Featured post

ผลงานด้านภาษาไทย

คลิปการแนะนำการสอนภาษาไทย
























เรื่องเล่าเมื่อครั้งเป็นคุณครูสอนพิเศษภาษาไทย



ลูกศิษย์คนแรกของคุณครู



                ลูกศิษย์คนแรกของคุณครู เป็นนักเรียนชาย ขอไม่เอยชื่อ คุณครูต้องเดินทางไปสอนที่ตลาดสำเหร่ เป็นนักเรียนชายประถมศึกษาปีที่ ๓ มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาไทย ไม่คล่อง  ต้องกล่าวก่อนว่า คุณครูเข้าวงการสอนภาษาไทยในลักษณะการสอนพิเศษนี้ เมื่อปีที่๓ ของการศึกษาที่มหาวิทยาลัย เหตุผลประการแรกคือ ต้องการหารายได้ และฝึกการเรียนการสอน อันเป็นอาชีพและสิ่งที่คุณครูชื่นชอบมากที่สุด   เด็กนักเรียนผู้นี้อ่อนมาก เขียนสะกดคำไม่ถูก คุณครูเลยเริ่มหนักใจว่าจะทำการเรียนการสอนได้หรือไม่   เมื่อทำการติดต่อกับผู้ปกครองของนักเรียน วันแรกของการเรียนการสอน ก็เริ่มขึ้น วันแรก ตามข้อกำหนดของคุณครู คือจะต้องมีการทดสอบเสียก่อนว่านักเรียนมีปัญหาอย่างไร โดยใช้แบบทดสอบการพฤติกรรมการใช้ภาษาไทย ทักษะทั้งสี่ด้าน ได้แก่ พูด ฟัง อ่าน เขียน  (ท่านผู้สนใจเข้าดูได้ในหน้าบล็อก แบบทดสอบพฤติกรรมการใช้ภาษาไทย โดยที่นำมาแสดงให้ดูนั้นจะเป็น ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ครับ) 
เมื่อคุณครูไปถึงที่บ้านของนักเรียนก็ปรากฏนักเรียนชายร่างเล็ก ที่ไม่ดูจะดื้อหรือซนแต่อย่างไร หน้าตาน่ารัก เหมาะกับวัย สิ่งแรกที่คุณครูทำคือการยิ้มให้ ด้วยความเชื่อลึก ๆ ในใจว่า รอยยิ้มชนะทุกสิ่ง และก็จริงตามนั้น รอยยิ้มทำให้เรากลายเป็นคุณครูที่แสนวิเศษสำหรับนักเรียนได้จริง ๆ  การประเมินทำไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แม้จะไม่บ่อยมากเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นการทำแบบประเมินที่ไม่เคร่งเครียด  คุณครูจึงสอบถามนักเรียนไปอีกหลากหลายเรื่องเพื่อให้คุ้นเคย จนในที่สุดคุณครูก็ทราบแล้วว่าเหตุใดที่ผู้สอนคนเก่าจึงกล่าวว่านักเรียนอ่อนภาษาไทย แท้จริงแล้ว นักเรียนไม่เชิงอ่อนภาษาไทยมากเท่าใด แต่อาจจะเป็เพราะผู้สอนคนเก่าไม่ทำการประเมินนักเรียนก่อนทำการสอน ผู้สอนภาษาไทย ทุกท่านจะต้องจำไว้ข้อหนึ่งว่า ในด้านทักษะทางภาษาไม่ใช่ว่าทุกคน นักเรียนทุกคนจะมีความสามารถเท่ากัน การที่เราไม่ทำการวัดและประเมินผลเสียก่อนย่อมทำให้การเรียนการสอนภาษาไทยมีปัญหา ทั้งผู้สอนและนักเรียน 
                ในระยะแรกคุณครูก็มีปัญหากับคุณแม่ในเรื่องของการทำแผนการเรียนการสอน โดยมุมมองของคุณแม่ ท่านเห็นว่านักเรียนที่เราสอนนั้นเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ แล้ว การที่เราทำแผนการเรียนการสอนที่ต่ำกว่าระดับ อาจจะไม่สมควรมากนัก แต่เมื่อคุณครูได้พิจารณาในด้านผลการประเมินก็เห็นว่าสมควรจะทำพื้นฐานของนักเรียนให้แน่นเสียก่อน เวลาศึกษาในระดับสูงต่อไป จะได้ไม่มีปัญหา
                สิ่งที่คุณครูมีมากกว่าคุณครูสอนพิเศษ หรืออาจจะเรียกว่าติวเตอร์ ก็คือแบบแผนที่มีระบบระเบียบกว่า  คุณครูจะมีการทำการประเมินในตอนแรกของการรับงานสอน และจะมีการประเมินผู้สอนในทุกระยะ พร้อมทั้งมีการจัดการทำการทดสอบบทเรียนว่านักเรียนมีความเข้าใจได้ดีหรือไม่ในบทเรียน เป็นระยะ ๆ และทุกครั้งที่คุณครูไปสอนก็จะจัดทำแผนการเรียนการสอน แนบกับผลการเรียนการสอนส่งให้ผู้ปกครองหรือนักเรียนทราบทุกครั้ง ดังนั้น คุณครูจึงยืนยันว่าการเรียนการสอนกับคุณครูมีระบบระเบียบ และสามารถช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจในด้านภาษาไทยได้ดียิ่งขึ้น
                จนถึงทุกวันนี้นักเรียนชายประถมศึกษาผู้นี้ก็ได้ผ่านระดับชั้น ไปตามลำดับและมีผลการเรียนด้านภาษาไทยที่ดีขึ้นไปตามลำดับ อาจจะมีคนคิดว่า คงเป็นเพราะคุณครูช่วยในด้านการเรียนการสอน แต่คุณครูอยากจะกล่าวตรงนี้เลยว่า ในการเรียนการสอนภาษาไทยคุณครูใช้การส่งเสริมการอ่าน และจะจัดหาหนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัยให้นักเรียนยืมอ่าน หนังสือเป็นบ่อเกิดที่ทำให้เราเก่งภาษาไทย เขียน อ่าน เก่งและคล่องขึ้น นักเรียนชายคนนี้ด้วยก็เช่นกัน ด้วยรอยยิ้มที่คุณครูมีให้เสมอ และความห่วงใย ไม่เลี้ยงไข้ หวังให้นักเรียนมีทักษะภาษาไทยดีขึ้น แม้ว่าการเป็นคุณครูสอนพิเศษเช่นนี้ในอดีตจะถูกเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้ แต่คุณครูก็ทำให้นักเรียนของครูทุกคนได้มีพัฒนาการที่ดี
                                                                                                                             
                สิ่งหนึ่งที่คุณครูยังยึดมั่นเสมอไม่เสื่อมคลาย นักเรียนลูกศิษย์ของครูจะรู้ดีว่า คุณครูไม่ได้สอนเพียงภาษาไทยแต่สอนคุณธรรม จริยธรรม มารยาทไทย และมรดกไทยไปในตัวโดยที่นักเรียนเองก็ไม่รู้ตัว แต่ครูเชื่อว่าสักว่าเมื่อลูกศิษย์ของครูเติบโต จะจำครูได้ ว่าครูสอนอะไร และควรเป็นอะไรให้แก่สังคมไทยครับ



ภาษาไทย มูลเหตุปัญหาที่เยาวชนไทยกำลังเผชิญ


                ลูกศิษย์ทราบหรือไม่ครับ ว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับการใช้ภาษาไทยที่ผิดเพี้ยนไป จากประสบการณ์ที่คุณครู ได้สอนนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ๒ ประถมศึกษา เห็นวานักเรียนไทยในปัจจุบัน มีปัญหาในการใช้ภาษาไทยเป็นอย่างมากครับ ไม่ว่าจะไม่สามารถประสมเสียงสระ ได้ จำสระไม่ได้ อ่านประสมเสียงพยัญชนะกับสระไม่ได้ ตลอดจนไม่สามารถเขียนคำยาก ๆ ได้ หรือเขียนคำเป็นกระบวนประโยคไม่ได้ หรือเขียนได้ไม่ถูกต้อง มูลเหตุปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากสิ่งใด ?
              
ชาติไทยเป็นเพียงชาติเดียวเท่านั้นทีรอดพ้นจากการตกเป็นเมื่องขึ้นของต่างชาติได้ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าของไทย  ที่ทรงปกป้องบ้านเมืองจนไทยเป็นไทในปัจจุบัน ในอดีตคนไทยบางท่านอาจน้อยใจที่เรียนภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างชาติไม่ได้เลย เพราะเราไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ในปัจจุบันด้วยความทันสมัยแห่งเทคโนโลยี และระบบการศึกษาไทยที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้การเรียนภาษาต่างประเทศเป็นไปได้ง่ายและนักเรียน เยาวชนไทยมีโอกาสได้ใช้ภาษาต่างประเทศได้มากขึ้น แต่กระนั้น ความพัฒนาที่รวดเร็วจนเกินไป ส่งผลเสียอย่างมากต่อสังคมไทย และภาษาไทย
                นักเรียนไทยเป็นจำนวนมากยังสับสนในการใช้ภาษาไทย ไม่ทราบว่า ฎ (ดอ ชฎา) และ ฏ (ตอ ปฏัก) ต่างกันอย่างไร  จากกรณีที่ได้สอนนักเรียน นักเรียนบางคน อ่าน ฎ ชฎา ว่า ชอ ชฎา และยังมีปัญหาในการเขียนอีกมาก ไม่ว่า จะเป็นการจำสับสนระหว่างการเขียนพยัญชนะหัวเข้าด้านในหรือหัวออกด้านนอก  ตลอดจนการเขียนเลขไทยไม่เป็น อ่านเลขไทยไม่ออก เขียนเลขไทยไม่ถูก
                ปัญหาที่สำคัญของเยาวชนไทยต่อการใช้ภาษาไทยนั้นก็คือการใช้ภาษาต่างประเทศทับศัพท์ในภาษาไทย เช่นกรณีนักเรียนอนุบาล ๒ พูดว่า คุณครูได้หนึ่งพอยท์” ซึ่งเป็นการพูดทับศัพท์คำว่าคะแนน เป็นต้น
ใครว่าภาษาไทย คนไทยไม่มีปัญหา อยากจะเรียนให้ท่านทั้งหลายทราบว่า คนไทยนี้แหละที่ใช้ภาษาไทยผิดเพี้ยนไปมากที่สุด  บางท่านที่เคยศึกษาด้านภาษาศาสตร์มาบ้าง อาจกล่าวว่า อันเนื่องด้วย ภาษาไทยเป็นภาษาที่อยู่ในตระกูลยังไม่ตาย เช่นภาษาบาลี ภาษาไทยจึงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ตราบใดที่ภาษายังมีชีวิต จริงอยู่ในประเด็นนี้ คุณครูไม่ขอแย้ง แต่การใช้ภาษาที่ไม่ถนอม แม้เป็นสิ่งของสักวันคงมีวันเสื่อม และชำรุดไปในที่สุด กระผมเห็นว่า การที่มีข้อความแสลง คำพูดแปลก ๆ ของเด็กวัยรุ่น หรือ อื่น ๆ คุณครูรู้สึกดีใจที่ภาษาไทยยังไม่ตาย แต่ประกอบไปด้วยความรู้สึกว่า นับวันภาษาที่ใช้ยิ่งเสื่อมถอย  มีอยู่สิ่งหนึ่งที่กระผมไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย คือการที่ ฝรั่งพูดไทยได้ชัดเจน และถูกต้อง   หรือเราจะรอวันที่ให้ชาวต่างชาติต่างภาษามาสอนภาษาไทยเราหรือ ?
                เหตุใดในที่นี้คุณครูจึงกล่าวเรียก ภาษาอังกฤษ ว่าเป็นภาษาต่างประเทศ ทั้งที่ความเข้าใจของท่านบางท่านเห็นว่าควรใช้ว่า เป็นภาษาที่สอง  ต้องเรียนอธิบายว่า ด้วยคำว่าภาษาที่สอง นั้นหมายถึง ภาษาราชการ เช่นในสิงคโปร์ จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ แต่พื้นเพคนในประเทศเป็นคนจีน ดังนั้นจะมีการใช้ภาษาจีน เรียกว่าเป็นภาษาที่ ๑ และภาษาอังกฤษ เรียกว่าเป็นภาษาที่ ๒ เพราะเป็นภาษาบังคับให้เรียนให้พูด เวลาติดต่อราชการ  ส่วนในประเทศไทย เราใช้ภาษาไทยกรุงเทพ ฯ เป็นภาษาราชการ ดังนั้น เราจึงไม่เรียกว่าภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่น  ๆ เป็นภาษาที่สองในประเทศไทย
เมื่อพูดถึงภาษาอังกฤษ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า คนไทยส่วนมามีปัญหาเวลาพูดถึงภาษาอังกฤษ ด้วยที่คนไทยมักพูดว่า ภาษาอังกิด” โดยที่แท้จริง แล้ว จะต้องออกเสียง ร เรือ จากกฏทางภาษาศาสตร์ที่ว่า หาก ฤ ร รึ เป็นพยัญชนะ นำหน้าอักษรอื่น ให้อ่านว่า รึ  แต่หากเป็นสระ เช่นในคำว่า อังกฤษ” ให้อ่านว่าตัวริ   เท่ากับอ่านคำนี้ว่า อังกริด อ่านควบกล้ำ ร เรือ กับ ก กอไก่


