Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : จัดอันดับทุนมนุษย์

คอลัมน์ CSR Talk โดย ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณภาพเยาวชน (สสค.)
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) รายงานผลการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Index) ปี 2015 พบว่า ฟินแลนด์ได้รับเลือกให้เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นอันดับ 1 ของโลก จาก 124 ประเทศ ตามมาด้วยนอร์เวย์ (2) สวิตเซอร์แลนด์ (3) แคนาดา (4) และญี่ปุ่น (5)
โดยประเทศในทวีปยุโรปติด 10 อันดับมากที่สุดถึง 7 ประเทศ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในลำดับปานกลางคืออันดับที่ 57 ขณะที่ประเทศในกลุ่มเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ (อันดับที่ 24) เกาหลีใต้ (30) ฟิลิปปินส์ (46) มาเลเซีย (52) เวียดนาม (59) และจีน (64) ส่วนหลายประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกามีคะแนนรั้งท้าย เนื่องจากความเหลื่อมล้ำ โดยผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าผู้ชาย
การจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์มุ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุน และการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ตลอดช่วงชีวิต เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ วิธีการวิเคราะห์จะประเมินจากผลลัพธ์ 2 ด้าน ได้แก่ การเรียนรู้ และการจ้างงาน โดยมีตัวชี้วัดย่อยทั้งหมด 46 ตัว อาทิ คุณภาพการศึกษา จำนวนการเข้าเรียน ระดับการศึกษาสูงสุดของประชากร การเรียนรู้ต่อเนื่องระหว่างทำงาน โอกาส และการเรียนรู้ในที่ทำงาน ทักษะการทำงาน และอัตราการจ้างงาน เป็นต้น
สาเหตุที่ฟินแลนด์ได้รับเลือกให้เป็นอันดับ 1 ของโลก เพราะมีมาตรการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและมีการพัฒนาทักษะ การฝึกอบรมในทุกกลุ่มอายุตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ ส่วนญี่ปุ่นติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก โดยเป็นประเทศตัวอย่างการพัฒนาทักษะความรู้แก่ประชากรผู้สูงวัย
สำหรับประเทศไทย การประเมินสมรรถนะของทุนมนุษย์ในแต่ละช่วงอายุ พบว่าประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี ไทยอยู่อันดับที่ 68 โดยประเมินจากจำนวนการเข้าเรียนทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา คุณภาพของประถมศึกษา และการใช้แรงงานเด็ก
ประชากรช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปีถือเป็นเยาวชน ไทยอยู่อันดับที่ 41 ประเมินจากจำนวนการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา การเรียนสายอาชีพ คุณภาพของระบบการศึกษา และการอ่านออกเขียนได้ ประชากรกลุ่มช่วงอายุระหว่าง 25-54 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มวัยแรงงาน ไทยอยู่อันดับที่ 57 จุดเน้นการประเมินคือ การเรียนรู้ต่อเนื่องระหว่างการทำงาน ทักษะฝีมือการทำงาน ระดับการศึกษาขั้นสูงสุด และโอกาสในการจ้างงาน ประชากรช่วงอายุระหว่าง 55-64 ปี และอายุมากกว่า 65 ปี ไทยอยู่อันดับที่ 71 และ 73 ตามลำดับ โดยพิจารณาจากระดับการศึกษาขั้นสูงสุด โอกาสการจ้างงานและการใช้ชีวิต และช่วงเวลาที่จะมีสุขภาพดีในวัยสูงอายุ
ผลการประเมินของไทยข้างต้นชี้ให้เห็นว่าไทยมีจุดอ่อนเกือบทุกตัว แต่ที่ค่อนข้างรั้งท้ายคือกลุ่มประชากรอายุระหว่าง 55-64 ปี และอายุมากกว่า 65 ปี โดยจากการวิเคราะห์ประชากรกลุ่มนี้ร้อยละ 80-90 มีระดับการศึกษาขั้นสูงแค่ประถมศึกษา
ผลเช่นนี้ เมื่อดูข้อมูลของการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์สามารถสรุปเป็นเรื่อง ๆ ได้ดังนี้
- การพัฒนาศักยภาพ และใช้ประโยชน์จากทุนมนุษย์ของประเทศต่าง ๆ ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยฟินแลนด์ที่อยู่ในอันดับแรกของโลก การพัฒนาศักยภาพประชากรทำได้เพียงร้อยละ 86 ขณะที่ไทยทำได้เพียงร้อยละ 67 โดยแนวทางการพัฒนาศักยภาพประชากร นอกจากการลงทุนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับตลาดแรงงานแล้ว การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่องก็มีความสำคัญ
- ระบบการศึกษาในหลายประเทศยังขาดความเชื่อมโยงเรื่องการเรียน และการพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การจัดการศึกษาเพียงลำพังของระบบโครงสร้าง และสถาบันที่เป็นทางการไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่รวดเร็ว กำลังเป็นช่องว่างระหว่างการศึกษาและตลาดแรงงานออกไป
ที่สำคัญ ระบบการศึกษาในปัจจุบันยังคงเน้นเรื่องเนื้อหาและความจำ ขณะที่ทักษะความสามารถ เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหากลับมีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้น เส้นแบ่งระหว่างโลกวิชาการและตลาดแรงงานจึงต้องจางลง หรือหายไปอย่างสิ้นเชิง เพราะการเรียนรู้และนวัตกรรมเกิดขึ้นตลอดเวลาในวงจรชีวิตการทำงาน
ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกับนักการศึกษาและรัฐบาล เพื่อช่วยให้ระบบการศึกษาสามารถตามทันความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งนี้การจะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่รวดเร็วแบบนี้จำเป็นต้องอาศัยทัศนคติของผู้กำหนดนโยบายที่ต้องสามารถก้าวข้ามวงจรทางการเมืองให้ได้
สิ่งหนึ่งที่กำลังเป็นปัญหาคล้ายกันทั่วโลกรวมทั้งไทย คือการผลิตบัณฑิตไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจ หลายประเทศ เช่น ชิลี, อาร์เจนตินา, ไอร์แลนด์ และสเปน มีจำนวนประชากรที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ตำแหน่งว่างงานมีน้อย จึงทำให้ผู้ที่จบการศึกษาจะต้องทำงานในวุฒิที่ต่ำกว่า ซึ่งไทยก็เข้าข่ายนี้
เพราะปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษาไทยที่ลงเรียนสายสังคมศาสตร์ ธุรกิจและกฎหมายสูงที่สุดจำนวนถึง 1,337,272 คน (หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของนักเรียนทั้งหมด) ขณะที่สายวิศวกรรม การผลิต และการก่อสร้างมีเพียง 247,883 คน หรือร้อยละ 9 สายวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 8) การบริการ (ร้อยละ 1.8)
การพัฒนาประชากรทุกกลุ่มให้ได้รับการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องมีความสำคัญยิ่ง เพื่อให้ประเทศมีขีดความสามารถทางการแข่งขัน และมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในอนาคต
วันนี้ความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ที่ใครมีเงินทุนมากกว่ากันอีกต่อไป แต่วัดกันที่ศักยภาพการพัฒนา และใช้ประโยชน์จากทุนมนุษย์ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเชื่อมโยงกับห่วงโซ่ทรัพยากรมนุษย์ในระดับนานาชาติจากเศรษฐกิจไร้พรมแดน
เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากฐานความรู้และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราไม่สามารถรู้ว่าอนาคตข้างหน้าลักษณะอาชีพจะเปลี่ยนไปอย่างไร จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้คนยุคต่อไปมีศักยภาพในการปรับตัว และการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1