Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : เมื่อกล้าปราบคอร์รัปชั่น ก็ลองกล้าเปลี่ยนประเทศ ด้วยการปฏิรูปการศึกษา

เมื่อกล้าปราบคอร์รัปชั่น ก็ลองกล้าเปลี่ยนประเทศ ด้วยการปฏิรูปการศึกษา

สนใจและติดตามการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล คสช. และกระทรวงศึกษาธิการอย่างใจจดจ่อ แต่ผู้เขียนรู้สึกสังหรณ์ใจอย่างไรไม่รู้ กลัวเสียของอีก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงได้ฟังข้อคิดข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลายมากพอแล้ว อยู่ที่ท่านจะตัดสินใจท่านกล้าพอที่จะใช้ดาบ ม.44 หรือไม่
ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่รอและเชื่อว่ามีหลายคนที่คิดเหมือนผู้เขียน (ผู้เขียนไม่ได้ฝักใฝ่อำนาจเผด็จการ) ทำไมผู้เขียนคิดเพี้ยนๆ แบบนี้ เพราะปัญหาทางการศึกษาของไทย มันเรื้อรังเป็นสนิม เกรอะกระ ยุ่งเหยิง ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ซ่อนกล มายาวนาน ผู้รับผิดชอบไม่พูดความจริง ไม่ยอมรับความล้มเหลว ไม่เปิดกว้างที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ในการปรับเปลี่ยน ซึ่งยากที่ให้อัศวินใดๆ มาแก้ได้ ทั้งๆ ที่เราคิดวางแผนและปฏิรูปมาแล้วหลายครั้ง ดูเหมือนยิ่งคิดยิ่งถลำลึกหลงทางเข้าป่าลึกลงเหว ยิ่งดิ่งเข้าหาหลุมดำมืดแห่งความตายของประเทศ คือ คนยิ่งเรียน ยิ่งโง่ ยิ่งเรียน ยิ่งเห็นแก่ตัว
ผู้เขียนฟังข่าว มีคนคิดกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแล คิดแบบนี้กำลังย้อนยุคไปเมื่อหลาย 10 ปี ที่ผ่านมา หลักคิดดีมาก แต่อย่าลืมความจริงให้มากๆ ว่าท้องถิ่นพร้อมหรือเปล่า การศึกษาสิ้นหวังกับนักการศึกษาที่คิดสั้น คิดแคบๆ คิดเห็นแก่ได้คิดเว่อร์ๆ คิดมักง่ายไม่ใช่หรือ (นักการเมืองนักการศึกษาที่ดีก็มี) การศึกษาของไทยซึ่งเป็นหนูทดลองยาเสมอ เป็นแหล่งผลประโยชน์ ทั้งเงิน ทั้งของ ทั้งอุปกรณ์ ทั้งอำนาจ เรียกผลประโยชน์จากการโยกย้ายครู และผู้บริหาร มีผู้นำท้องถิ่นสักกี่คนที่มีความรู้ในเรื่องหลักสูตร รู้การวัดและประเมินผล
รู้มาตรฐานการศึกษา รู้มาตรฐานตัวชี้วัด รู้คุณลักษณะที่พึงประสงค์ และรู้เป้าหมายหลักสูตรว่าต้องการให้ผู้เรียนเป็นคนอย่างไร เมื่อจบหลักสูตรนี้ และที่ไม่ขอพูดอีกหลายๆ อย่างที่ท้องถิ่นเอาการศึกษามาต้มยำกุ้ง ทั้งผู้บริหาร ครู และนักเรียน อย่าคิดว่าท้องถิ่นมีเงินแล้วการศึกษาจะดีขึ้น อย่าคิดเองแล้วตอบเอง ควรรับฟังความคิดเห็นจากครูหรือผู้เกี่ยวข้องให้มากที่สุด
ตัวอย่างที่ 9 อรหันต์ คิดแล้วทิ้งโศกนาฏกรรมไว้ให้เห็นจนถึงปัจจุบัน การรื้อโครงสร้างก็เป็นแนวทางผู้เกี่ยวข้องกำลังคิดกันอยู่ในขณะนี้ แต่ผู้เขียนคิดว่ารื้อสัก 100 ครั้ง ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะคนทำ คนคิด ยังเป็นคนเดิม เพียงเปลี่ยนตำแหน่ง เปลี่ยนหน้าที่เท่านั้น ดีไม่ดี เพิ่มตำแหน่ง เพิ่มคน เพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นมาอีก ถ้ายุบนั่น เลิกนี่ ก็ยังทำความเสียหาย ทรัพย์สินราชการ รกร้าง ถูกทิ้งขว้างไม่มีคนดูแลรักษา ประมาณค่าไม่ได้อยู่ในขณะนี้ แต่ถ้าท้องถิ่นใดพร้อมก็ให้เขาจัดการศึกษาได้เลย ซึ่งมีหลายท้องถิ่นจัดได้ดี แต่ขอเตือนว่าผู้นำท้องถิ่นอย่าเอาโรงเรียนเป็นฐานทางการเมืองก็แล้วกัน ถ้าอย่างนี้พังอีก
ประเทศไทยต้องการคนตัดสินใจที่แน่วแน่ ต้องการผลิตคนที่รักชาติจริงๆ ต้องการคนที่คิดไกล คิดรอบด้าน ต้องการคนที่นำปัญหามาคิดวิเคราะห์ เทียบเคียง กับประเทศที่เขาประสบความสำเร็จมาอ้างอิง ต้องการคนที่พร้อมรับฟังจากความต่างของคนอื่นมาเป็นเงื่อนไขในการพัฒนาการศึกษาของชาติ

