยเรียนทุกคนและเตรียมขยายการศึกษาพื้นฐานเป็น ๑๒ ปี
         - ยกระดับทักษะฝีมือและความรู้พื้นฐานแก่แรงงานในสถานประกอบการ โดยให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกต่อกลุ่มแรงงานอายุ ๒๕ - ๔๕ ปี
         - ให้ผู้ด้อยโอกาสทุกประเภทได้รับโอกาสการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และได้รับบริการพื้นฐานทางสังคมอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง
         - รักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่างมีเสถียรภาพ โดยรักษาอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยให้
อยู่ในระดับ ๔.๕ ต่อปี
         - ลดสัดส่วนคนยากจนของประเทศให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘

          เพื่อที่จะให้บรรลุถึงเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ และจุดหมายหลักของการพัฒนาประเทศตามแนวคิดและทิศทางใหม่ ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญๆ ไว้ ๗ ยุทธศาสตร์ คือ

          ๑) การพัฒนาศักยภาพของคน
 ประกอบด้วยแนวทางการส่งเสริมให้ประะเทศมีโครงสร้างประชากรที่เหมาะสม และมีการกระจายตัวของประชากรที่สอดคล้องกับศักยภาพและโอกาสการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ของประเทศ การปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ด้านการพัฒนาจิตใจให้เกิดผลในทางปฏิบัติ การพัฒนาสติปัญญาและทักษะฝีมือแรงงานให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้นในกระบวนการผลิต และสามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งการพัฒนาสุขภาพและพลานามัย ที่มุ่งเสริมสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า และมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรค

          ๒) การพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคมให้เอื้อต่อการพัฒนาคน ประกอบด้วยแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวในชุมชน  การสร้างโอกาสให้คน  ครอบครัว ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองและสังคม การพัฒนาระบบความมั่นคงทางสังคมเพื่อสร้างหลักประกันด้านต่างๆ  แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง การเสริมสร้างขีดความสามารถในระบบอำนวยความยุติธรรม และระบบความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชน และการส่งเสริมให้วัฒนธรรมมีบทบาทในการพัฒนาคนและประเทศให้สมดุลและยั่งยืน

          ๓) การเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาของภูมิประเทศและชนบทเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง
ประกอบด้วยแนวทางการกระจายโอกาสและความเจริญด้วยการพัฒนาพื้นที่ในภูมิภาค การพัฒนาการมีส่วนร่วมในการพัฒนและการกระจายการพัฒนาด้วยการเพิ่มศักยภาพขององค์กรชุมชน การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้และขยายเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชนการเสริมสร้างโอกาสการพัฒนาเพื่อสร้างอาชีพและการมีงานทำด้วยการส่งเสริมบทบาทของภาคธุรกิจเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชน การกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและบริการทางสังคม การแก้ไขปัญหาและรักษาสภาพแวดล้อมเมือง การบริหารจัดการงานพัฒนาในลักษณะพหุภาคี ทั้งในงานพัฒนาทั่วไปและในระดับพื้นที่
          ๔) การพัฒนาสมรรถนะทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคนและคุณภาพชีวิต
 ประกอบด้วยแนวทาง
การเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง และเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ การปรับโครงสร้างการผลิตให้เข็มแข็งเพื่อให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ชุมชนและบริการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับคุณภาพชีวิต

          ๕) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 ประกอบด้วยแนวทางการบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์ เกิดความสมดุลต่อระบบนิเวศวิทยา รวมทั้งการดูแลรักษาสภาวะแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและเป็นฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว การจัดระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมให้เกิดการใช้ประโยชน์และควบคุมดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดสรรอย่างเป็นธรรม เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนอย่างแท้จริง รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากธรรมชาติ

