Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน

งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน
ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน จัดขึ้นในเดือน ๗ เป็นงานบุญใหญ่ประจำปี ของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยรวมเอา งานบุญพระเวสหรือบุญเผวส” (ฮีตเดือนสี่) และ งานบุญบั้งไฟ” (ฮีตเดือนหก) เข้าไว้เป็นงานบุญเดียวกัน งานบุญพระเวสนั้นเป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อฟังเทศน์มหาชาติ ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งถือว่าได้รับอานิสงส์แรงกล้าบันดาลให้พบพระศรีอริยเมตไตรย์ในชาติหน้า ส่วนงานบุญบั้งไฟเป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อบูชาอารักษ์หลักเมืองและถือเป็นประเพณีการแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล และในงานบุญนี้จะมี ผีตาโขนทั้งน้อยใหญ่หลายร้อยตัวออกมาวาดลวดลาย สร้างสีสันในขบวนแห่ทั่วเมืองด่านซ้าย
กำหนดการการจัดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนในแต่ละปีจะจัดขึ้น ๓ วัน คือ

วันแรก พิธีเบิกพระอุปคุต ประกอบด้วยพิธีบวชพราหมณ์ ณ วิหารพระเจ้าใหญ่ วัดโพนชัยพิธีเบิกพระอุปคุต พิธีตักบาตรแด่พระสงฆ์ พิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม ขบวนของเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม แห่จากบ้านเจ้าพ่อกวนไปยังวัดโพนชัย พิธีเปิด งานบุญหลวงวันโฮม
วันที่สอง พิธีเปิดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประกอบด้วยขบวนพิธีเบิกพระอุปคุต ขบวนเทิดพระเกียรติฯ ขบวนของเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม และคณะพ่อแสน นางแต่ง และขบวนหน่วยงานต่างๆ ขบวนพิธีอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง จากบ้านเจ้าพ่อกวน ไปยังวัดโพนชัย พิธีเจริญพระพุทธมนต์ เทศน์พระมาลัยหมื่น พระมาลัยแสน
วันสุดท้าย พิธีเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ ณ วิหารพระเจ้าใหญ่ วัดโพนชัย และพิธีสวด ซำฮะ ขอขมา สะเดาะเคราะห์ สืบชะตาบ้านเมือง

วิธีทำหน้ากากผีตาโขน
หน้ากากผีตาโขนเล็ก ทำจากส่วนที่เป็นโคนของก้านมะพร้าวและหวดนึ่งข้าวเหนียว โดยนำมาเย็บติดกันแล้วเขียนหน้าตา ทำจมูกเหมือนผี ส่วนชุดแต่งกายของผีมักมีสีฉูดฉาดบาดตา โดยอาจเย็บเศษผ้าเป็นเสื้อตัวกางเกงตัวหรือเย็บเป็นชุดติดกันตลอดตัวก็ได้ ข้อสำคัญคือต้องคลุมร่างกายให้มิดชิด หน้ากากผีตาโขน

สมัยดั้งเดิมจะทำจากหวดเก่าที่ใช้แล้ว ในส่วนที่ครอบศีรษะจะเย็บติดกับโคนของก้านมะพร้าว ส่วนที่เป็นใบหน้าจะใช้ไม้นุ่นทำจมูกสั้นคล้ายจมูกคน ใช้สีที่ได้จากธรรมชาติ จะไม่ปรากฏลวดลายที่เด่นชัดเพราะเน้นให้หน้ากากมีความลึกลับน่ากลัว ส่วนหน้ากากผีตาโขนสมัยกลางนับตั้งแต่หน่วยงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนในปี พ.ศ.๒๕๓๑ มีความเปลี่ยนแปลงจากสมัยดั้งเดิม โดยนอกเหนือจากการนำหน้ากากผีตาโขนมาเล่นตามจุดประสงค์หลักดังที่กล่าวมาแล้ว ยังได้มุ่งการทำหน้ากากผีตาโขนเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และดึงดูดความสนใจ ตลอดจนเน้นผลทางธุรกิจจากนักท่องเที่ยว หน้ากากผีตาโขนในสมัยนี้จึงมีความสวยสดงดงามละเอียดและประณีตขึ้นจากเดิมหวดที่ใช้ครอบศีรษะจะใช้หวดใหม่ ส่วนใบหน้ากากผีตาโขนมีความยาวขึ้น รวมทั้งจมูกที่โค้งงอคล้ายงวงช้าง สีที่ใช้จะมีทั้งสีน้ำพลาสติก สีน้ำมันซึ่งให้ความมันวาวและคงทนด้านความสัมพันธ์ของหน้ากากผีตาโขนกับวิถีชุมชนอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย พบว่าหน้ากากผีตาโขนจะมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะมีความเชื่อว่าการจัดทำหน้ากากผีตาโขนเข้าร่วมแสดงในงานของทุกปีเมื่อเสร็จแล้วจะเป็นการปล่อยผีสาง และยังปล่อยทุกข์โศกให้ไหลไปตามแม่น้ำด้วย 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1