ผลงานเขียน ด้านภาษาไทย บางส่วน 


วิธีการสอนภาษาไทยโดยใช้ตำรา “ดรุณศึกษา” ระดับชั้นเตรียมประถมศึกษา ตอนที่ 1



ผู้เขียน   ครูเดช    สุรเดช  ภาพันธ์    ประสบการณ์การสอนและแก้ไขปัญหาภาษาไทย แก่นักเรียนระดับเตรียมประถมศึกษา-ประถมศึกษา มากกว่า 4 ปี   

ปรึกษาปัญหาการแก้ไขปัญหาภาษาไทย    e-dej@hotmail.com        084-014-7717   



วิธีการสอนภาษาไทยโดยใช้ตำรา “ดรุณศึกษา”  ระดับชั้นเตรียมประถมศึกษา

จุดประสงค์    เพื่อให้ผู้สอนภาษาไทยสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการวิธีการเรียนการสอน เพื่อนำไปใช้ในการสอนนักเรียนระดับเตรียมประถมศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ตำราที่ใช้ประกอบ     ดรุณศึกษา ชั้นเตรียมประถมศึกษา เล่ม ๑
พื้นฐานของผู้เรียน    นักเรียนชั้นเตรียมประถมศึกษา ที่มีทักษะในการจำพยัญชนะได้บ้างแล้ว รวมทั้งสระ   ในการเรียนรู้เริ่มต้น ตำราเรียนดรุณศึกษาชั้นเตรียมประถมศึกษานั้น จะยังไม่นำคำศัพท์ภาษาไทยที่มีตัวสะกดเข้ามาประสม มีเพียงการนำตัวพยัญชนะต้นประสมสระและผันเสียงวรรณยุกต์ ซึ่งเป็นการไล่เรียงความยากง่ายของการเรียนรู้ของนักเรียน เพราะนักเรียนช่วงวัยเตรมประถมศึกษา นี้จะออกเสียงคำที่ประสมด้วยพยัญชนะตัวสะกดไม่ได้

พื้นฐานของผู้สอน    มีความรู้ความเข้าใจในหลักทางภาษาไทยเป็นอย่างดี เข้าใจและมุ่งแก้ไขปัญหาของผุ้เรียนโดยให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาตามลำดับ  ผู้สอนควรให้โอกาสผู้เรียนได้พัฒนาตนเอง ด้วยการเรียนแบบ ตั้งคำถามตอบ และสอดแทรกเนื้อหาคุณธรรมจริยธรรม  เพราะการเรียนรู้ที่เก่งเพียงด้านวิชาการ มิใช่สิ่งที่สังคมไทยมุ่งหวังให้เกิดขึ้นเพียงด้านเดียว เยาวชนไทยต้องมีความรู้และคุณธรรมคู่กัน






_____________________________________________________________________________________________


บทเรียนที่ ๑   
หน่วยการเรียนรู้ ดรุณศึกษา ชั้นเตรียมประถมศึกษา  บทที่  ๑-๔
แนวทางการสอนและคำแนะนำ

บทเรียนในหน่วยการเรียนรู้แรกนั้น  ผู้สอนควรได้ทำการฝึกและทดสอบผู้เรียนด้วยแบบทดสอบพฤติกรรมการใช้ภาษาไทย และทักษะภาษาไทยก่อน เพื่อทำการประเมินว่าผู้เรียนนั้น มีความสามารถหรือบกพร่องอย่างใด แบบทดสอบนี้ผู้สอนสามารถทำขึ้นมาได้เองจากความรู้ความสามารถหรือจากประสบการณ์ของท่าน ทั้งนี้ผู้เขียนได้แนบแบบทดสอบที่ผู้เขียนใช้มาด้วย

                การเรียนรู้ภาษาไทยให้ได้นั้น ในลำดับแรก ผู้สอนต้องพิจารณาถึงช่วงวัยของผู้เรียนก่อนเป็นสำคัญ ทักษะทางภาษาไทย ในระดับเริ่มต้นนั้น ผู้เขียนเห็นว่า หากนักเรียนยังมีช่วงอายุที่ต่ำกว่า ๔ ปี ทักษะนี้ ผู้ปกครองเป็นผู้ที่ดีที่สุดในการเพิ่มพัฒนาการด้านทักษะภาษาไทย เพราะผู้ปกครองเป็นผู้ที่เป็นตัวอย่างในการใช้ภาษาที่ดีที่สุด ด้วยความใกล้ชิดและผูกพัน ผู้เขียนจึงไม่ใคร่จะแนะนำให้ผู้สอนเริ่มที่จะเข้าสอนอย่างจริงจังกับผู้เรียนวัยเริ่มต้นนี้ ทั้งนี้ผู้เขียนเองก็ไม่ปฏิเสธว่า การที่ผู้สอนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น จะไม่มีผลดี ผู้เขียนเห็นว่า ในกรณีแรกนั้น ผู้สอนควรเข้าไปช่วยเสริมผู้เรียน ทั้งในด้านทักษะการฝึกจำพยัญชนะ และการพัฒนากล้ามเนื้อ ที่จะทำให้นักเรียนสามารถฝึกคัดลายมือได้ในอนาคต

                สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะฝากถึงผู้ปกครองอีกประการหนึ่งที่สำคัญมาก คือการใช้สื่อในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มทักษะทางภาษาไทย ให้ดีขึ้นสำหรับบุตรหลาน วัยช่วงสี่ปีแรก โดยที่สื่อที่ผู้เขียนเห็นอยู่โดยตลอดในยุคสมัยปัจจุบันนั้นก็คือ สื่ออิเล็กโทรนิค หรือการใช้ภาพวีดีโอ รูปภาพที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ในการสอน    สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องด้วยการที่ช่วงสี่ปีแรก นั้นได้รับสื่อกลุ่มนี้มากจนเกินไป จะทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้นได้ง่าย  จริงอยู่ว่าการเรียนการสอนที่นำสื่อพวกนี้มา จะทำให้นักเรียนมีความรู้สึกสนใจมาก แต่กระนั้นหากเราใช้สื่อกลุ่มนี้มากจนเกินไป ก็ย่อมมีผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะสื่อเหล่านี้จะขโมยทักษะทางภาษาและอื่น ๆ ของเด็กไป จนนำไปสู่การมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กปกติทั่วไป หรืออาจจะมีสภาวะสมาธิสั้นในเวลาต่อมา

                ผู้เขียนประสบกับเหตุการณ์นักเรียนสมาธิสั้นมามาก และนับวันผู้เขียนยิ่งเห็นว่า ด้วยนโยบายต่าง ๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยี ในการผลิตสื่อการเรียนการสอนกันมากมาย นั้น เป็นเสมือนกระจกสองด้าน ด้านหนึ่งกระบวนการทางการศึกษาของไทยได้มองเห็นว่ามีความพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้ซึ้ง และเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการสร้างสื่อการเรียนการสอนนั้นดีอยู่มาก ตรงที่สื่อมีเข้ามาช่วยลดภาระอันหนักอึ้งของครูผู้สอนให้สามารถทำการเรียนการสอนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนไม่ได้ต่อต้านการใช้เทคโนโลยี เข้ามาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน แต่ผู้เขียนเห็นว่า เราควรจะใช้อย่างถูกวิธี และไม่ควรให้ทั้งหมดของการเรียนการสอนหมดไปกับเทคโนโลยีการศึกษาเพียงอย่างเดียว 


วิธีการสอนภาษาไทยโดยใช้ตำรา “ดรุณศึกษา” ระดับชั้นเตรียมประถมศึกษา ตอนที่ 2

ต่อจากตอนที่ ๑




ในมุมกลับกันที่ประเด็นปัญหาเด็กสมาธิสั้นเริ่มมีมากขึ้นนั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นควบคู่กับการมีเทคโนยีอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และเทคโนโลยีเพื่อการบันเทิงที่มีมากขึ้นทุกวัน เราอาจจะเรียกยุคนี้ว่า “ยุครวดเร็วทันใจ”  เพราะเพียงปลายนิ้วสัมผัส ก็ได้ในสิ่งที่ต้องการ จึงไม่น่าจะแปลกใจนักกับการที่เด็กในยุคสมัยปัจจุบันมีปัญหาด้านสมาธิสั้นกันเพิ่มมากขึ้น ผู้เขียนเชื่อลึก ๆ ว่าการที่เราปล่อยให้บุตรหลานเสพสื่อหรือมีเวลากับเกมส์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ การดูโทรทัศน์ หรืออื่น ๆ มากจนเกินไปนั้น จะเป็นการกระตุ้นทำให้เกิดอาการสมาธิสั้นมากขึ้น   เราควรจัดช่วงระยะเวลาให้เพียงพอและมีขอบข่าย ไม่เพียงแต่เป็นการลดความเสี่ยงจากภาวะสมาธิสั้นแล้ว ยังเป็นผลดีอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้บุตรหลานฝึกสร้างความมีระเบียบวินัยในตนเอง อีกด้วย

                ในตำราดรุณศึกษานั้น จะแบ่งหมวดหมู่การเรียนออกเป็นกลุ่มพยัญชนะ ๓ หมวด คืออักษรกลาง สูง และต่ำ  ซึ่งการแบ่งกลุ่มพยัญชนะนี้ออกเป็น ๓ หมวดนั้น ผู้เขียนจะยกบทความที่เกี่ยวข้องประกอบเพื่ออธิบายว่าเหตุใด ครูบาอาจารย์ที่เขียนตำราภาษาไทย ท่านจึงแบ่งกลุ่มพยัญชนะออกเป็น ๓ หมวดอักษร และการแบ่ง ๓ หมวดนี้ เป็นการแบ่งตามเสียงของกลุ่มอักษรจริงหรือ ?

