Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม :พระพุทธรูปปางต่างๆ

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 29
http://www.bloggang.com/data/travelaround/picture/1209055300.jpg
พระพุทธรูปปางต่างๆ โดย ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์

ดังได้กล่าวแล้วว่า พระพุทธรูปสร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า และส่วน หนึ่งเพื่อบอกเล่าถึงพุทธประวัติว่า มีความเป็นมาอย่างไร จึงเป็นมูลเหตุของการสร้าง พระพุทธรูปเพื่อเล่าเรื่องราวในแต่ละตอนขึ้น ความหมายของคำว่า “ปาง” จึงหมายถึง พุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่ง ต่างจากคำว่า “มุทรา” ที่หมายถึงการแสดงท่าด้วยพระหัตถ์ ว่า พระพุทธเจ้ากำลังทรงกระทำอะไร
ในศิลปะอินเดียรุ่นแรกๆปรากฏการแสดง “มุทรา” ของพระพุทธรูปเพียง ๖ ท่า เท่านั้น ได้แก่ มารวิชัยสมาธิ ปฐมเทศนา ทรงแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา) ประทานอภัย และประทานพร การแสดงมุทรานี้ บางครั้งมุทราหนึ่งอาจนำไปใช้ในพุทธประวัติตอนอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น ท่าทรงแสดงธรรม มีปรากฏ อยู่ในพุทธประวัติหลายตอน อย่างไรก็ดี ตามความเข้าใจในปัจจุบัน มักรวมเรียกการแสดงมุทราว่า การแสดงปาง ด้วย
ส่วนการแสดงปางหรือพุทธประวัตินั้น แรกเริ่มมีเพียง ๔ ปาง ตามสังเวชนียสถาน ทั้ง ๔ แห่ง ได้แก่ ปางประสูติ ปางตรัสรู้ ปางปฐมเทศนา และปางปรินิพพาน ต่อมาภายหลังจึงเพิ่มขึ้นเป็น ๘ ปาง ตามมหาสถาน ที่เพิ่มขึ้นจาก ๔ แห่ง เป็น ๘ แห่ง ที่เรียกว่า อัฏฐมหาสถาน ปางที่เพิ่มขึ้น ๔ ปาง ได้แก่ ปางทรมานช้างนาฬาคีรี ปางทรงรับบาตรจากพญาวานร ปางยมกปาฏิหาริย์ และปางเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ในดินแดนไทยสมัยทวารวดีระยะแรก ได้พบหลักฐานพระพุทธรูปเพียงไม่กี่ปาง ซึ่งเป็นศิลปะที่สืบต่อมาจากอินเดียโดยตรง ได้แก่ ปางประทานพร ปางทรงแสดงธรรม ปางมารวิชัย และปางสมาธิ ในระยะต่อมาจึงมีการสร้างพระพุทธรูปปางอื่นๆ ทั้งที่เป็นการดัดแปลงให้เป็นแบบท้องถิ่น และที่คิดริเริ่มขึ้นใหม่ เช่น พระพุทธรูปปางทรงแสดงธรรม ทั้ง ๒ พระหัตถ์ในศิลปะทวารวดีนั้น ก็ไม่มีปรากฏในอินเดีย พระพุทธรูปลอยตัวปางลีลาถือว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในศิลปะสุโขทัย และพระพุทธรูปแสดงปางประทานอภัย ทั้ง ๒ พระหัตถ์ที่เรียกว่า ปางห้ามสมุทร อาจเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยา
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยอยุธยา การสร้างพระพุทธรูปแสดงปางต่างๆยังมีปางอยู่ไม่มากนััก ที่นิยมมาก ที่สุดคือ ปางมารวิชัย รองลงมาได้แก่ ปางสมาธิ และปางอื่นๆ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิต-ชิโนรส ทรงรวบรวม และเรียบเรียงตำราทาง พระพุทธศาสนาขึ้นคือ พระนิพนธ์พุทธประวัติ เรื่อง “ปฐมสมโพธิกถา” แล้วทรงประดิษฐ์แบบอย่างพระพุทธรูปปางต่างๆขึ้นตามพุทธ-ประวัติดังกล่าว เพื่อให้ช่างสร้างเป็นพระ-พุทธรูปรวม ๔๐ ปาง ซึ่งถือเป็นการกำหนดปางต่างๆของพระพุทธรูปมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา หลังจากนั้นมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการกำหนดปางพระพุทธรูปเพิ่มเติมขึ้น หลายตำรา เช่น “พระพุทธรูปปางต่างๆ” ของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ มีจำนวน ๕๕ ปาง ใน “ภาพพุทธประวัติวัดทองนพคุณ” เป็น ประติมากรรมนูนสูงสร้างด้วยทองเหลืองทาสี ปิดทอง มีจำนวน ๙๐ ปาง ใน “ประวัติพระ-พุทธรูปปางต่างๆ” ของกรมการศาสนา แต่งโดยพิทูร มลิวัลย์ มีจำนวน ๗๒ ปาง และ ใน “ตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆ” แต่งโดย พระพิมลธรรม มีจำนวน ๖๖ ปาง จากตำรา เล่มหลังนี้ ได้ปรากฏงานสร้างพระพุทธรูป รวม ๖๖ ปาง ที่พระระเบียงรอบองค์พระ-ปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
พระพุทธรูป ๔๐ ปาง ที่สมเด็จพระ-มหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงกำหนดไว้ และถือเป็นต้นแบบให้มีการ สร้างเพิ่มเติมต่อๆมา ประกอบด้วยปางต่างๆ ดังนี้ คือ
๑. ปางทุกกรกิริยา
๒. ปางรับมธุปายาส
๓. ปางลอยถาด
๔. ปางทรงรับ หญ้าคา
๕. ปางมารวิชัย
๖. ปางสมาธิ
๗. ปางถวายเนตร
๘. ปางจงกรมแก้ว
๙. ปางประสานบาตร
๑๐. ปางฉันสมอ
๑๑. ปาง ลีลา
๑๒. ปางประทานเอหิภิกษุอุปสมบท
๑๓. ปางปลงกรรมฐาน
๑๔. ปางห้ามสมุทร
๑๕. ปางอุ้มบาตร
๑๖. ปางภุตตกิจ
๑๗. ปางพระเกตุธาตุ
๑๘. ปางเสด็จลงเรือขนาน
๑๙. ปางห้ามญาติ
๒๐. ปางพระป่าเลไลยก์
๒๑. ปางห้ามพระแก่นจันทน์
๒๒. ปาง นาคาวโลก
๒๓. ปางปลงพระชนม์
๒๔. ปางรับอุทกัง
๒๕. ปางพระสรงน้ำ
๒๖.ปางยืน
๒๗. ปางคันธารราฐ
๒๘. ปางพระรำพึง
๒๙. ปางสมาธิเพชร
๓๐. ปาง แสดงชราธรรม
๓๑. ปางประดิษฐานพระ-พุทธบาท
๓๒. ปางสำแดงโอฬาริกนิมิต
๓๓. ปางรับผลมะม่วง
๓๔. ปางขับพระวักกลิ
๓๕. ปางไสยา
๓๖. ปางฉันมธุปายาส
๓๗. ปางห้ามมาร
๓๘. ปางสนเข็ม
๓๙. ปาง ทรงตั้งพระอัครสาวก
๔๐. ปางเปิดโลก

