Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : มารู็จักดาวหางกันเถอะ

ประเภทดาวหางที่สำคัญ

ดาวหางใหญ่
แต่ละปีมีดาวหางขนาดเล็กมากมายหลายร้อยดวงผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน แต่มีเพียงไม่กี่ดวงเท่านั้นที่สาธารณชนสามารถสังเกตได้ โดยเฉลี่ยทุก ๆ ทศวรรษจะมีดาวหางหนึ่งดวงที่สว่างมากพอจนสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดาวหางเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มดาวหางใหญ่ (Great Comets) ในอดีตที่ผ่านมา ดาวหางที่สว่างมักทำให้เกิดการแตกตื่นคลุ้มคลั่งในหมู่ประชาชน เพราะเชื่อกันว่าเป็นลางร้ายนำมาซึ่งหายนะ ครั้นในระยะหลัง หลังจากดาวหางฮัลเลย์กลับมาเยือนในปี พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1910) และโลกได้เดินทางผ่านเข้าไปในหางของดาวหาง รายงานข่าวที่ผิดพลาดของหนังสือพิมพ์และสื่อมากมายทำให้เกิดความหวาดหวั่นเกี่ยวกับพิษของไซยาโนเจนและเชื้อโรคซึ่งอ้างว่าอาจคร่าชีวิตคนเป็นล้าน การปรากฏของดาวหางเฮล-บอปป์ในปี พ.ศ. 2540 ทำให้กลุ่มสาวกของลัทธิ Heaven's Gate พากันฆ่าตัวตายไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่ยังคงมองดาวหางว่าเป็นสิ่งสวยงามน่าชม
การคาดการณ์ว่าดาวหางดวงใดจะเป็นดาวหางใหญ่นั้นทำได้ยากมาก เพราะมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อความสว่างของดาวหาง และอาจทำให้การพยากรณ์คลาดเคลื่อนไปได้ โดยทั่วไปหากดาวหางมีนิวเคลียสขนาดใหญ่ ผ่านเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก และไม่ถูกแสงอาทิตย์กลบเมื่อสังเกตจากโลก ก็มีแนวโน้มว่าดาวหางดวงนั้นจะเป็นดาวหางใหญ่ได้ อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2516 ดาวหางโคฮูเทค (Kohoutek) มีคุณสมบัติทุกประการที่จะเป็นดาวหางใหญ่ แต่มันก็ไม่ได้เป็น ดาวหางเวสต์ซึ่งปรากฏขึ้นสามปีหลังจากนั้น ท่ามกลางความคาดหวังที่น้อยกว่ามาก (อาจเป็นเพราะความล้มเหลวที่เกิดกับดาวหางโคฮูเทค นักดาราศาสตร์จึงระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการพยากรณ์ความสว่างของดาวหาง) แต่ดาวหางเวสต์ได้กลับกลายเป็นดาวหางที่สุกสว่างน่าประทับใจอย่างยิ่ง
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงทิ้งห่าง ไม่มีดาวหางใหญ่ปรากฏขึ้นเลยเป็นเวลานานหลายปี จากนั้นก็ปรากฏดาวหางใหญ่สองดวงติด ๆ กัน คือดาวหางเฮียะกุตะเกะ (Hyakutake) ในปี พ.ศ. 2539 ตามด้วยดาวหางเฮล-บอปป์ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งสว่างสูงสุดในปีนั้น หลังจากที่ค้นพบก่อนหน้านั้นนานถึงสองปี ดาวหางใหญ่ดวงแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 21 คือดาวหางแมกนอต สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในเดือนมกราคม พ.ศ. 2550 เป็นดาวหางที่สว่างที่สุดในรอบกว่า 40 ปี อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่เห็นดาวหางดวงนี้ เนื่องจากมันมีตำแหน่งใกล้ขอบฟ้ามาก

ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์
ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ (Sungrazing comet) คือดาวหางที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเป็นพิเศษ บางครั้งเข้าใกล้เพียงไม่กี่พันกิโลเมตรจากพื้นผิวดวงอาทิตย์ ดาวหางขนาดเล็กอาจระเหิดหายไปเลยเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก ๆ แต่ถ้าดวงใหญ่สักหน่อยก็จะสามารถเคลื่อนผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดได้หลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วแรงโน้มถ่วงมหาศาลของดวงอาทิตย์มักจะส่งผลให้มันแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ เสียมากกว่า
ประมาณ 90% ของดาวหางประเภทนี้ที่สังเกตการณ์โดยยานโซโฮ มักเป็นดาวหางในตระกูลครอทซ์ (Kreutz) ซึ่งมีกำเนิดจากดาวหางขนาดยักษ์ดวงหนึ่งที่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยระหว่างการเข้าสู่ระบบสุริยะชั้นในเป็นครั้งแรก ส่วนอีก 10% ที่เหลือเป็นดาวหางทั่วไป ยังมีกลุ่มของดาวหางอีก 4 กลุ่มที่ถูกจัดอยู่ในประเภทนี้ ได้แก่ ดาวหางตระกูลครอต (Kracht), ครอต 2 เอ (Kracht 2a), มาร์สเดน (Marsden) และมีเยอร์ (Meyer) กลุ่มดาวหางมาร์สเดนและครอตต่างเกี่ยวข้องกับดาวหางมัคโฮลซ์ (96P/Machholz) ซึ่งเป็นดาวหางต้นกำเนิดของธารสะเก็ดดาวในฝนดาวตกควอดแดรนต์ (Quadrantids) และฝนดาวตกแกะ (Arietids)

ดาวหางที่ผิดปกติ
ในบรรดาดาวหางซึ่งเรารู้จักแล้วเป็นจำนวนนับพันดวง มีบางดวงที่เป็นดาวหางผิดปกติ ดาวหางเองเคอมีวงโคจรตั้งแต่เขตรอบนอกของแถบดาวเคราะห์น้อยเข้ามาจนถึงวงโคจรของดาวพุธ ขณะที่ดาวหางชวาสมานน์-วัคมานน์ (29P/Schwassmann-Wachmann) มีวงโคจรที่เคลื่อนอยู่ระหว่างดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์เท่านั้น ดาวหาง 2060 ไครอน ซึ่งมีวงโคจรที่ไม่เสถียร เปลี่ยนแปรอยู่ระหว่างดาวเสาร์กับดาวยูเรนัส ถูกจัดประเภทเป็นดาวเคราะห์น้อยเมื่อตอนที่ค้นพบครั้งแรก จนกระทั่งต่อมามีการค้นพบหางโคม่าอย่างจาง ๆ ในทำนองเดียวกัน ดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 2 ก็ถูกจัดประเภทเริ่มต้นเป็นดาวเคราะห์น้อย 1990 UL3 คาดว่าดาวเคราะห์น้อยที่เข้ามาใกล้โลกประมาณ 6% เป็นนิวเคลียสของดาวหางที่หมดอายุ ไม่มีแก๊สหลงเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว
มีการเฝ้าสังเกตดาวหางบางดวงไปจนกระทั่งถึงกาลแตกดับระหว่างเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ในจำนวนนี้รวมถึงดาวหางเวสต์และดาวหางอิเกะยะ-เซะกิ (Ikeya-Seki) ส่วนดาวหางบีลาเป็นตัวอย่างที่พิเศษ มันแตกออกเป็นสองส่วนระหว่างการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในปี ค.ศ. 1846 จากนั้นมีการสังเกตพบชิ้นส่วนทั้งสองแยกจากกันในปี ค.ศ. 1852 แล้วก็ไม่ได้พบกับมันอีกเลย แต่กลับพบฝนดาวตกที่งดงามน่าดูในปี ค.ศ. 1872 และ 1885 ซึ่งเป็นปีที่ดาวหางควรจะกลับมาปรากฏอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีฝนดาวตกขนาดเล็กในกลุ่มดาวแอนดรอเมดาเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นจังหวะที่โลกเคลื่อนที่ตัดผ่านวงโคจรของดาวหางบีลาพอดี
การสูญสลายของดาวหางที่น่าจดจำอีกเหตุการณ์หนึ่งคือดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 ซึ่งค้นพบในปี พ.ศ. 2536 ในตอนที่ค้นพบนั้นดาวหางกำลังอยู่ในวงโคจรแถวดาวพฤหัสบดี แล้วถูกแรงดึงดูดของดาวเคราะห์จับตัวไว้เมื่อมันเคลื่อนเข้าใกล้ในปี พ.ศ. 2535 การประจันหน้ากันครั้งนั้นทำให้ดาวหางแตกออกเป็นเสี่ยงๆ หลายร้อยชิ้น และใช้เวลาหกวันในเดือนกรกฎาคม 2537 ที่ชิ้นส่วนทั้งหมดพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี นับเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์สังเกตเห็นการรวมตัวกันของวัตถุอวกาศสองชนิดในระบบสุริยะ นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานว่าวัตถุที่ทำให้เกิดเหตุระเบิดที่ทังกัสกาในปี ค.ศ. 1908 น่าจะเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของดาวหางเองเคอ

การเฝ้าดูดาวหาง
การค้นพบดาวหางดวงใหม่อาจเกิดได้จากการเฝ้าดูผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตา แต่กระนั้นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่ไม่มีเครื่องมือตรวจดูท้องฟ้าก็ยังสามารถค้นพบดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ (Sungrazing comet) ได้แบบออนไลน์ โดยการดาวน์โหลดภาพถ่ายจากดาวเทียมสังเกตการณ์ของสถานีวิจัยต่าง ๆ เช่น ยานโซโฮ เป็นต้น
การพบดาวหางบนท้องฟ้าด้วยตาเปล่าอาจเป็นไปได้ยากและไม่บ่อยนัก แต่หากใช้กล้องโทรทรรศน์แบบมือสมัครเล่น (ขนาด 50 มม.-100 ซม.) ก็สามารถเห็นภาพท้องฟ้าได้กระจ่างพอที่จะพบดาวหางได้ปีละหลายดวง บางครั้งอาจพบดาวหางมากกว่าหนึ่งดวงบนท้องฟ้าในเวลาเดียวกัน ซอฟต์แวร์ดาราศาสตร์โดยทั่วไปสามารถสร้างภาพเส้นทางโคจรของดาวหางที่รู้จักแล้วได้ ช่วยให้สามารถสังเกตดาวหางเปรียบเทียบกับวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ ได้ แต่การสังเกตการเคลื่อนที่ของดาวหางผ่านช่องมองอาจเป็นไปได้ยาก ในแต่ละคืนดาวหางอาจเคลื่อนตำแหน่งไปจากเดิมได้หลายองศาทีเดียว ดังนั้นผู้เฝ้าดูดาวหางจึงควรมีแผนที่ดาวไว้ด้วยสำหรับใช้ประกอบการสังเกตการณ์
ภาพการปรากฏตัวของดาวหางขึ้นกับปัจจัยมากมาย เช่นองค์ประกอบของดาวหางและระยะห่างจากดวงอาทิตย์ บรรดาสสารบนดาวหางจะระเหิดน้อยลงเมื่อมันเคลื่อนห่างออกจากดวงอาทิตย์ การเฝ้าสังเกตจึงทำได้ยากขึ้น ไม่เพียงเพราะระยะทางที่ห่างไกลขึ้นเท่านั้น แต่ความสว่างของดาวหางก็ลดลง และการส่องแสงของหางก็จางลงด้วย ดาวหางจะปรากฏอย่างงดงามเมื่อนิวเคลียสของมันสว่างจ้าและทอดหางเป็นแนวยาว บางครั้งต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กที่มีขอบเขตภาพกว้างขึ้น เพื่อให้มองเห็นภาพครบถ้วนชัดเจนที่สุด ดังนั้นเครื่องมือขนาดใหญ่สำหรับนักดูดาวสมัครเล่น (ช่องรับแสงตั้งแต่ 25 ซม.ขึ้นไป) ที่สามารถจับภาพวัตถุที่มีความสว่างต่ำมาก ๆ ได้ ก็อาจไม่ได้เปรียบอะไรมากนักในการดูดาวหาง โดยทั่วไปมีโอกาสที่จะมองเห็นดาวหางสวยงามจากกล้องดูดาวสมัครเล่นขนาดเล็ก (8-15 ซม.) มากกว่าจำนวนดาวหางที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเสียอีก


ขอบคุณที่มา : wikipedia.org
ภาพ data:image/jpeg

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1