          ๖) การพัฒนาประชารัฐ
 เป็นการพัฒนาภาครัฐให้มีสมรรถนะและพันธกิจหลัก ในการเสริมสร้างศักยภาพและสมรรถนะของคน ทำใหคนในสังคมเป็นพันธมิตรกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีส่วนร่วมนการพัฒนาประเทศซึ่งประกอบด้วย แนวทางการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างหลักนิติธรรมในการบริหารรัฐกิจ การจัดการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมด้วยสันติวิธี สนับสนุนให้ประชาชนในทุกส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะของภาครัฐ เพิ่มพูนประสิทธิผลและประสิทธิภาพภาครัฐ ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการตลอดจนการสร้างความต่อเนื่องในงานบริหารรัฐกิจ โดยการสร้างความ
รู้ความเข้าใจด้านนโยบายสาธารณะและการกำหนดระเบียบวาระแห่งชาติ

          ๗) การบริหารจัดการเพื่อให้มีการนำแผนพัฒนาฯ ไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ประกอบด้วยแนวทางการแปลงแผนสู่การปฏิบัติด้วยระบบการจัดการในระดับพื้นที่ตามภารกิจของหน่วยราชการและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสังคม การพัฒนากลไกของรัฐในการปฏิบัติงานการเร่งรัดพัฒนาระบบกฏหมายให้เป็นไปในแนวทางของระบบกฏหมายมหาชน เพื่อเอื้ออำนวยต่อการจัดการให้มีกฏหมายรองรับแผนพัฒนาฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปรับบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคีเพื่อการพัฒนา การเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานกลางในการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ การพัฒนาสมรรถนะกลไกนอกภาครัฐ และการติดตามและประเมินผล โดยมีการจัดทำดัชนีชี้วัดผลของการพัฒนาแบบองค์รวม

การปรับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ 
          เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๗ และปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นปีแรกของแผนพัฒนาฯ  ฉบับที่ ๘ ประเทศไทยต้องประสบปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า ฟองสบู่แตกค่าเงินบาทผันผวนปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาการว่างงาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เกิดปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวคน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคน ทำให้คนเดือดร้อน ซึ่งสืบเนื่องมาจากสาเหตุทั้งภายในประเทศ และจากภายนอกประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ เป็นการด่วนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยในการปรับแผนยังคงยืดแนวคิด วัตถุประสงค์ และทิศทางตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ คือ ยังมุ่งเน้นที่จะให้คนเป็นศูนย์กลาง หรือเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาต่อไป ทั้งนี้โดยคำนึงถึงข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมุ่งเน้นการระดมและใช้ทรัพยากรจากทุกส่วนในสังคมมาใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ

          สำหรับการปรับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ จะมีทั้งการเร่งดำเนินการในเรื่องสำคัญฯที่ปรากฏอยู่ในแผนแล้ว พร้อมทั้งการปรับปรุงและเพิ่มเติมในบางเรื่องที่เป็นปัญหา ซึ่งหากปล่อยไว้จะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนและกระทบต่อการพัฒนาในระยะยาว ซึ่งมีอยู่ ๔ เรื่อง  คือ

          ๑. การปรับกรอบเศรษฐกิจมหภาคและแนวทางการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
    โดยให้ความสำคัญกับการปรับเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของแผนใหม่ปรับกรอบการลงทุนของประเทศให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และให้ความสำคัญกับการดูแลภาวะค่าครองชีพให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การรักษาระเบียบวินัยการคลัง สร้างความเข้มแข็งของระบบการเงิน ส่งเสริมการออมในประเทศ และเร่งรัดหารายได้เงินตราต่างประเทศ
          ๒. การพัฒนาคนและสังคม เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจเ
ร่งแก้ไขปัญหาการว่างงาน พัฒนาและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และการป้องกันแก้ไขปัญหาทางสังคม ซึ่งเกิดจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเร่งพัฒนากลไกการบริหารจัดการ และปูพื้นฐานการพัฒนาคนและสังคมในระยะยาวโดยมีแนวทางสำคัญ ได้แก่
               - เร่งการเสริมสร้างอาชีพและการมีงานทำ เพื่อลดปัญหาการว่างงานและการกระจายรายได้ทั้งในเมืองและชนบท เช่น เร่งบรรจุงานใหม่ให้ผู้ถูกเลิกจ้าง สนับสนุนแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ อาชีพบริการและการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่
              - เร่งช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส (ผู้ว่างงาน เด็กในภาวะลำบาก ผู้สูงอายุที่ยากจน และคนพิการ) เช่น นำเงินกองทุนเพื่อพัฒนาสังคมมาใช้ประโยชน์ สนับสนุนการเรียนต่อของนักเรียน สร้างเครือข่ายในการลดปัญหาสุขภาพจิตและโรคเครียด
              - เร่งป้องกัน- แก้ไขปัญหาสังคม เช่น ขยายงานด้านชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพย์ติด และอาชญากรรมในพื้นที่ที่มีปัญหาและแหล่งท่องเที่ยวการผนึกกำลังจากทุกฝ่ายในสังคมเพื่อเสริมสร้างค่านิยมอันดีงาม