การแสดงปางที่กำหนดขึ้นนั้น ทุกๆปาง ล้วนแต่มีความหมายเพื่อเล่าถึงพุทธประวัติ ในตอนนั้น จึงขอยกตัวอย่างลักษณะปางที่สำคัญของพระพุทธรูป พร้อมทั้งความหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้ คือ

๑. ปางมารวิชัย

ปางมารวิชัย พระอิริยาบถนั่ง พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวา วางคว่ำบนพระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้เพื่อเรียกแม่พระธรณี หมายถึง พุทธประวัติตอนตรัสรู้ มีพญามารมาผจญ พระพุทธองค์ทรงเรียก แม่พระธรณีมาเป็นพยาน แม่พระธรณีได้บีบมวยผมหลั่งน้ำที่พระพุทธองค์เคยทรงบำเพ็ญบารมีออกมาไหลท่วมเหล่ามารทั้งหลายพ่ายแพ้ไป พระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นปางที่พบ มากที่สุดในศิลปกรรมไทย โดยเฉพาะในสมัยสุโขทัย ล้านนา อู่ทอง อยุธยา จนถึง รัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ พุทธประวัติตอนมารผจญยังเป็นที่นิยมในงานจิตรกรรมฝาผนัง เขียนที่ผนังสกัดด้านหน้าพระอุโบสถ ในสมัย อยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์
๒. ปางสมาธิ