เสริมเนื้อหา

                ในตำราดรุณศึกษา ชั้นเตรียมประถม ที่กำลังศึกษาอยู่นี้ ก็เริ่มต้นด้วยกลุ่มพยัญชนะ หมวดอักษรกลาง อันประกอบด้วย
-อักษรกลาง      ก จ  ฎ  ฏ  ด   ต   บ  ป  อ     
-คำท่อง               ไก่ จิก เฎ็ก (เด็ก)  ฏาย (ตาย)  เด็ก ตาย บน ปาก โอ่ง    
ซึ่งบางตำราอาจจะมีวิธีการท่องที่แตกต่างกันออกไป   วิธีการท่องจำนี้มิใช่ปัญหา เพียงนักเรียนที่เรียนสามารถท่องจำและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมากยิ่งกว่า  
                ตามหลักแล้วกลุ่มอักษรกลางนี้ เป็นเพียงกลุ่มอักษรเดียวเท่านั้นที่สามารถผันเสียงวรรณยุกต์ได้ถึง ๕ เสียง นั้นก็คือ   เสียงสามัญ (ไม่มีรูป)  เสียงเอก (รูปเอก)  เสียงโท (รูปโท)  เสียงตรี (รูปตรี )  และเสียงจัตวา  (รูปจัตวา)   ที่ผุ้เขียนเขียนทั้งเสียงและรูปนั้น เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบว่ากลุ่มอักษรกลางนี้ นอกจากสามารถผันเสียงวรรณยุกต์ได้ถึง ๕ เสียงแล้ว ทุกการผันเสียงวรรณยุกต์ อักษรกลางก็สามารถผันเสียงได้ถูกต้องตามเสียงที่ผัน  กล่าวคือ ผันเสียงโท รูปหรือเครื่องหมายที่ปรากฏก็เป็นเครื่องหมายหรือรูปไม้โท นั้นเอง (ที่ผู้เขียน กล่าวดังนี้ ผู้อ่านจะเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อผู้เขียนกล่าวถึงกลุ่มอักษรสูงและต่ำ และทั้งสองกลุ่มนี้ ผันเสียงวรรณยุกต์อีกเสียง ลงเครื่องหมายหรือรูปอีกเสียง ซึ่งมีความแตกต่างจากกลุ่มอักษรกลางอย่างมาก )
                ในตำราดรุณศึกษานั้น ในช่วงหน่วยการเรียนรู้ที่ ๑-๔ นั้น ยังไม่มีการผันเสียงวรรณยุกต์ มีเพียงการนำพยัญชนะต้น จากลุ่มอักษรกลาง มาประสมสระ โดยมีกลุ่มการนำมาประสมดังนี้
-หน่วยที่ ๑    อักษรกลาง ๙ ตัว ประสมสระเสียงยาว ๔ ตัว   โดยตัวสระเสียงยาว ๔ ตัวนั้นคือ  สระ อา  อี  อือ  อู    
-หน่วยที่ ๒   อักษรกลาง ประสมกับสระเสียงยาว อีก ๔ ตัว โดยเสียงสระยาวทั้ง ๔ ตัวนั้น คือ สระ เอ แอ โอ ออ
-หน่วยที่ ๓ อักษรกลางประสมกับสระเสียงสั้น อีก ๔ ตัว โดยเสียงสระเสียงสั้นทั้ง ๔ ตัวนั้นคือ  สระ ใอ(ไม้ม้วน)  ไอ (ไม้มลาย) เอา และอำ
-หน่วยที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยสุดท้ายนั้น จะเป็นการสอบซ้อม กล่าวคือการรวบรวมคำศัพท์ที่ได้ศึกษาในหน่วยที่ ๑ -๓ มาทบทวน เพื่อวัดและประเมินผลในลำดับแรกว่า ผู้เรียนมีทักษะที่พัฒนาไปมากน้อยเพียงใด
                หากท่านผู้อ่านได้พิจารณาแล้ว ท่านจะเห็นว่า ในคำศัพท์พื้นฐานเหล่านี้ ไม่ได้มีความยากหรือซับซ้อนเลย เป็นคำศัพท์ที่ง่ายและรวดเร็วต่อการเรียนรู้ ประเด็นหนึ่งที่น่าสงสัยและผู้เขียนเองก็มีข้อกังขาไม่แพ้ท่านผู้อ่าน คือ เหตุเหตุตำราดรุณศึกษา จึงมีลักษณะของการเขียนคำศัพท์ของแต่ละบทเป็นลักษณะการเขียนแบบคำศัพท์แต่ละคำ เขียนเว้นวรรคกัน ตลอดเนื้อหา มีบางที่อาจะติดกัน
                โดยลักษณะเด่นของภาษาไทย หรือจะเรียกว่าเป็นลักษณะที่ยากแก่ผู้ศึกษาภาษาไทย อีกประการหนึ่ง นั้นก็คือ การที่ภาษาไทย มีลักษณะการเขียนภาษาไทย เขียนรูปประโยค เป็นลักษณะของพลความต่าง ๆ รวบรวมกันอยู่ในวรรคเดียวกัน จนมีความสับสนเกิดขึ้นแก่ผู้ศึกษาโดยทั่วไปว่าคำที่เขียนติดต่อกันนั้น อ่านอย่างไร  อาทิ  ปลาตากลม  ควรที่จะอ่านว่า  ปลา –ตา-กลม  หรือ ปลา-ตาก-ลม
                เพราะความยากของลักษณะการเขียนของภาษาไทยนี้หรือไม่ ที่ทำผู้แต่งตำราเล่มนี้ แยกคำศัพท์ต่าง ๆ แม้ว่าจะรวบรวมแต่งเป็นรูปประโยคแล้วก็ตาม   เมื่อผู้เขียนได้ลงสู่การสอนจริง กับนักเรียนที่มีปัญหาด้านภาษาไทย ผู้เขียนเห็นว่า รูปแบบและลักษณะของการเขียนแยกคำนี้ มีทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย   แง่ดีที่ว่านี้ คือ ง่ายต่อการอ่านและการจำคำ การออกเสียง และความหมายของผู้เรียน ยาก คือ ผู้สอนเมื่อสอนถึงบทหนึ่ง ที่ผู้เรียนควรที่จะสามารถอ่านจับใจความได้แล้ว กลับมีปัญหาข้อบกพร่องที่ว่า ชินกับการอ่านแบบแยกคำมาโดยตลอด เมื่อต้องพบกับประโยคที่ยาวและมีความต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถอ่านได้ หรืออ่านได้แต่จับใจความสำคัญของประโยคนั้น ๆ ไม่ได้ ปัญหาจึงเกิดขึ้น
                แล้วเราควรจะทำเช่นไร เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ที่ผู้เขียนเองก็ประสบเช่นเดียวกัน ?
                เมื่อผู้เขียนพิจารณาจากตำราเรียนดรุณศึกษาแล้ว แม้ว่าจะมีข้อด้อยประการที่ว่า ตำรามีการเขียนแยกคำศัพท์ แต่หากมองในแง่ดีแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าผู้เรียนส่วนมากได้ประโยชน์จากการอ่านแบบนี้ แต่กระนั้น ผู้เขียนเองก็พิจารณาอยู่เนื่อง ๆ ว่า ปัญหาที่ผู้เรียนจะประสบนั้น ย่อมมีเช่นกัน ผู้เขียนจึงไมได้ใช้เพียงตำราดรุณศึกษาเพียงอย่างเดียวในการเรียน แต่ใช้ตำราอื่น ๆ หรือบทความอ่านอื่น ๆ ประกอบด้วยเสมอ
                การเรียนการสอน ของครูภาษาไทย ในบางบริบทอาจจะไม่ได้มีความหมายว่าจะต้องตรงในเนื้อหาหลักสูตรเสมอไป ผู้เขียนเห็นว่า ความสำคัญของภาษาไทย คือครูผู้สอนจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนไม่เหนื่อยและเบื่อในการเรียน และจะทำอย่างไรให้ประเด็นปัญหาภาษาไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ลดทอนปัญหาลง บ้าง
                ในบทที่ ๑-๔ ของตำราเรียนภาษาไทย ดรุณศึกษา ชั้นเตรียมประถมศึกษา นี้ รูปแบบการเรียนการสอน ของผู้เขียน จะไม่เน้นเพียงการอ่านออกเสียงให้มีความชัดเจน หรือการจำคำศัพท์ได้เพียงอย่างเดียว แต่คือการอ่าน เขียน จำและเข้าใจความหมายของคำศัพท์นั้น  ๆ   ผู้เขียนประสบปัญหานี้มาเช่นเดียวกัน เมื่อได้ทำการเรียนการสอนภาษาไทย นั้นคือการที่ผู้เรียนสามารถอ่านออก เขียนได้ จำรูปสระ วรรณยุกต์ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่เมื่อย้อนถามถึงความหมายของคำ กลับไม่สามรถตอบได้  ลักษณะปัญหาประการนี้ ผู้เขียนเรียกว่า  “การท่องนะโม” 
                “การท่องนะโม”  คือสภาวการณ์ที่ผู้เรียนไม่สามารถเข้าใจความหมายของคำศัพท์นั้นๆ ได้ แต่สามารถอ่าน เขียน และจำรูปแบบของ



--------------------------------------------------------------

 “เอกลักษณ์ไทยในภาษา”
เสนอ รศ. ดร. นิตยา  กาญจนะวรรณ
หัวเรื่อง เอกลักษณ์ไทยในภาษา “ความกตัญญูรู้คุณ และการยกย่องผู้มีอาวุโส เอกลักษณ์ไทยที่ปรากฏในภาษา ”
โดย นาย สุรเดช  ภาพันธ์   รหัสนักศึกษา ๕๖๑๒๒๒๐๑๖๗  นักศึกษาระดับปริญญาโท  คณะมนุษยศาสตร์             สาขาไทยศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง    
บทคัดย่อ
                ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์อย่า
งหนึ่งของชาติที่แสดงออกถึงความเป็นอารยะ ทั้งในด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม วิถีการใช้ชีวิต และอุปนิสัย   โดยเฉพาะในด้านอุปนิสัยแล้ว ภาษามีอิทธิพลสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมนุษย์ใช้ภาษา และภาษาก็ได้รับการถ่ายทอดออกมาจากความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ ผ่านการพูด เขียน อ่าน และสัญลักษณ์ จึงมิอาจจะกล่าวได้ว่าความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์จะไม่ใช่ตัวแปรที่สำคัญของภาษา
                คนไทยมีคตินิยมหรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างหนึ่งก็ว่าได้ นั้นก็คือ ความกตัญญูรู้คุณ
บทความเอกลักษณ์ไทยในภาษา  “ความกตัญญูรู้คุณ และการยกย่องผู้มีอาวุโส เอกลักษณ์ไทยที่ปรากฏในภาษา ” (ใจความสำคัญ)
                “ ค่านิยมคนไทย   คนไทยยึดความกตัญญูรู้คุณเป็นสำคัญ เพราะลักษณะของสังคมไทยนั้นเป็นลักษณะแบบสังคมแบบแนวตั้ง คือให้ความสำคัญกับความอาวุโส เป็นสำคัญ แม้ว่าในบางครั้งจะไม่ไดเป็นดังที่แสดงออกมาก็ตาม เช่นการนับถือหรือเคารพผู้ใหญ่จากอำนาจบารมี เป็นต้น
ความหมายของคำว่า “กตัญญู”
[กะตัน-] น. (ผู้) รู้อุปการะที่ท่านทําให้, (ผู้) รู้คุณท่าน, เป็นคําคู่กันกับ กตเวที. [ป. กต ว่า (อุปการคุณ) ที่ท่านทําแล้ว + ญู ว่า ผู้รู้].
(ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมอิเล็กทรอนิค  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ :ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๔๒ )

                ความกตัญญูรู้คุณ หากจะกล่าวว่าเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการให้มีนั้น อาจจะกล่าวได้ว่าอาจจะเป็นจริงอยู่ เพราะทุกสังคมล้วนต้องการให้สังคมของตนเป็นสังคมที่ดีด้วยหลักคุณธรรม ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่ทุกสังคมล้วนต้องการให้ผู้คนปฏิบัติตามสิ่งที่ตนเองต้องการ หรือความคาดหวัง แต่ความคาดหวังในเรื่องความกตัญญูรู้คุณ ในสังคมไทยน่าจะไม่ใช่เรื่องที่ต้องการให้เป็น หรือริเริ่มให้เป็นแล้ว แต่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องมี ไม่ใช่เพียงแต่คนไทยเท่านั้น ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเกือบทั้งหมดนี้ก็ล้วนมีคุณธรรมนี้เป็นสำคัญเช่นเดียวกัน คุณธรรมเรื่องกตัญญูรู้คุณจึงเข้ามาเกี่ยวพันในภาษา เพื่อให้การอธิบายความเป็นเอกลักษณ์ไทยในภาษาได้ชัดเจน จึงได้ยกประโยค วลี ถ้อยคำ อื่น ๆ มาประกอบเพื่อให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่าค่านิยมของไทยนิยมความกตัญญูรู้คุณอย่างแท้จริง
                ก่อนจะกล่าวถึงเอกลักษณ์ไทยในภาษาในหัวเรื่องความกตัญญูรู้คุณของสังคมไทยนั้น ใคร่ขอยกถ้อยความที่ปรากฏใน หนังสือ “ค่านิยมในสำนวนไทย ของ เพ็ญแข วัจนสุนทร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน ๒๕๒๒”  ในบทนำ ดังนี้
“.... เมื่อวิเคราะห์ดูให้ถ่องแท้จะเห็นว่าในสำนวน สุภาษิตและคำพังเพยของไทยเรานั้นเป็นเครื่องมือชี้หรือบ่งบอก หรือแนะให้คนในสังคมเกิดความเชื่อตามได้เป็นอย่างมาก จึงพอสรุปได้ว่าคำสอนก็ดี คำกล่าวซ้ำซากของผู้ใหญ่ก็ดี หรือข้อความที่ได้ยินได้ฟังมาในสถานการณ์ต่าง ๆ กันในประสบการณ์ของคน จะเป็นเครื่อง “ก่อ” หรือ “สร้าง” ทัศนคติ เจตนคติ ความเชื่อ จุดหมายปลายทาง ความรู้สึก ความสนใจ ความปรารถนาและอุดมคติในชีวิตและที่สุด กลายเป็นค่านิยมของคนในสังคมได้”
จากถ้อยความที่ยกมานี้ ท่านจะเห็นชัดเจนว่า หากเราพึงจะศึกษาเอกลักษณ์ไทยในภาษาสิ่งที่ควรจะศึกษาโดยที่จะขาดเสียไม่ได้นั้นก็คือการพิจารณาดูเสียก่อนว่า ความกตัญญูรู้คุณ ที่ปรากฏในภาษา นั้น มีใน คำสุภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย บ้างหรือไม่ เพราะกลุ่มคำทางภาษาเหล่านี้เองที่เป็นตัวกำหนดค่านิยม หรือความ “เป็น” ของคนในสังคม  ผู้ศึกษาจึงได้ศึกษาค้นคว้าจาก หนังสือ “ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย” ของราชบัณฑิตยสถาน พบคำที่มีความหมายถึงความกตัญญูรู้ ดังนี้

