Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : คำบุพบท หน้าที่คืออะไร มาเรียนภาษาไทยกันดีกว่า


ขอบคุณข้อมูล โดยกระปุกดอทคอม

          
การเรียนรู้หลักการและความสัมพันธ์ในการใช้คำบุพบท จะทำให้เราสามารถเรียบเรียงประโยคที่ใช้ในการสื่อสารได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะทำให้คนที่ฟังประโยคนั้น ๆ เข้าใจรูปประโยคได้ง่าย และสามารถนำไปตีความได้อย่างถ่องแท้ วันนี้ กระปุกดอทคอมจึงไม่พลาดที่จะหยิบเอาหลักการง่าย ๆ ในการใช้คำบุพบทมาฝากกัน
          ก่อนอื่นมารู้จักความหมายของคำบุพบทกันก่อน สำหรับ คำบุพบท ก็คือ คำที่ใช้นำหน้าคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ เพื่อบอกสถานภาพของคำเหล่านั้น หรือเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำหรือประโยค ทีนี้ เราลองมาดูกันว่า คำบุพบทมีอะไรบ้าง แบ่งออกได้เป็นกี่ชนิด และสามารถวางในตำแหน่งใดได้บ้างค่ะ

           คำบุพบท มีอะไรบ้าง

          คำบุพบทที่ใช้กันในภาษาไทยมีมากมายหลายคำ แต่ที่ทุกคนน่าจะใช้กันบ่อย ๆ ก็อย่างเช่น กับ ใน ของ ด้วย โดย แก่ แต่ แด่ ต่อ ซึ่ง เฉพาะ ตาม กระทั่ง จน เมื่อ ณ ที่ ใต้ บน เหนือ ใกล้ ไกล ริม ข้าง ตั้งแต่ เกือบ กว่า ตลอด ราว จาก สัก และสำหรับ เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในการนำหน้าคำนาม คำสรรพนาม หรือคำกริยา เพื่อแสดงความสัมพันธ์ของคำ

           ประเภทของคำบุพบท

          คำบุพบทแต่ละคำย่อมมีหน้าที่ และความหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้น การนำมาใช้ก็แตกต่างกันไปด้วย โดยตามหลักภาษาไทยแล้ว คำบุพบท แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการนำมาใช้ คือ คำบุพบทที่ต้องเชื่อมกับคำอื่น และคำบุพบทที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อมกับคำอื่น เราลองไปดูตัวอย่าง และวิธีการใช้กัน


           1. คำบุพบทที่ต้องเชื่อมกับคำอื่น เพื่อบ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างคำ และบอกสถานการณ์ให้ชัดเจน ได้แก่

           บอกสถานภาพความเป็นเจ้าของ เช่น 

            ฉันซื้อสวนของนางอุบล

            สระว่ายน้ำของเขาใหญ่โตแท้ ๆ

            อะไรของเธออยู่ในกระเป๋า

            รถของฉันอยู่ในบ้าน



           บอกความเกี่ยวข้อง เช่น

            เธอต้องการขนมในถุงนี้

           พี่เห็นแก่น้อง

           เธอไปกับฉัน

           เขาอยู่กับฉันที่บ้าน



           บอกการให้และบอกความประสงค์ เช่น

            ไข่เจียวจานนี้เป็นของสำหรับพระ  

           ครูให้รางวัลแก่เด็กนักเรียน

           แม่ให้ของที่ระลึกแก่โรงเรียน

           นักเรียนมอบของที่ระลึกแด่ครู



           บอกเวลา เช่น

           เธอมาตั้งแต่เช้า  

           ตลอดสายวันนี้

           ฝนตกตั้งแต่เช้ายันบ่าย

           เขาอยู่เมืองนอกเมื่อปีที่แล้ว



           บอกสถานที่ เช่น

           สมชายมาจากขอนแก่น

           เขาขับรถอยู่บนทางเท้า

           ใครอยู่ในห้องน้ำ

           ณ ที่แห่งนี้คือที่ไหน



           บอกความเปรียบเทียบ เช่น

            เขาหนักกว่าฉัน  

            เขาสูงกว่าพ่อ  

            เธอสูงแต่ฉันเตี้ย

            เขามีรถแต่ฉันไม่มี

            บ้านเธออยู่ใกล้แต่บ้านฉันอยู่ไกล

            เหนือฟ้ายังมีฟ้า



          2. คำบุพบทที่ไม่มีความสัมพันธ์กับคำอื่น ไม่จำเป็นต้องเชื่อมกับคำอื่น ส่วนมากจะอยู่ต้นประโยค เช่น