การปฏิรูปการศึกษา อย่าคิดว่าถ้าอบรมครู ผู้บริหารแล้วจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น เราอบรมมาหลายโครงการหลายครั้ง เปลืองงบประมาณ เปลืองเวลามามากแล้ว ครูทิ้งห้องเรียน ผู้บริหารทิ้งโรงเรียน วิธีแบบนี้ทำมาแล้วแต่มันล้มเหลว มันแย่ทุกๆ ด้าน ยังจะเอามาทำอีก ทำกี่ครั้งก็ไม่ถึงนักเรียน ไม่ถึงห้องเรียนอยู่ดี ยังดีที่มีโครงการดาวเทียมไกลกังวล และ DLITV และ DLIS ที่ผู้รับผิดชอบกำลังเร่งขยายผลลงสู่ผู้ปฏิบัติ สู่ผู้เรียน ดูแล้วน่าจะเป็นความหวัง แต่ก็ห่วงว่าโครงการดีๆ แบบนี้จะตายกับการบริหารจัดการเหมือนๆ กับหลายโครงการที่ผ่านมา
ผู้เขียนใคร่เสนอแนะซุปเปอร์บอร์ดลองเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำใหม่ โดยใช้ ม.44 ดำเนินการ คือ ให้โรงเรียนประจำจังหวัด หรือโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษจังหวัดละ 2-3 โรง รวมถึงโรงเรียนในกรุงเทพฯและปริมณฑล ออกนอกระบบให้บริหารโดยบอร์ดการศึกษาของโรงเรียน ผู้บริหารอยู่ในตำแหน่ง 5 ปี เงินเดือนๆ ละ 100,000 บาท มีรองผู้บริหาร 2 คน เดือนละ 80,000 บาทมีกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. และเขตพื้นที่คอยดูแลควบคุมนโยบาย แต่การบริหารจัดการให้ผู้บริหารมีอำนาจเต็ม โดยทดลองโรงเรียนประจำจังหวัดก่อน ถ้าผลประเมินแล้วคุณภาพไม่ดีขึ้นบอร์ดจะพิจารณาเลิกจ้าง ส่วนครูบุคลากรยังให้อยู่ในระบบราชการเช่นเดิม
ถ้าโรงเรียนมีคุณภาพดีขึ้นก็ทยอยปล่อยให้โรงเรียนเก็บเงินระดมทุนจากผู้ปกครองได้ในอัตราลอยตัว ดังเช่นโรงเรียนเอกชน หลายโรงเรียนที่เขาสามารถบริหารจัดการได้อย่างดีเยี่ยม


และถ้าหากดูผลการประเมิน Pisa2012 ส่วนใหญ่เกือบ 100% เป็นโรงเรียนเอกชน โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ โรงเรียนโครงการพิเศษ เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นต้น ส่วนโรงเรียนของรัฐที่รัฐดูแลแทบไม่มีเลย ลองคิดใหม่ลองถามว่าทำไม โรงเรียนเอกชนเขาจึงประสบความสำเร็จ รัฐทำไมไม่ศึกษาดู รัฐควรปรับวิธีคิดและวิธีบริหารจัดการเสียใหม่ เพิ่มเงินรายหัว หรือเงินอุดหนุนให้กับโรงเรียนเอกชนให้สูงขึ้น (ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าโรงเรียนเอกชนผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนใครมีคุณภาพดีกว่ากัน) ระหว่างเอกชนกับรัฐเพราะถ้าโรงเรียนของรัฐ ไม่มีรัฐอุ้มชูแล้ว ลองคิดดูว่ายังมีโรงเรียนหลงเหลือให้เด็กได้เรียนอีกหรือเปล่าไม่รู้ ด้านเงินเดือนของครู เริ่มต้นที่ 30,000-40,000 บาท ประเมินทุก 3 ปี ผ่านประเมิน เพิ่มเงินจนเต็มเพดาน 60,000 บาท ประเมินจากผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นหลัก ครูใหม่ไม่ต้องบรรจุแต่ให้เป็นพนักงานราชการให้เงินค่าตอบแทนสูง (เฉพาะคนที่มีคุณภาพ) วิธีนี้จะประหยัดและไม่ผูกพัน เงินบำนาญ บำเหน็จ เงินค่าตอบแทนครูคนละ 60,000 บาท น่าจะเพียงพอในการดำรงชีพของครู
ถ้ามีผลงานดีมากๆ จ่ายเป็นโบนัสแบบนี้ รัฐจะประหยัดงบประมาณค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาล ค่าบำเหน็จ บำนาญ แต่ที่น่าพอใจคุณภาพทางการศึกษาของไทยน่าจะดีขึ้น หรือลองสนับสนุนให้โรงเรียนเอกชนจัดการศึกษาให้เต็มรูปแบบ รัฐสนับสนุนเงินอุดหนุน เงินรายหัว ปรับค่าตอบแทนครูบุคลากรให้สูงขึ้น ดังข้อมูลข้างต้นน่าจะดีกว่าโอนไปสู่ท้องถิ่น เพราะมีตัวอย่างของโรงเรียนเอกชนที่ประสบความสำเร็จมากมายลองดูซิ
หรืออีกตัวอย่างที่น่านำเอามาศึกษาคือการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเดิมๆ มีหลายคนดูถูกดูแคลนว่าไม่มีคุณภาพ ผู้เรียนไม่เก่ง ผู้เรียนคือผู้สอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐไม่ได้ แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ใช่ภาพดังที่หลายคนคิดอีกต่อไป ผลผลิตของ ม.รามคำแหงกำลังเป็นกำลังหลักของประเทศทุกภาคส่วนแล้วมิใช่หรือในขณะนี้ ตรงข้ามต้องยอมรับหรือไม่ว่าเรามีครูผู้บริหารที่มีวิทยฐานะ และเงินเดือนสูงเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าเราดูคุณภาพทางการศึกษาของเด็กไทย ตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และนับวันยิ่งตกต่ำจนกำลังจะหมดหนทางแก้ไข
และที่น่าเศร้าใจยิ่ง ผลสัมฤทธิ์ไม่คุ้มทุนที่รัฐจ่ายค่าตอบแทนให้กับบรรดาผู้บริหาร ครูบุคลากรทางการศึกษาอยู่ในขณะนี้ ลองคิดออกนอกกรอบที่เป็นอยู่ร่วม 100 ปีได้ไหม ในระดับมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน

ผู้เขียนได้อ่านข้อมูลจากสื่อ เรื่องการเปิดปิดของมหาวิทยาลัยให้เหมือนกับมิตรประเทศอาเซียน กำลังเป็นของร้อนของชาวมหาวิทยาลัย เหตุผล อากาศร้อนเกินไปฟังแล้วเศร้าใจแทน เอาประเด็นอากาศร้อนมาเป็นปัญหา (ที่จริงเรียนและสอนในห้องแอร์) คิดดูระหว่างผลประโยชน์ที่นักศึกษาควรจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน รู้เขารู้เรา กลับไม่ได้รับการสนับสนุน แถมออกมากดดันให้กรรมการอุดมศึกษายกเลิกหรือทบทวน คิดอย่างนี้แล้วเราจะฝากประเทศชาติไว้กับคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร แค่อากาศร้อนยังทนไม่ได้ ประเทศอิสราเอลเป็นทะเลทราย เขาสร้างประเทศได้ เขาไม่มีป่าไม้ ไม่มีทรัพยากรที่สมบูรณ์เหมือนเรา เขาไม่มีน้ำให้ดื่มแต่เขาสู้จนประเทศผ่านวิกฤตไปได้ ฟิลิปปินส์เกือบทั้งปีโดนพายุถล่ม เขายังสู้ เขายังไม่คิดเปลี่ยนเหมือนกับเราคิด เศร้าใจจริงๆ เวรกรรมจริงๆ ประเทศไทย
ทั้งหมดเป็นข้อมูลบางส่วนที่ผู้เขียนนำมากล่าวถึงในฐานะผู้เขียนอยู่ในตำแหน่งอยู่ในระบบราชการมาร่วม 40 ปี มีโอกาสได้เห็นสิ่งดีๆ ทั้งในและต่างประเทศ มีโอกาสได้เห็นความเป็นมาเป็นไป การบริหารจัดการด้านการศึกษาของไทย คิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคน ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันลดทิฐิ ลดความคิดเห็นตัวเองเป็นที่ตั้ง ลดการเห็นแก่ตำแหน่งและพวกพ้อง เปลี่ยนวิธีคิด สร้างคนสร้างชาติใหม่ เหมือนมิตรประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง เปิดโอกาสให้ซุปเปอร์บอร์ดทางการศึกษา ปรับเปลี่ยนและปฏิรูปการศึกษาของไทยอีกครั้งหนึ่ง แต่ขอย้ำว่าถ้าปฏิรูปโครงสร้างหลักสูตรครูผู้สอนและอื่นๆ ตามที่เป็นข่าว
ผู้เขียนคิดว่าทำได้แต่น่าจะยาก เพราะตราบใดคนไม่เปลี่ยนวิธีคิดไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริหารไม่เปลี่ยน ปัญหาก็คงเหมือนเดิม มีทางเดียวคือ รัฐบาลและ คสช.ใช้ความเด็ดขาด (ม.44) เปลี่ยนประเทศโดยใช้การศึกษาและอยากตะโกนบอกท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานซุปเปอร์บอร์ดดังๆ ว่า ถ้าไม่กล้า ชาติล่มจมแน่คอยดู



ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณและโรงเรียนดาวนายร้อย

ขอบคุณที่มาจาก มติชน วันที่ 27 พฤษภาคม 2558

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1