ข้าเก่าเต่าเลี้ยง       น.คนเก่าคนแก่, คนที่อยู่ด้วยกันในฐานะรับใช้มานาน 
(ราชบัณฑิตยสถาน. ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ :ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๕๑ หน้า ๑๐)
อธิบาย   แม้ว่าสำนวนนี้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับความกตัญญูรู้คุณ โดยตรง แต่หากได้ตีความวิเคราะห์แล้ว อาจจะอนุมานได้ใจความว่า สำนวนนี้เป็นการกล่าวยกย่องผู้ที่ได้รับใช้เจ้านายคนนั้นมาเนินนาน เป็นการกล่าวทำนองสรรเสริญ เพราะคนใช้คนนี้มีคุณ เป็นคนเก่าคนแก่ที่ควรแก่การเคารพของคนใช้คนอื่น ๆ และเมื่อพิจารณาตีความลงไปอีกจะพบว่า การใช้สำนวนนี้ยังกล่าวเป็นทำนองว่า ควรรู้คุณคนเก่าคนแก่ แม้ว่าคนเก่าคนแก่นั้นจะอยู่ในฐานะคนรับใช้ก็ตาม
                ข้าวก้นบาตร        น. อาหารเหลือจากพระฉันแล้วที่ศิษย์ได้อาศัยกิน
(ราชบัณฑิตยสถาน. ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ :ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๕๑ หน้า ๑๑)
อธิบาย   สำนวนนี้อาจจะพอคุ้นเคยกันบ้าง เพราะวัดยังมีบทบาทในสังคมไทยอยู่ และวัดยังเป็นที่พึ่งพาสำหรับคนที่ตกระกำลำบาก  แม้ว่าสำนวนนี้จะไม่ได้กล่าวโดยตรง แต่หากได้กล่าวถึง หรือหากมีผู้กล่าวถึงสำนวนนี้กับเรา มักจะเป็นในลักษณะการสำนึกบุญคุณ เช่น “ที่โตมานี้ได้เพราะข้าวก้นบาตร”   คือผู้พูดกล่าวมีนัยสำคัญว่า หากไม่มีข้าวก้นบาตรของวัดก็ไม่มีตนเองในวันนี้ เป็นการกล่าวด้วยความสำนึกในบุญคุณ หรืออาจอนุมานว่าเป็นการกตัญญูรู้คุณต่อสิ่งที่เลี้ยงดูตนเองมา และสำนวนนี้ไม่เคยปรากฏว่ามีความหมายในทางลบเท่าใดนัก แต่กระนั้นก็อาจจะพอได้ยินอยู่บ้างเป็นแนวกระแนะกระแหน่ ว่าผู้ที่กินข้าวก้นบาตรเป็นคนที่จน โดยมักจะปรากฏในการกล่าวถึงคุณสมบัติของชายหนุ่มที่หมายหญิงที่เป็นที่รักที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีกว่าตน

                ข้าวแดงแกงร้อน                                 น. บุญคุณ
(ราชบัณฑิตยสถาน. ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ :ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๕๑ หน้า ๑๑)
อธิบาย    สำนวนนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าค่านิยมของไทยนิยมความกตัญญูรู้คุณ และด้วยเหตุที่ความกตัญญูรู้คุณเป็นหนึ่งในคุณธรรมที่สำคัญที่สังคมไทยต้องการให้เกิดขึ้น จึงเกิดเป็นถ้อยความสำนวนแบบสองลักษณะคือ การพูดกล่าวเพื่อให้ปฏิบัติตาม และอีกหนึ่งคือ การกระทบกระทั่งให้ผู้ฟังรู้สึก เช่นสำนวนที่ยกมานี้ คือข้าวแดงแกงร้อน เพราะโดยลักษณะการใช้สำนวนนี้แล้ว เป็นในลักษณะของการกระทบกระทั่งให้ผู้ฟังรู้สึกว่าตนต้องสำนึกหรือระลึกถึงบุญคุณของผู้ที่เลี้ยงดู หรือนัยหนึ่งคือกล่าวให้รู้ว่าควรกตัญญูต่อผู้ที่มีพระคุณ

สำนวนที่ยกย่องผู้อาวุโส
               
                เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด                      ก. ประพฤติตามอย่างผู้ใหญ่ย่อมปลอดภัย
(ราชบัณฑิตยสถาน. ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ :ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๕๑ หน้า ๓๐)
                ขุนนางใช่พ่อแม่ หินแง่ใช่ตายาย     ถ้าไม่ใช่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของตนก็ไม่ควรไว้วางใจ,ทำนอง
                                                                         เดียวกันกับภาษิตที่ว่า อย่าไว้ใจทางอย่างวางใจคน จะจนใจเอง
(ราชบัณฑิตยสถาน. ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ :ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๕๑ หน้า ๑๒)


                ทั้งนี้เมื่อกล่าวถึงความกตัญญูรู้คุณ สิ่งหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงเสียไม่ได้ คือสาเหตุที่เราจะต้องกตัญญูรู้คุณต่อผู้อาวุโสกว่า  ซึ่งมีแสดงในสำนวนไทย คือ
                อาบน้ำร้อนมากก่อน            ก เกิดก่อนมีประสบการณ์มากกว่า
(ราชบัณฑิตยสถาน. ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ :ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๕๑ หน้า ๑๐๘)
                จากสำนวนที่ยกขึ้นมานี้ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เราควรจะเชื่อฟังผู้หลักผู้ใหญ่และมีความกตัญญูต่อผู้อาวุโสกว่า เพราะที่ท่านบอกกล่าวตักเตือนล้วนเป็นข้อความที่ปรารถนาดี เพราท่านผ่านพ้นประสบการณ์ต่าง ๆ มาก่อน  การกตัญญูรู้คุณในบ้างครั้ง อาจจะดูไม่สมเหตุสมผลเท่าที่ควร แต่ด้วยที่สภาพสังคมไทยที่เป็นรูปแบบแบแนวตั้ง ที่เคารพนับถือที่ความเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อย หรือระบบอุปถัมภ์นั้นเองที่เรามักจะให้ความสำคัญและยกย่องผู้มีอาวุโส การที่ใช้สำนวน “อาบน้ำร้อนมากก่อนนั้น” ก็เห็นว่าจะเป็นการกล่าวเพื่อแสดงว่าตนเกิดก่อน ต้องมีความเคารพยำเกรง และควรรู้คุณในสิ่งที่บอกกล่าวตักเตือน เป็นต้น
                แม้สำนวนนี้จะไม่ใช่สำนวนที่กล่าวถึงความกตัญญูรู้คุณ แต่ก็มีส่วนที่เข้าไปผูกกับความกตัญญูอยู่ไม่น้อย นอกจากสำนวนที่เป็นเป็นเหตุและผลที่ผู้อาวุโสกล่าวหรือใช้กันบ่อยนั้นยังมีกลุ่มสำนวนอีกประเภทหนึ่งที่กล่าวถึงความอกตัญญู อันเป็นหนทางแห่งความเสื่อมอีกด้วย  แม้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า สำนวนประเภทนี้ไม่ได้เกิดจากความที่คาดหวังให้ผู้คนในสังคมมีคุณธรรม “ความกตัญญู” แต่ไม่อาจจะสามารถสร้างหรือทำให้ทุกคนในสังคมเป็นคนที่กตัญญูได้     ดั้งนั้นหากมองในมุมกลับกัน สังคมไทยมีลักษณะของงค่านิยมความกตัญญูแบบเหรียญสองด้าน คือมุมหนึ่งมีความกตัญญูเป็นหลักและอีกมุมหนึ่งมีความอกตัญญูเป็นส่วนประกอบ แต่กระนั้น ภาษาก็แสดงออกมาว่า ความอกตัญญู เป็นเรื่องราวเลวร้าย และนำผลเสียมากกว่า อาจจะคล้ายกับเป็นคำสอน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำสอน หรือภาษาสอน ก็เป็นส่วนหนึ่งในภาษาไทย การมองเพียงว่าอันใดคือเอกลักษณ์ไทยที่พึงต้องการให้มี และเอกลักษณ์ไทยที่เป็นของไทยจริง ๆ ก็เป็นการมองมุมแคบไป เพราะบางครั้งคำสอนหรือภาษา สำนวนสอนนั้น อาจมีเรื่องจริงที่ปรากฏก่อนแล้วก็ย่อมเป็นได้

                ศิษย์คิดล้างครู                    น. ศิษย์เนรคุณที่มุ่งคิดจะทำลายล้างครูบาอาจารย์
                ศิษย์นอกครู                         น. ศิษย์ที่ประพฤติไม่ตรงตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์, โดยปริยายหมายถึง                
                                                              ผู้ที่ประพฤติไม่ตรงตามแบบฉบับที่นิยมกันมา

(ราชบัณฑิตยสถาน. ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ :ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๕๑ หน้า ๘๓)


สำนวนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
                เป็นศิษย์อย่าคิดล้างครู
                อายครูห่อนรู้วิชา
                เป็นผู้น้อยค่อยก้มประนมกร
                กิ่งก้อยหัวแม่มือ (โบราณ)
                กับผู้น้อยคอยเผื่อแผ่   กับผู้แก่คอยนบน้อม
(เพ็ญแข วัจนสุนทร, ค่านิยมในสำนวนไทย . มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน: ๒๕๒๒)




กตัญญู เอกลักษณ์ไทยในภาษาที่ปรากฏในภาษาวรรณกรรม วรรณคดี และอื่น ๆ
                ความกตัญญู ในโคลงโลกนิติ   ฉบับ สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร
                                คุณแม่หนาหนักเพี้ยง         พสุธา
                คุณบิดรดุจอา-                                      กาศกว้าง
                คุณพี่พ่างศิขรา                                     เมรุมาศ
                คุณพระอาจารย์อ้าง                             อาจสู้สาคร
สอนให้มีความกตัญญู
                โคลงโลกนิติสอนให้ระลึกถึงพระคุณของบิดามารดาและครู โดยกล่าวเปรียบพระคุณของมารดานั้นยิ่งใหญ่เปรียบได้กับแผ่นดิน พระคุณของบิดาเล่าก็กว้างขวางเปรียบได้กับอากาศ พระคุณของพี่นั้นสูงเท่ากับยอดเข้าพระสุเมรุ และพระคุณของครูบาอาจารย์ก็ล้ำลึกเปรียบได้กับน้ำในแม่น้ำทั้งหลาย
(ถอดจากบทความเกริ่นนำ  กระทรวงศึกษาธิการ,วรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑,กรุงเทพฯ:สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.๒๕๕๔  (บทที่ ๒  โคลงโลกนิติ   หน้า ๓๗ )

เอกลักษณ์ไทยในเรื่องความกตัญญูรู้คุณและยกย่องผู้อาวุโส ที่ปรากฏเป็นถ้อยคำสำนวนภาษาในกาพย์พระไชยสุริยา
                ในสมัยโบราณเวลาจะทำกาพย์สอนนั้น จะมีธรรมเนียมที่ว่าต้องยกหรืออ้างเอาคุณครูบาอาจารย์ บิดามารดาเป็นหลัก แม้จะกล่าวว่าไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ไทยทางภาษาโดยตรงแต่ก็มีนัยยะที่ซ่อนอยู่คือการที่คนไทยเป็นผู้ที่มีความเคารพอ่อนน้อมและระลึกคุณของผู้มีพระคุณอยู่เสมอ เช่นในวรรคเริ่มของกาพย์พระไชยสุริยาที่กล่าวว่า
ยานี ๑๑
                สะธุสะจะขอไหว้                                                พระศรีไตรีสรณา
                พ่อแม่แลครูบา                                     เทวดาในราศี ....
บทเพลงที่แสดงออกซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของไทยในเรื่องความกตัญญูรู้คุณและการยกย่องผู้อาวุโส