          ๓. เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรากฐานการผลิตของประเทศให้เข้มแข็งและมั่นคง เช่น

             - ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากการผลิตที่ใช้แรงงานมากมูลค่าเพิ่มต่ำไปสู่การผลิตที่ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น
             - สร้างการเชื่อมโยงรากฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศคือ การเกษตรอุตสาหกรรม และบริการ ด้วยการพัฒนาระบบเทคโนโลยีและกำลังคน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและแข่งขันได้ในเวทีโลก
             - เพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยให้เร่งจัดทำแผนแม่บท ตลอดจนการจัดตั้งองค์กรบริหารนโยบายการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน

          ๔. เร่งปรับระบบบริหารราชการเพื่อการพัฒนาประเทศ
 เช่น
              - ลดบทบาทภาครัฐและเร่งปฏิรูประบบบริหารราชการให้มีโครงสร้างและขนาดกำลังคนที่เหมาะสม มีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การปกครองที่ดี เป็นธรรมและโปร่งใส
             - เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการงบประมาณ โดยจัดลำดับความสำคัญและทบทวนเกณฑ์การพิจารณาโครงการ
             - เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญใหม่และกระบวนการประชาสังคมในระดับต่างๆ  และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
             - จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเตือนภัยทางเศรษฐกิจล่วงหน้า และพัฒนาเครื่องชี้วัดและระบบติดตามประเมินผลฯลฯ
          เพื่อที่จะให้แผนพัฒนาที่ปรับปรุงบังเกิดผลในทางปฏิบัติต่างจริงจัง จึงได้มีการกำหนดให้องค์กรหรือกลไกที่มีอยู่ เช่น คณะกรรมการรัฐมนตรีว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจ คณะกรรมการบรรเทาปัญหาการว่างงาน คณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ฯลฯ  เพื่อประสานการจัดทำแผนปฏิบัติการในเรื่องสำคัญๆ  ร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

          จากข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า การที่แผนพัฒนาแต่ละฉบับมีความแตกต่างกันทั้งด้านแนวคิด จุดเน้นและสาระสำคัญ เนื่องจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมแต่ละช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและนับวันการพัฒนาประเทศจะมีความครอบคลุมกว้างขวาง และสลับซับซ้อน เพราะปัญหาต่างๆ ขยายตัว และประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โลกมากขึ้นและรวดเร็วขึ้นเนื่องจากวิวัฒนาการทางด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างไรก็ตาม การที่มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและทิศทางการพัฒนาประเทศ จากเดิมที่มุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก มาเป็นการมุ่งให้คนเป็นศูนย์กลาง หรือเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาการพัฒนาในลักษณะรวมส่วน การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการพัฒนาตั้งแต่ต้น จะมีส่วนช่วยทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การพัฒนาที่พึงปรารถนาในระยะยาวคือ 
เศรษฐกิจดี สังคม  ไม่มีปัญหา และการพัฒนายั่งยืน ซึ่งจะส่งผลทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ร่มเย็น-เป็นสุข บนพื้นฐานของความเป็นไทยและอยู่ร่วมกันอย่างรู้ รัก สามัคคี สมดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดไป

ขอบคุณที่มา สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 24

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1