            ดูกร ดูก้อน ดูราช้าแต่  

            ดูกร ท่านพราหมณ์  

            ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย  

            ดูรา สหายเอ๋ย  

            ช้าแต่ ท่านทั้งหลาย            

          จะเห็นได้ว่าคำบุพบทประเภทนี้ มักไม่เป็นที่นิยมใช้กันเท่าไรนัก ส่วนมากจะเห็นในบทประพันธ์มากกว่า
 

           หน้าที่ของคำบุพบท

          นอกจากจะสามารถแบ่งคำบุพบทออกเป็น 2 ประเภทแล้ว เรายังสามารถแบ่งคำบุพบทได้ตามลักษณะหน้าที่ของคำนั้นที่่ใช้เชื่อมคำหรือประโยคด้วย ซึ่งเราแบ่งออกได้ 5 ประเภท คือ

           1. นำหน้าคำนาม เช่น 

            ในตู้มีอะไร

            บนโต๊ะว่างเปล่า

            จนกระจกแตก

            เขาไปกับน้องสาว

           2. นำหน้าคำสรรพนาม เช่น 

            รถของเธอ

            ปากกาของฉัน

            ไปกับฉันไหม

            หมาเดินตามคุณ

            ผึ้งอยู่ใกล้ผม

            เนื่องด้วยข้าพเจ้า

           3. นำหน้าคำกริยา เช่น

            ขอไปด้วยคน

            มาไกลไปไหม

            เดินบนทางเท้า

            ขอฟังต่ออีกสักหน่อย

            เขาพูดราว 1 ชั่วโมงแล้วนะ

            ผมใกล้อ่านหนังสือออกแล้ว

           4. นำหน้าคำวิเศษณ์ เช่น

            เขาต้องมาหาฉันโดยเร็ว

            เขาเลวสิ้นดี

            ปากกาของฉันสีม่วง

            ขนมอร่อยมากแต่หมดแล้ว

            ฉันมองไม่เห็นที่นั่น

            ฉันรักแม่เหนือสิ่งอื่นใด


           5. นำหน้าประโยค เช่น

            เมื่อไหร่เขาจะมาสักที

            กระทั่งน้องเลิกโรงเรียน

            ตั้งแต่เมื่อวานเขายังไม่กลับบ้านเลย

            ข้างบ้านไม่มีใครอยู่เลย

            เกือบเดือนแล้วที่ไม่ได้อาบน้ำ

            ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์

          ทั้งนี้ ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับคำบุพบทว่า ในบางประโยคที่เราใช้พูดคุยกัน อาจละคำบุพบทนั้นไว้ แต่ยังมีความหมายตามเดิม และก็ยังเป็นที่เข้าใจกันอยู่ เช่น พี่ให้เงิน (แก่) น้อง, แม่ (ของ) ฉันเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ

          นอกจากนี้ บางครั้งคำบุพบทก็มีลักษณะคล้ายคำวิเศษณ์ แต่ต่างกันตรงที่คำบุพบทจะวางไว้หน้าคำ ส่วนคำวิเศษณ์จะทำหน้าที่ขยายอยู่หลังคำนั้น ดังนั้นแล้ว หากไม่มีคำนาม หรือสรรพนามตามหลัง คำนั้นจะเป็นคำวิเศษณ์ เช่น เธออยู่ใน พ่อยืนอยู่ริม, ฉันอยู่ใกล้แค่นี้เอง ฯลฯ 
          เห็นไหมว่าการนำคำบุพบทมาใช้ในการเชื่อมรูปประโยคไม่ใช่เรื่องยากเลย ขอเพียงให้เราเข้าใจหลักการของการนำมาใช้ให้ถูกต้อง เพียงเท่านี้ก็จะทำให้การสื่อสารไปยังผู้รับสารประสบผลสำเร็จได้ อย่างสมบูรณ์แบบแล้วล่ะ 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1