กตัญญู
พงษ์สิทธิ์ คำภีร์
Emดนตรี 4 Bars..3...4... พ่อแม่บอก ไปอยู่ กับเขา  พี่ จะพา ไปทำงาน  เป็นอยู่ สบาย ทุกอย่าง  ไม่เดือด ไม่ร้อน อันใด  ขึ้น ปีใหม่ พี่จะ มารับ  เอาหนู กับน้อง อีกคน  ไม่พูด ไม่บ่น เชื่อฟัง ทุกอย่าง  เป็นลูก ที่ดี ประเสริฐ
แล้ว วันหนึ่ง ก็รู้ ทุกอย่าง  นายหน้า เขามา จ่ายเงิน  มัดจำ สัญญา เซ็นชื่อ ไว้ว่า  แม่พ่อ ขายหนู ให้เขา
ดนตรี 3 Bars..1...
2...3 เหมือนสาย ฟ้าฟาด  ลงกลาง ดวงใจ  พ่อแม่ ทำไม ทำได้ อย่างนี้  ส่ง ลูกไป ให้ลง นรก  แลก กับความ สบาย ทางกาย  กตัญญู หนูรู้ ว่าควร แค่ไหน  ให้หนู เกิดมา ทำไม  จะเลี้ยง ดู เหมือนวัว  เหมือนควาย หรือไง  เกิด มารับ ใช้-งาน
เหมือนสาย ฟ้าฟาด  ลงกลาง ดวงใจ   พ่อแม่ ทำไม ทำได้ อย่างนี้  ส่ง ลูกไป ให้ลง นรก  แลก กับความ สบาย ทางกาย  กตัญญู หนูรู้ ว่าควร แค่ไหน  ให้หนู เกิดมา ทำไม  จะเลี้ยง ดู เหมือนวัว  เหมือนควาย หรือไง  เกิด มารับ ใช้-งาน   กตัญญู คุณครู ท่านสอน  ท่องจำ ไว้จน ขึ้นใจ  บุญคุณ อันใด ออกลูก มาขาย  เอาความ สบาย ใส่ตัว  พ่อแม่จํา ลูกจะ รับใช้  จงอยู่ สบาย กันเถิด
ชาติหน้า ถ้ามี อย่าให้ กำเนิด
อย่าเกิด มาเจอ กันอีก เลย






เพลงพระคุณที่สาม
ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองโดย : สุเทพ โชคตระกู
ครูบาอาจารย์ที่ท่านประทานความรู้มาให้
อบรมจิตใจให้รู้ผิดชอบชั่วดี
ก่อนจะนอนสวดมนต์อ้อนวอนทุกที
ขอกุศลบุญบารมีส่งเสริมครูนี้ให้ร่มเย็น
ครูมีบุญคุณจึงขอเทิดทูนเอาไว้เหนือเกล้า
ท่านสั่งสอนเราอบรมให้เราไม่เว้น
ท่านอุทิศไม่คิดถึงความยากเย็น
สอนจนรู้จัดเจนเฝ้าเน้นเฝ้าแนะมิได้อำพราง
พระคุณที่สามงดงามแจ่มใส
แต่ว่าใครหนอใครเปรียบเปรยครูไว้ว่าเป็นเรือจ้าง
พลาดจากความจริงยิ่งคิดยิ่งเห็นว่าผิดทาง
มีใครไหนบ้างแนะนำแนวทางอย่างครู
บุญเคยทำมาแต่ปางใดๆเรายกให้ท่าน
ตั้งใจกราบกรานระลึกคุณท่านกตัญญู
โรคและภัยอย่าได้แผ้วพานคุณครู
ขอกุศลผลบุญค้ำชูให้ครูเป็นสุขชั่วนิรันดร
(ให้ครูเป็นสุขชั่วนิรันดร)

บทสรุป
                ความกตัญญูรู้คุณ เป็นหนึ่งในศีลธรรมจรรยาที่สังคมในซีกโลกตะวันออกเห็นว่ามีความสำคัญและทุกคนต้องยึดถือ สังคมจึงแสดงออกซึ่งสิ่งที่คาดหวังออกมาในรูปแบบของสุภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย และบทเพลง หรือแม้กระทั่งถ้อยคำที่ปรากฏในบทนิพนธ์ต่าง ๆ การจะมองว่าสิ่งใดคือเอกลักษณ์ของชนชาตินั้น ๆ ย่อมต้องพิจารณามองถึงภาษาด้วยเป็นตัวหลักเพราะภาษาเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาซึ่งความคิด ทัศนคติของมนุษย์ในชนชาตินั้น  ๆ ดังจะเห็นได้จากการที่ศึกษาเรื่องราวความเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่ปรากฏในภาษา  ในเรื่องความกตัญญูรู้คุณ อันปรากฏในสำนวนไทยหลายคำ อาทิ  เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด  ข้าวแดงแกงร้อน เป็นต้น นอกจากนี้ด้วยที่สังคมไทย วัฒนธรรมของไทยเป็นลักษณะแบบแนวตั้งหรือลักษณะแบบระบบอุปถัมภ์ สังคมไทยจึงให้ความสำคัญกับการเคารพผู้อาวุโส เป็นหลัก ดังปรากฏในสำนวนหลายคำ อาทิ  เป็นผู้น้อยค่อยก้มประนมกร  , กับผู้น้อยคอยเผื่อแผ่   กับผู้แก่คอยนบน้อม   เป็นต้น
                นอกจากนั้นแล้ว สังคมไทย ยังมีค่านิยมสั่งสอนให้เห็นโทษของความเห็นผิดไม่ยึดถือหรือปฏิบัติในความกตัญญูรู้คุณ ดังที่ปรากฏในหลายสำนวน อาทิ  เป็นศิษย์อย่าคิดล้างครู  , อายครูห่อนรู้วิชา  เป็นต้น  และหากกล่าวถึงภาษาแล้ว ไม่กล่าวถึงอิทธิพลทางภาษาที่ปรากฏในบทนิพนธ์และบทเพลงก็เห็นว่ายังไม่ครอบคลุมนัก ดังนั้นในบทนิพนธ์ต่าง ๆของไทยก็มีสำนวนถ้อยคำที่กล่าวถึงความกตัญญูรู้คุณ และยกย่องผู้อาวุโส ให้เห็น เช่นในบทเริ่มของกาพย์พระไชยสุริยา ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่จะกล่าวยกอ้างเอาคุณของบิดามารดาและครูบาอาจารย์เป็นหลัก ก่อนจะเข้าเนื้อหา ซึ่งเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งที่แสดงออกถึงความรู้คุณหรือสำนึกรู้คุณอยู่ตลอดเวลา และยังมีบทเพลงที่แต่งขึ้นมาจากแรงบันดาลใจเรื่องความกตัญญู คือ เพลงกตัญญู  พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์  และพระคุณที่สาม ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากสังคมไทยไม่มีเอกลักษณ์ข้อคุณธรรมที่ว่าด้วยความกตัญญูเป็นหัวใจสำคัญแล้ว ก็คงไม่ปรากฏถ้วยความสำนวนหลากหลายแห่ง ที่ได้รับอิทธิพลทางภาษา ดังที่ปรากฏ
                เรื่องความกตัญญูรู้คุณและเคารพผู้อาวุโสหรือการยกย่องผู้อาวุโส นั้น ดังที่กล่าวมาหาได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทย หรือจะเรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ไทยแต่เพียงชนชาติเดียวไม่ หากแต่ความกตัญญูรู้คุณและยกย่องผู้อาวุโส เป็นเอกลักษณ์ร่วมของชนชาติในภูมิภาคเอเชียเกือบทั้งหมด ผิดแปลกที่เอกลักษณ์ของไทย นั้นยกย่องและให้ความสำคัญของความกตัญญูเป็นสำคัญ โดยผูกพัวเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนทั้งทางตรงและทางอ้อม และหนึ่งในนั้นคือการปรากฏมาของอิทธิพลทางภาษา ที่สะท้อนแง่มุมทางสังคมให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์และค่านิยมของคนไทยที่ให้ความสำคัญของความกตัญญูรู้คุณและยกย่องผู้อาวุโส



บรรณานุกรมอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ,วรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑,กรุงเทพฯ:สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.๒๕๕๔  (บทที่ ๒  โคลงโลกนิติ   หน้า ๓๗ )
ทองย้อย แสงสินชัย,โคลงโลกนิติ : ฉบับถอดความ ,กรุงเทพฯ : สหธรรมิก, ๒๕๓๙.
เพ็ญแข วัจนสุนทร, ค่านิยมในสำนวนไทย  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน : ๒๕๒๒ 
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมอิเล็กทรอนิค  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ :ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๔๒
ราชบัณฑิตยสถาน. ภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ :ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๕๑