ปางสมาธิ พระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้ง ๒ วางหงายซ้อนกันบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางบนพระหัตถ์ซ้าย หมายถึง พุทธประวัติตอนตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรด้วยปางสมาธิ เมื่อมีมารมาผจญ พระพุทธองค์ทรงแสดงปางมารวิชัยเพื่อปราบมาร เสร็จแล้วจึงเปลี่ยนมาแสดงปางสมาธิอีกครั้งหนึ่ง จนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๓. ปางปฐมเทศนา

ปางปฐมเทศนา พระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวายกขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์ พระอังคุฐ (นิ้วโป้ง) และพระดัชนี (นิ้วชี้) เป็น วงกลม อันหมายถึงธรรมจักร คือ การแสดงธรรม ในศิลปะอินเดียนิยมให้พระหัตถ์ซ้ายประคองพระหัตถ์ขวา แต่ในศิลปะไทยนิยมให้ วางพระหัตถ์ซ้ายบนพระเพลา มักมีธรรมจักรกับกวางหมอบ และปัญจวัคคีย์อยู่ด้วยเสมอ หมายถึง พุทธประวัติตอนปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระธรรมที่ทรงแสดงเรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร
๔. ปางทรงแสดงธรรม (วิตรรก-มุทรา)

ปางทรงแสดงธรรม (วิตรรก-มุทรา) พระอิริยาบถยืนหรือนั่ง พระหัตถ์ขวายกขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์พระอังคุฏ และพระดัชนีเป็นวงกลม อันหมายถึงธรรมจักร คือ การแสดงธรรม หากเป็นพระพุทธรูปยืน นิยมแสดงธรรมด้วยพระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายทรงยึดชายจีวร ส่วนพระพุทธรูปนั่ง พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา เป็นการแสดงมุทรา โดยทั่วไปใช้ประกอบตอนใดตอนหนึ่งในพุทธประวัติที่เกี่ยวกับการแสดงธรรม
๕. ปางประทานพร

ปางประทานพร พระอิริยาบถยืนหรือนั่ง แสดงปางด้วยพระหัตถ์ขวายกขึ้น และหันฝ่าพระหัตถ์ออก ปลายนิ้วพระหัตถ์ชี้ลง ใช้ในความหมายของการให้พร และการ อนุญาต ซึ่งปรากฏในพุทธประวัติหลายตอน
๖. ปางประทานอภัย

ปางประทานอภัย พระอิริยาบถยืน หรือนั่ง แสดงปางด้วยพระหัตถ์ข้างใดข้างหนึ่งยกขึ้น หันฝ่าพระหัตถ์ออก ปลายนิ้ว พระหัตถ์ตั้งขึ้น มีการแสดงปางประทานอภัย รวม ๓ แบบ ได้แก่ แบบแสดงด้วยพระหัตถ์ขวา หมายถึง ห้ามญาติ เป็นตอนที่พระพุทธองค์ทรงห้ามพระประยูรญาติวิวาทเรื่องการแย่งน้ำ แบบแสดงด้วยพระหัตถ์ซ้าย หมายถึง ห้าม พระแก่นจันทน์ ในพุทธประวัติตอนเสด็จโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้มีการสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้แก่นจันทน์แทนพระพุทธองค์ และเมื่อพระพุทธองค์เสด็จกลับ ลงมาแล้ว พระแก่นจันทน์ลุกหนีจากบัลลังก์ พระพุทธเจ้าจึงทรงยกพระหัตถ์ห้ามไว้ และแบบแสดงด้วยทั้ง ๒ พระหัตถ์ หมายถึง ห้ามสมุทร เป็นพุทธประวัติตอนทรงแสดง ปาฏิหาริย์ปราบเหล่าชฎิล โดยทรงห้ามน้ำฝน ที่ตกหนักบริเวณนั้น มิให้ท่วมปริมณฑลที่พระพุทธองค์ประทับอยู่



ที่มา สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน เล่มที่ 29

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1