------------------------------------------------------------------------


รายงาน “เอกลักษณ์ไทยในวรรณคดี”
เสนอ รองศาสตราจารย์   บุปผา  บุญทิพย์
หัวเรื่อง เอกลักษณ์ไทยในวรรณคดี วรรณกรรมร่วมสมัย  “หลายชีวิต”
โดย นาย สุรเดช  ภาพันธ์   รหัสนักศึกษา ๕๖๑๒๒๒๐๑๖๗  นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา  คณะมนุษยศาสตร์             สาขาไทยศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง    
บทคัดย่อ
                วรรณคดีไทยเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติที่แสดงออกถึงความเป็นอารยะ ทั้งในด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม วิถีการใช้ชีวิต และอุปนิสัย   โดยเฉพาะในด้านอุปนิสัยแล้ว วรรณคดี วรรณกรรม มีอิทธิพลสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมนุษย์ใช้ภาษาในการถ่ายทอดผ่านวรรณกรรม และภาษาก็ได้รับการถ่ายทอดออกมาจากความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ ผ่านการพูด เขียน อ่าน และสัญลักษณ์ จึงมิอาจจะกล่าวได้ว่าความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์จะไม่ใช่ตัวแปรที่สำคัญของวรรณคดี วรรณกรรม
                คนไทยหรือคนในชาติใด ๆ ก็ตามล้วนมีอุปนิสัย หรือบุคลิกของแต่ละกลุ่มชนที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นหากเราต้องการรับรู้และเข้าใจผู้คนในสังคมชาตินั้น ๆ จึงควรที่จะศึกษาทั้งด้านสังคมและภาษาที่ปรากฏในวรรณกรรมประกอบกัน ในที่นี้เรามุ่งศึกษาอุปนิสัย ตลอดจนวิถีความคิด และลักษณ์นิสัย ความเชื่อของกลุ่มชนไทย จากภาษาไทย โดยผู้ทำการศึกษาได้ยกเอาวรรณกรรมของท่านคึกฤทธิ์  “หลายชีวิต ” ประกอบการศึกษาเอกลักษณ์ไทยในวรรณคดี วรรณกรรมไทย โดยมีการศึกษา วิเคราะห์ เปรียบเทียบความเป็นไปและมูลเหตุแห่งพฤติกรรมของผู้คนที่ปรากฏในวรรณกรรม หากเราเชื่อว่าวรรณกรรมและภาษาที่ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวแทนที่สะท้อนแนวความคิดตลอดจนค่านิยมของสังคมได้จริง เราจึงควรที่จะศึกษาและเปรียบเทียบเนื้อหาที่ปรากฏในวรรณกรรมนี้ด้วย
บทความเอกลักษณ์ไทยในวรรณคดี   บทวรรณกรรมร่วมสมัย  “หลายชีวิต  ” (ใจความสำคัญ)
                “ หลายชีวิต ........  หลายชีวิตที่มาจากที่ต่าง ๆ กัน คนละวัย คนละเพศ คนละอาชีพ แต่มาจมลงพร้อมกัน ณ สถานที่เดียวกันอาการอย่างเดียวกัน และเวลาเดียวกัน ใครเป็นผู้วินิจฉัย เป็นผู้ชี้ขาดได้ว่ากรรมอันใดเป็นเหตุให้เป็นไปเช่นนี้...” จากบทความในตอนท้ายของนิยายสุดแสนประทับใจของท่านผู้เขียนมากความสามารถได้นิพนธ์ขึ้นไว้นี้  จะเห็นได้ทันทีว่าได้ปรากฏเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงออกมาซึ่งความเป็นคนไทยได้อย่างเห็นได้ชัดเจน นั้นก็คือ ความเชื่อเรื่องบาปกรรม และพระพุทธศาสนา  ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า หากเราจะพิจารณามองดูความเป็นไปแห่งสังคมไทย นอกจากภาษา การสังเกต และอื่น ๆ แล้ว วรรณกรรมยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่และการดำเนินหรือคงอยู่ของสังคมแบบไทย   ความเชื่อเรื่องกรรมหรือบาปบุญที่อิงกับพระพุทธศาสนานั้น เป็นสิ่งที่แสดงตัวตนของคนไทยได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากบทความตอนท้ายที่ยกขึ้นมานั้น จะกล่าวเป็นคำถามที่ไม่อาจจะสามารถหาข้อคำอธิบายตอบกลับไปได้ว่าเพราเหตุใด หลายชีวิตที่ปรากฏในนิยายเรื่องนี้จึงมีจุดจบอันเดียวกัน   และเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราพึ่งพิจารณาเห็นได้ชัดว่า แม้ว่าคนไทยจะเคารพนับถือพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญแต่เมื่อหาเหตุผลอันใดไม่ได้ที่จะใช้อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็มักจะกล่าวพาดพิงไปถึงบาปบุญ หรือภูตผีเทวดา  
                นอกจากบทความตอนท้ายที่ยกขึ้นมานั้นแล้ว  มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ท่านผู้เขียนนิพนธ์นิยายนี้ขึ้นมาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่า ความเชื่อในบาปบุญ เวรกรรม เป็นหนึ่งแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยได้เป็นอย่างดี เพราะแรงบันดาลใจของผู้นิพนธ์นั้น เกิดขึ้นจากการที่ท่านผู้เขียนเดินทางไปทะเลกับกลุ่มเพื่อนนักเขียนแล้วเผอิญว่าในระหว่างทางพบรถโดยสารประสบอุบัติเหตุตกสะพาน และคาดเดาว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงมีผู้กล่าวขึ้นมาในคณะที่เดินทางนั้นว่า เพราะบาปบุญอันใดทีทำให้คนมากมายหลากหลายมามีจุดจบอันเดียวกันด้วย ท่านที่นั่งอยู่ก็เห็นว่าควรที่จะเขียนเป็นนิยายขึ้นมาเพื่อจำลองและอธิบายว่าเหตุผลใดหลายชีวิตนี้จึงมีจุดจบอันเดียวกัน ภูมิหลังของหลายชีวิตนี้คืออะไร
                เนื่องด้วยบทนิยาย “หลายชีวิต” เป็นนิยายที่แบ่งเป็นหลาย ๆ ตอน โดยเริ่มเรื่องจากการบรรยายถึงเรืออันเป็นพาหนะสุดท้ายของหลายชีวิตที่นำดิ่งลงสู่พื้นน้ำ และเริ่มต้นบรรยายให้ผู้อ่านท่านว่าแต่ละชีวิตของหลายชีวิตมีจุดเริ่มต้นอย่างไร และมูลเหตุที่ทำให้แต่ละคนต้องลงเรือลำเดียวกันจนจบชีวิตนั้นคืออะไร นิยายจึงแบ่งเป็นหลายเรื่อง เริ่มที่เจ้าลอย และสิ้นสุดที่หมอแสง   รวมทั้งสิ้น๑๑ ชีวิต 
เอกลักษณ์ไทยในวรรณกรรม “การปลูกเรือนแบบไทยสมัยก่อนและวิถีชีวิตที่อยู่ริมน้ำ” เอกลักษณ์ไทยที่แสดงออกมาในวรรณกรรม “หลายชีวิต” เรื่องเจ้าลอย  ความเป็นจริงของสภาพสังคมไทยที่สะท้อนจากวรรณกรรม
                หัวข้อย่อย   เอกลักษณ์ไทยด้านการใช้วิถีชีวิตที่ผูกพันกับน้ำ “ปลูกบ้านริมแม่น้ำ”
เอกลักษณ์ไทยในเรื่องการปลูกบ้านเรือนไทยสมัยก่อนนั้นมักจะปลูกกันอยู่ริมแม่น้ำ เพราะชีวิตคนไทยในสมัยนั้นใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค และในการสัญจร แม่น้ำจึงเป็นส่วนที่สำคัญของชีวิตคนไทย ดังปรากฏคำกล่าวตอนหนึ่งว่า
 “ วันหนึ่งประมาณสามสิบกว่าปีมาแล้ว  เวลาเช้าตรู่ยังไม่สว่าง ยายพริ้มที่บ้านแกอยู่ริมคลองได้ลุกขึ้นตั้งหม้อหุงข้าวตามปรกติวิสัยของชาวบ้านแถบนั้น .....”  
 (คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๑๑ -เจ้าลอย )
จะเห็นได้ชัดว่าบ้านเรือนของคนไทยสมัยก่อนนั้นจะนิยมปลูกกันริมแม่น้ำ ดังสาเหตุที่กล่าวข้างต้นแล้ว และนอกจากนั้นยังสังเกตเห็นอีกสิ่งหนึ่งว่า การที่บทประพันธ์กล่าวว่ายายพริ้มตื่นแต่เช้าเพื่อลุกขึ้นหุงข้าว นั้นอาจจะตีความค่านิยมของคนไทยสมัยนั้นได้ว่า พระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นเป็นแน่เพราะการตื่นขึ้นมาแต่เช้าน่าจะมีความหมายว่าเป็นการตระเตรียมข้าวปลาเพื่อตักบาตรทำบุญตามวิ๔ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา แต่เก่าก่อนจนกลายมาเป็นค่านิยมที่ประพฤติกันเรื่อยมา
หัวข้อย่อย   เอกลักษณ์ไทยด้านการใช้วิถีชีวิตที่ผูกพันกับน้ำ “การสัญจรทางน้ำ”
“...ยายพริ้มมีอาชีพขายผักผลไม้และของกินจุจิกอีกหลายอย่าง ...วันหนึ่ง ๆ ยามพริ้มก็พายเรือออกจากบ้านแต่ช้า เที่ยวพายเรือเร่ขายของไป จนตกบ่ายจึงกลับบ้าน ...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๑๓ -เจ้าลอย )

                “...พระเสมได้ยินแล้วก็นึกสงสาร เพราะเจ้าดั่นยังเล็กนัก วันหนึ่งตอนกลางวันหลังเพลแล้ว พระเสมก็ลงเรือไปเยี่ยมเจ้าดั่นถึงบ้าน...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๕๕ -พระเสม )

                “...เมื่อเจ้าเลี่ยมถูกเกณฑ์อีกคนหนึ่ง และนั่งชิดกันกับจั่นมาในเรือกับทหารใหม่ที่เขาเกณฑ์ได้อีกหลายคน บ่ายหน้าไปสู่กรมกองในกรุงเทพฯ...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๒๐๘ -จั่น )





เอกลักษณ์ไทยในวรรณกรรม “การยอมรับและยกย่องคนมีอำนาจ” เอกลักษณ์ไทยที่แสดงออกมาในวรรณกรรม “หลายชีวิต” เรื่องท่านชายเล็ก  และเรื่องพรรณี   ความเป็นจริงของสภาพสังคมไทยที่สะท้อนจากวรรณกรรม
และ เอกลักษณ์ไทยในวรรณกรรมที่เปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคมจากมุนษยนิยมสูงวัตถุนิยม (นิยมเงินตรา)
                อีกค่านิยมหนึ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของคนไทย หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ไทยอีกอย่างหนึ่ง นั้นก็คือการที่นิยมชมชอบและยกย่องผู้มีอำนาจวาสนา แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นคนไม่ดีก็ตาม ดังที่จะสังเกตได้จากคำกล่าวให้พรของคนไทยจนเป็นที่ติดปากว่าให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน เพื่อจะได้สบายและไม่ต้องทำงานหนัก  ด้วยระบบศักดินาที่คนไทยยึดถือมาเนินนาน จึงทำให้คนไทยยังคงมีความนิยมและให้ความเคารพนับถือบุคคลตามฐานันดรศักดิ์หรืออำนาจวาสานาและความอาวุโสเป็นหลัก เอกลักษณ์นี้แสดงออกมาในบทประพันธ์ เรื่อง ท่านชายเล็ก แม้ว่าในบทประพันธ์จะกล่าวว่าท่านชายเล็กเป็นบุคคลที่สูงส่งด้วยฐานันดรศักดิ์ที่ไม่มีใครสามารถเทียบเทียมได้ แต่กระนั้น ด้วยการเล่าเรื่องของนักประพันธ์ที่ให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น คือแม้ท่านชายเล็กจะมีฐานันดรศักดิ์สูงมาก แต่กระนั้นฐานะความเป็นอยู่ของท่านชายเองไม่ได้มีเสมือนท่านชายอื่น ๆ   หรืออาจจะเรียกว่ายากจนเกินกว่าจะดำรงพระยศท่านชาย

                “....ในบรรดาข้าราชการทั้งหลายในกรมกองเดียวกัน แต่ฐานันดรของท่านชายเล็กนั้นกลับสูงกว่าบรรดาเสมียนพนักงานด้วยกัน และสูงกว่าผู้บังคับบัญชาในกรมกองนั้น การติดต่อทั้งหลายจึงเป็นไปอย่างประดักประเดิด ....บางครั้งผู้บังคับบัญชามีงานส่วนตัวที่บ้าน จะเป็นงานรื่นเริงหรืองานศพบุพการีหรือลูกเมียก็ตาม เสมียนพนักงานก็จะไปช่วยงาน หรือไปประจบประแจงหาดีทำตัวให้นายรัก แต่ท่านชายเล็กก็ไม่เคยไปกับเขาเลยสักครั้งเดียว ทั้งนี้จะเรียกว่าขัตติยะมานะก็มิใช่ แต่เห็นจะเป็นท่านชายเล็กเข้าพระทัยดีว่า ถึงจะไปก็คงไร้ประโยชน์ เพราะเมื่อไปถึงก็จะถูกเชิญให้ไปนั่งในที่อันมีเกียรติกลายเป็นเจ้านายเสด็จ ...”
 (คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๑๐๘ -ท่านชายเล็ก )

                จากบทประพันธ์ที่ยกมานี้ จะเห็นได้อย่างพอเห็นภาพแล้วว่า คนไทยมีค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับการเคารพยกย่องผู้มีศักดินาสูงกว่าตน และมีอำนาจวาสนามากกว่าตน ยิ่งแล้วหากเป็นเจ้านายชั้นสูง คนไทยยังคงให้ความเคารพนับถือในบุคคลชั้นเจ้านายอยู่มาก ทั้งในอดีตและปัจจุบัน แม้ว่าในปัจจุบันคนไทยจะมีทัศนคติเปลี่ยนไป อันเนื่องจากกลุ่มบุคคลชั้นเจ้านายมีจำนวนลดลง ทำให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจวาสนาเข้ามาแทนที่ แต่การเข้ามาแทนที่ ก็ยังคงเป็นไปในลักษณะเดิม และอาจจะทวีความสำคัญไปมากกว่าแต่ก่อนอีกด้วยซ้ำ เพราะผู้มีอำนาจวาสนานั้น ๆ ล้วนแต่เป็นคนที่สามารถเสกเป่าดลบันดาลสิ่งใด ๆ ได้ตามความปรารถนาได้อีกด้วย 
                เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่เป็นลักษณะความสัมพันธ์แบบแนวตั้ง หรือแบบอุปถัมภ์ คือผู้น้อยพึ่งผู้ใหญ่ ลูกน้องพึ่งเจ้านาย เป็นต้น   จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจว่าสังคมไทยจะมีค่านิยมให้บุตรหลานใฝ่ศึกษาเรียนรู้ เพื่อจะได้เป็น “เจ้าคนนายคน” หรือ “เจ้าขุนมูลนาย”   เพราะคนไทยมีค่านิยมในการยอมรับและยกย่องคนมีอำนาจ    ซึ่งจะพลอยทำให้บิดา มารดา และครอบครัว วงศ์ตระกูล มีหน้ามีตา และมีอำนาจตามกันไปด้วย
                แม้ว่าชีวิตของท่านชายเล็กจะมีผู้เปรียบเปรยและวิจารณ์ว่ามีความคล้ายคลึงกับชีวิตของท่านผู้ประพันธ์มาก เพราะท่านเองก็เกิดมาในฐานันดรเช่นเดียวกันกับท่านชายเล็ก และท่านเองก็ไม่ได้มีฐานะที่ร่ำรวยเทียมท่านชายอื่น ๆ ได้ อาจจะพออนุมานว่า ผู้ประพันธ์ได้นำความเป็นชีวิตของท่านมาผสานในบทประพันธ์ด้วยก็เป็นไปได้ แต่กระนั้นก็ตาม เอกลักษณ์ไทยที่ปรากฏในเรื่องท่านชายเล็ก ก็มิได้มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังปรากฏค่านิยมของไทยที่อยากได้ดีต้องประจบ นอกจากนี้ในบทประพันธ์ยังกล่าวถึงสภาพของการปกครองในสมัยนั้นว่ามีลักษณะการปกครองที่ไม่ได้แตกต่างกับปัจจุบันเท่าใด คือมีการปกครองแบบกระจาย มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำหมู่บ้าน และอยู่ภายใต้หน่อยงานอื่น ๆ ดังปรากฏในบทประพันธ์

“..... วันหนึ่งผู้ช่วยปลัดกระทรวงท่านมาตรวจราชการที่จังหวัด แล้วก็แวะมาเยี่ยมที่อำเภอ นายอำเภอก็บอกกล่าวให้กำนันผู้ใหญ่บ้านทุกคน....”
 (คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๑๑๑ -ท่านชายเล็ก)

หัวเรื่องย่อที่ ๒ เอกลักษณ์ไทยในวรรณกรรมที่เปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคมจากมนุษยนิยมสูงวัตถุนิยม (นิยมเงินตรา)
                นอกจากในบทประพันธ์ “หลายชีวิต” ในเรื่องท่านชายเล็กแล้ว ในเรื่องพรรณีก็ยังมีการการกล่าวถึง เอกลักษณ์ไทย ที่ยอมรับและยกย่องผู้มีอำนาจ  แต่ในเนื้อเรื่องนี้กลับเป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตว่าแท้จริงแล้ว สังคมไทยมีเอกลักษณ์การยอมรับและยกย่องผู้มีอำนาจ ในทางใดกันแน่ เพราะหากมองในเรื่องท่านชายเล็กแล้ว เราจะพบว่าการเคารพยกย่องผู้มีอำนาจในเรื่องแรกนั้น ความหมายของผู้มีอำนาจ คือผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือกลุ่มชนชั้นสูง เจ้านายต่าง ๆ รวมถึงขุนนางและผู้มีอำนาจในวงราชการ อธิบายเพิ่มเติมในเรื่องของผู้มีอำนาจในทางราชการกันก่อน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคนไทยยังคงมีค่านิยมที่ให้บุตรหลานเป็นเจ้าขุนมูลนาย หรือข้าราการ เพราะเห็นว่ามีเกียรติ มีหน้ามีตา เป็นสิ่งที่มงคลและเจริญเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำอวยพรที่ติดปากคนเก่าแก่ว่า “ขอให้เป็นเจ้าคนนายคนนะ”  หรือในสำนวน “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” เป็นต้น ดังนั้นการเป็นราชการจึงกลายเป็นของง่ายสบายแก่ผู้ได้ตำแหน่ง จึงไม่แปลกอะไรนักที่ในภายหลัง การยกย่องและการยอมรับผู้มีอำนาจจะเกิดขึ้นกับกลุ่มข้าราชการที่มีตำแหน่งใหญ่โต ดังที่กล่ายกมา

                แต่ในเนื้อเรื่องของพรรณีนี้กลับเป็นมุมมองอีกมุมหนึ่งที่สะท้อนภาพของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี แม้เอกลักษณ์ไทยส่วนหนึ่งจะยอมรับและยกย่องผู้มีอำนาจ แต่เราจะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าผู้มีอำนาจนั้น ความหมายในแต่ละยุคก็ผ่านแปลงไป ในอดีต ผู้มีอำนาจคือชั้นชนสูง ต่อมาก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นเจ้าขุนมูลนาย ข้าราชการ และต่อมาเมื่อประเทศไทยเปลี่ยนผ่านการพัฒนาประเทศจากกสิกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม ค่านิยมเดิมของไทยที่ให้ความสำคัญกับผู้มีอำนาจก็เปลี่ยนเป็นการให้ความสำคัญกับผู้มีอำนาจทางเงินตราเป็นสำคัญ เอกลักษณ์ประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในภายหลังและเห็นว่าจะเข้ามาครอบงำคนไทยจนกลายเป็นเอกลักษณ์โดยสมบูรณ์นั้น  เห็นจะเป็นการเคารพยกย่องผู้มีอำนาจทางการเงิน เป็นสำคัญ
                ....  “หนูรู้หรือเปล่าว่ามีคนเขามารักหนุแล้ว”
                    “ใครจ๊ะน้า ?” พรรณีถามเพราะไม่รู้ว่าจะพูดกระไร
                  “อาเสี่ยร้านทองไงล่ะหนู”  นางเขียนตอบ   “เขารักหนูจริง ๆ นะ คืนนี้แหละน้าจะให้เขามาคุยกับหนูในห้อง เขามีสตางค์มาก ถ้าหนูตามใจเอาใจเขาหน่อยเขาจะได้ให้สตางค์เราใช้มาก ๆ น้าก็จะแบ่งให้หนูใช้บ้าง เก็บไว้ซื้อของให้หนูบ้าง หนูต้องตามใจเขาให้ดี  ๆ นะ ไม่ต้องกลัวหรอกเขารักหนูจริง ๆ เขาบอกน้าเอง ถ้าน้าไม่เชื่อว่าเขารักหนูจริง น้าก็ไม่ยอมให้เขามาคุยด้วยหรอก” ....
 (คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๗๙ -พรรณี )

                พิจารณาจากบทประพันธ์ตอนนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า นางเขียน แม่เล้าที่ควบคุมซ่องได้แสดงทัศนะอย่างชัดเจนว่ายอมรับและยกย่องผู้มีอำนาจเงินตราสำคัญกว่าอย่างอื่น  ไม่ใช่แต่เพียงนางเขียนตัวละครแม่เล้า ที่กล่าวกับพรรณี ในวันแรก ๆ ที่พรรณีถูกยายกลีบนำมาขาย เท่านั้น แต่ยังปรากฏใน “หลายชีวิต” เรื่องโนรี อีกด้วย และในบทประพันธ์ตอนโนรีนี้ก็แสดงให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งว่า สังคมไทยมีค่านิยมที่นิยมเงินตรามากกว่าคุณงามความดี เป็นสำคัญ

.....โนรีมารู้สึกตัวว่าชีวิตที่กำลังเติบโตของเขานั้น มาหักโค่นสะบั่นลงเมื่อเจ้าคุณประกอบพิธีหมั่นระหว่างคุณเล็กกับลูกผู้ดีมีเงินอีกคนหนึ่ง    เมื่อรุ้เรื่องโนรีก็มิได้ปริปากพูดกับใคร ....
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว.,หลายชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒  ,กรุงเทพฯ:ดอกหญ้า ๒๐๐๐ .๒๕๕๓  หน้า ๑๘๐-โนรี )
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๑๘๐  -โนรี )

                โนรีเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ประสบกับความนิยมในวัตถุ เพราะการแต่งงานของคนที่โนรีรักนั้น มีเพียงเหตุผลที่ยิ่งใหญ่เพียงประการเดียวคือ อำนาจของเงินตรา ดังที่ปรากฏในบทประพันธ์ ที่ว่า
...นั้น มาหักโค่นสะบั่นลงเมื่อเจ้าคุณประกอบพิธีหมั่นระหว่างคุณเล็กกับลูกผู้ดีมีเงินอีกคนหนึ่ง..
บทประพันธ์หลายชีวิตยังคงกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการยอมรับและยกย่องผู้มีอำนาจ จากการนับถือที่ตัวบุคคลเช่นการนับถือจากชั้นยศศักดิ์ หรือคุณงามความดีของบุคคลมาเป็นการเคารพจากวัตถุนิยม กล่าวคือใครมีอำนาจเงินตรามากกว่าย่อมสามารถเสดนกเป็นไม้ได้ดังใจ อีกวรรคหนึ่งของบทประพันธ์  ปรากฏในบทหนึ่งใน “หลายชีวิต” เรื่องลินจง    ก็เป็นอันสะท้อนออกมาได้ดีว่าเอกลักษณ์ไทยในยุควัตถุนิยมนั้น ล้วนมีอำนาจของเงินตรามาเป็นหลัก แม้กระทั่งการเลือกคู่ครอง ดังที่ปรากฏในเรื่องโนรี และปรากฏอีกในบทประพันธ์เรื่องลินจง
                .... เมื่อลินจงเติบโตเป็นสาว ลินจงก็เป็นที่พึ่งปรารถนาของชายหนุ่มหลายคนในระแวงบ้านเดียวกัน...เพราะลินจงเป็นลูกสาวคนเดียว ลินจงจึงใช้เวลาค่อนข้างนานเป็นสาวโสดอยู่กับบ้าน ระหว่างนั้นบิดามารดาก็เลือกบุคคลที่จะมาเป็นคู่ครองของลินจงด้วยความละเอียดลออ... แต่ในที่สุด...ลินจงก็ปลงใจรักชายหนุ่มคนหนึ่งบ้านอยู่ใกล้ ๆ กัน และแม้ว่าคนที่ลินจงเห็นดีจะมิใช่คนที่ร่ำรวยอะไรนัก พ่อแม่ของลินจงก็มิได้ขัดข้อง เพราะนานสังเวียนคนที่ลินจงได้เลือกแล้ว เป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียรและมีความประพฤติดี ไม่กินเหล้าไม่เล่นการพนัน ....
 (คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๑๘๙ -ลินจง)

                หากจะกล่าวโดยสรุปว่าเอกลักษณ์ไทยที่ปรากฏในวรรณกรรม “หลายชีวิต”  ที่กล่าวถึงการให้การยอมรับและยกย่องผู้มีอำนาจ นั้นไม่ว่าจะมองในมุมใด ทั้งอำนาจที่เกิดขึ้นจากฐานันดรศักดิ์หรืออำนาจจากตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือตามอำนาจแห่งวัตถุนิยม ค่านิยมของคนไทยก็ยังคงปรากฏไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่การเปลี่ยนนั้นเป็นการเปลี่ยนซึ่งค่านิยมของคนในสังคมที่เปลี่ยนจากสิ่งหนึ่งไปยังสิ่งหนึ่ง ตามยุคตามสมัย เพราะนิสัยของคนไทยอีกสิ่งนั้น คือ การนิยมชมชอบของใหม่ ของร่วมสมัย ของทันสมัย อะไรที่เป็นของใหม่ ล้วนเป็นของดีของคนไทย และมักจะเข้าใจและตกลงกันในค่านิยมว่าสิ่งนั้นดีกว่าของเก่า และในที่สุดนิสัยของคนไทยนี้ก็แสดงออกมาอย่างชัดเจนว่า ชื่นชอบของใหม่โดยทอดทิ้งของเก่าอย่างไม่เหลียวแล เฉกเช่นสมัยปัจจุบันที่คนไทยนิยมเรียนภาษาต่างประเทศ โดยไม่ใส่ใจในภาษาของตน นั้นคือภาษาไทย

เอกลักษณ์ไทยในวรรณกรรม “การนับถือพุทธศาสนาและไสยศาสตร์” เอกลักษณ์ไทยที่แสดงออกมาในวรรณกรรม “หลายชีวิต” เรื่องพระเสม    ความเป็นจริงของสภาพสังคมไทยที่สะท้อนจากวรรณกรรม
                “..... อันความเชื่อถือของคนเรานั้นเป็นโรคติดต่ออย่างรุนแรงชนิดหนึ่ง เพราะเชื้อแห่งศรัทธาของคนเรานั้นมีอยู่อย่างมากมายในหัวใจของคนทุกคน  เปรียบเหมือนฟืนที่สุมไว้กองใหญ่ พอมีผู้ใดนำเพลิงไปจุดเข้าแม้แต่น้อย กองฟืนนั้นก็จะลุกเป็นไฟไปทั่วในเวลาไม่นาน ....วันหนึ่ง ๆ คนมาขึ้นกุฏิหลวงพ่อเสมกันมาก วัตถุประสงค์นั้นก็เพื่อจะขอของดี  ในเบื้องแรกหลวงพ่อเสมไม่มีของดีอะไรจะให้ .... เพียงเท่านั้นเอง  สบงเก่าตัวนั้นก็ถุกฉีกออกเป็นฝอยแบ่งปันกัน และกากบานั้นก็แบ่งกันคลละหยิบมือจนหมดถาดภายในพริบตาเดียว เศษสงบและกากใบชาถูกนำมาให้หลวงพ่อเสมเสกเป่า .... ชายสงบและกากใบชาของหลวงพ่อเสม กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ... ว่ากันว่าเป็นของดีที่ขลังในทางเมตตา ....
                แม้ว่าเราจะเชื่อกันว่าเอกลักษณ์ไทยที่สำคัญประการหนึ่งที่เป็นเสมือนหนทางดำเนินชีวิตและเป็นค่านิยมของคนไทย นั้นก็คือศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธเข้าไปมีอิทธิพลในชีวิตของคนไทยในทุก ๆ ด้าน แต่กระนั้น สังคมไทยก็ยังไม่อาจจะละทิ้งความเชื่อทางไสยศาสตร์ได้อย่างสิ้นเชิง เช่นที่ปรากฏในบทประพันธ์  ดังที่ยกมาก  แม้ว่าทุกคนจะเชื่อและศรัทธาต่อหลวงพ่อเสม ด้วยเป็นพระที่มีจริยวัฒน์ที่งดงาม แต่ก็ไม่อาจจะละความเชื่อดั้งเดิมได้ คือการนับถือเครื่องรางของขลัง และเพื่อบรรเทาความต้องการของสาธุชน หลวงพ่อเสมก็จำเป็นที่จะต้องปันสงบและกากชา เละเจริญเมตตา  เอกลักษณ์ของไทยอีกประการที่ควรกล่าวถึงคือคนไทยสามารถเคารพนับถือและเชื่อถือกับทุกศาสนา ทุกความเชื่อได้อย่างกลมกลืน หรือจะกล่าวอีกนัยก็คือการที่คนไทยไม่มีอคติต่อศาสนาใด ศาสนาหนึ่ง หรือความเชื่อใด ความเชื่อหนึ่ง คนไทยสามารถปรับประยุกต์ตนให้วิถีแห่งความเชื่อและความศรัทธานั้นให้ตรงกับสิ่งที่ตนเชื่อและนับถือ ดังกรณีตัวอย่างที่ยกบทประพันธ์ขึ้นมา จะเห็นได้ว่า แม้ชาวบ้านจะนับถือพระพุทธศาสนาและเคารพในตัวหลวงพ่อเสม แต่ด้วยความเชื่อพื้นฐานที่มีในจิตใจก็อดไม่ได้ที่จะขอเครื่องรางของขลังเพื่อนำไปบูชา  แม้จะมองดูว่าคนไทยเป็นพวกหลงงมงายไร้สาระ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเอกลักษณ์ไทยอีกสิ่งว่า คนไทยมีขันติธรรมทางศาสนา คนไทยเคารพและนับถือทุกศาสนา ทุกความเชื่อ เพียงแต่ว่าจะหนักไปในทางความเชื่อในธรรมชาติและภูตผี ซึ่งเป็นลัทธิความเชื่อแรกเริ่มมากไป

เอกลักษณ์ไทยในวรรณกรรม “อิทธิพลพระพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมไทย” เอกลักษณ์ไทยที่แสดงออกมาในวรรณกรรม “หลายชีวิต” ความเป็นจริงของสภาพสังคมไทยที่สะท้อนจากวรรณกรรม
                อิทธิพลทางพระพุทธศาสนานั้น  หากมองเพียงผิวเผินจะเห็นว่ามีความสำคัญอยู่ไม่น้อย ในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น หาได้ตรงข้ามไม่ เพราะประชาชนเกือบทั้งประเทศนั้นต่างก็เคารพและนับถือพระพุทธศาสนา ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงได้เข้ามาเกี่ยวข้องผูกพันกันวิถีชีวิต คติความเชื่อ วัฒนธรรม และอื่น ๆ อีกมากมายในสังคมไทย เอกลักษณ์ประการนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประพันธ์เกือบทุกเรื่องจะยกขึ้นมาเป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่อง อาจจะกล่าวว่าเป็นสิ่งที่จะขาดไม่ได้ในการดำเนินเรื่องราว ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนไทย อย่างน้อยจะต้องมีบทประพันธ์ที่กล่าวถึงเอกลักษณ์ประเภทนี้ 
                ในบทประพันธ์ “หลายชีวิต” นี้ก็เช่นเดียวกันที่มีการดำเนินเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์ที่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา ดังที่จะเห็นได้จากเกริ่นนำเรื่อง และการวางโครงเรื่องที่เอาหลักกฎแห่งกรรมมาใช้ดำเนินเรื่องราว ซึ่งมีการกล่าวถึงพระพุทธศาสนา อยู่อย่างมากมาย ทั้งนี้ในการอ้างอิงข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลนี้ จะพิจารณาจากหลายหัวข้อด้วยกัน เช่น เอกลักษณ์ไทยที่ปรากฏที่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา  ประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องหรือได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ผู้ศึกษายังได้นำเอาข้อมูลงานเขียนของผู้ศึกษาเองที่ได้เขียนไว้ก่อนหน้า ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความสอดคล้องกับเอกลักษณ์ไทยที่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธ -ศาสนา
                หัวข้อย่อย   เอกลักษณ์ไทยที่ปรากฏในวรรณกรรม “ หลายชีวิต” ที่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลพระพุทธศาสนา ด้านคติความเชื่อ การใช้วิถีชีวิต และค่านิยมของคนไทย
                “เสม เป็นคนรักสัตว์และเมตตาต่อสัตว์มีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าสัตว์นั้นจะเป็นสัตว์เล็กขนาดเท่าแมลงหรือสัตว์ใหญ่ขนาดวัวควาย เสมไม่เคยทำลายชีวิตสัตว์ลงแม้แต่ครั้งเดียว ..... เมื่อเสมมีอายุมากยิ่งขึ้นตามเวลาที่ล่วงเลยไปความเมตตาต่อชีวิตสัตว์นั้นก็มิได้ลดน้อยลงตาม แต่กลับมากขึ้นพร้อมด้วยความเห็นใจในทุกข์ของผู้อื่นที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน...”
 (คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๓๕ -พระเสม )

                “..... เสมรับฟังคำพูดของพ่อด้วยความเคารพ แต่ทุกครั้งที่เสมนำคำพูดนั้นมาตรึกตรองดู ก็ยิ่งเกิดความสงสัยยิ่งขึ้น .... คนจนต่างหากที่มีอิ่มมีพอ  มีความกตัญญู แม้ให้ความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย พร้อมที่จะเสียสละตอบแทนผู้มีคุณนั้นได้ทุกเมื่อ เสมคิดถึงคำพูดของพ่อแล้วก็ไม่สบายใจ เพราะด้วยความเคารพรักในพ่อของตน ... เสมก็รู้อยู่ว่าพ่อพูดไม่ตรงต่อความจริงนัก แต่จะยอมรับกับตนเองว่าพ่อพูดผิด เสมก็เห็นว่าเป็นบาปกรรมไม่กล้าที่จะทำ....”
                “...คนมั่งมีบางคนอาจจะเป็นคนจนอยู่ในใจก็ได้และเช่นเดียวกันกับคนจน อาจบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ ชั่วแต่ทรัพย์นั้นเป็นอริยทรัพย์ หาใช่ทรัพย์ธรรมดาไม่ ...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๓๗  -พระเสม )
                จากทั้งสองบทประพันธ์ที่ยกมากล่าวนี้ ท่านจะเห็นว่าท่านผู้ประพันธ์นั้น ได้ใส่ความเป็นพุทธศาสนาเข้าไป  นอกจากบทประพันธ์เรื่องพระเสมแล้ว อีกเนื้อเรื่องหนึ่งซึ่งมีความสอดคล้องกันในด้านค่านิยมของวิถีชีวิตนั้นก็คือ เรื่อง เจ้าลอย  ส่วนของบทประพันธ์ที่กล่าวถึงการเก็บเจ้าลอยมาเลี้ยงของยายาพริ้ม ทั้งสองบทประพันธ์นี้ อาจจะกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตหรือการดำเนินวิถีชีวิตของผู้คน อันนำไปสู่การเกิดกระบวนการในด้านเอกลักษณ์ของคนไทย ค่านิยมดังกล่าวนั้นก็คือ ความมีเมตตา ความเมตตากรุณานั้น เป็นสิ่งที่ชาวไทยทุกคนไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตามต่างก็ยังคงเป็นอยู่และเป็นเอกลักษณ์ไทยอย่างหนึ่งที่โดดเด่น เนื่องจากพระพุทธศาสนา นั้นได้สั่งสอนอยู่โดยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นในหลักคำสอนข้อแรกที่กล่าวถึงหลักความมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ (ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ – ศีลข้อที่ ๑)   และยังมีชาดก เรื่องเล่าอีกมากมาย ที่เป็นอิทธิพลสำคัญในทางศาสนาที่ชาวไทยยึดถือว่าเป็นของดีของงาม และเป็นคุณธรรม จริยธรรมข้อหนึ่งที่ทุกคนพึ่งมี การมีคุณลักษณะดังที่กล่ามานี้ จึงเป็นวิถีหนึ่งที่นำมาสู่การสร้างเอกลักษณ์ของคนไทย
                สำหรับในบทประพันธ์ บทที่ ๒ ที่ยกมากล่าว นั้นจะมีคุณธรรมหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน นั้นคือความกตัญญู จะมองเห็นลักษณะของคนไทยในสมัยก่อนได้ดี จากภาพสะท้อนของวรรณกรรมเรื่องนี้ ว่าคนในยุคสมัยนั้น เพียงแค่การกล่าวหรือการขัดความคิด ความเชื่อของผู้มีพระคุณนั้น ก็เป็นบาป ดังจะเห็นว่าเสมไม่อาจจะสามารถกล่าวหรือคิดต่างจากบิดาของตนเองได้ในเรื่องของความรวยความจน เพราะเกรงต่อบาปที่จะเกิดขึ้น     ความกตัญญูจึงกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลจากการมีอิทธิพลของพระพุทธศาสนา และนำมาสู่กระบวนการการเป็นเอกลักษณ์ของไทย
                ความกตัญญูของไทยเหตุใดจึงเป็นเอกลักษณ์ของไทย   เป็นที่ทราบว่าหากจะกล่าวถึงความกตัญญูนั้น หาได้มีเพียงแต่ไทยเท่านั้นที่มีคุณธรรมนี้ และหากจะกล่าวว่าความกตัญญูเป็นเอกลักษณ์ของไทยนั้น เห็นว่าของชาติอื่นอาจจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการใช้คำว่าเอกลักษณ์มากกว่าคนไทยเสียอีก แต่ความกตัญญูของไทยนั้น เป็นเอกลักษณ์ในแง่ที่ว่าเกิดมาจากสามัญสำนึกประกอบกับหลักคำสอนของศาสนาประกอบกัน ความกตัญญูของไทยที่เป็นเอกลักษณ์นั้นเกิดจากการการอยู่ภายใต้อิทธิพลทางพระพุทธศาสนาที่สอนให้เป็นคนกตัญญู เพราะความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี ของความเจริญ หากไม่กตัญญูแล้ว ชีวิตก็จะไม่พบความเจริญ และอาจจะต้องตกนรกเมื่อตายอีกด้วย เห็นได้ว่ากตัญญูของไทยมีมุมมองหรือเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป   บางครั้งความกตัญญูดูเหมือนไม่มีเหตุผล เช่นกรณีที่พระเสมกตัญญูต่อบิดา จนไม่อาจจะกล่าวบิดานั้นผู้ผิดเพราะเป็นบาปต่อตนเอง
                ความกตัญญูหากจะพิจารณาในด้านความเป็นเอกลักษณ์ไทยแล้ว อาจจะต้องพิจารณาจากบทประพันธ์อีกหลายเรื่อง ซึ่งผู้ศึกษายกมาสองเรื่อง คือ เรื่องเจ้าลอย และ ละม่อม  ความกตัญญูที่บางครั้งก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจนดังที่เอกลักษณ์ไทยต้องการ
                กล่าวอธิบายดังนี้   เจ้าลอยนั้น ทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้าไม่มีบิดามารดา นั้นมาแต่หนแรก วิสัยของเจ้าลอยเองก็แปลกกว่าผู้อื่น ที่ความกตัญญูต่อยายพริ้ม และเจ้าเถิก ผู้เลี้ยงดูทั้งสอง เห็นว่าจะไม่มีอยู่เลย เพราะในท้ายที่สุดแห่งบทประพันธ์ ยายาพริ้มและเจ้าเถิกถูกฆ่าตาย  โดยที่เจ้าลอยมิได้มีความรู้สึกใด ๆ ไม่มีความผูกพันใด ๆ   เพราะเจ้าลอยคิดอยู่เสมอว่าชีวิตของตนเป็นกำไร   ส่วนของบทเนื้อเรื่อง ละม่อม นี้อาจจะดูว่ารุนแรงเช่นเดียวกัน แต่ความแตกต่างระหว่างละม่อมและเจ้าลอยมีอยู่มาก เพราะเจ้าลอยไม่มีความคิดเรื่องกตัญญูอยู่ในวิสัยของตนเลย แต่ละม่อมนั้นมีความกตัญญูอยู่สุดหัวใจ ด้วยความรักและอึดอัดใจ และการที่ไม่แสดงความรักต่อบุตรของมารดาของละม่อน  การบงการชีวิตของละม่อมในทุกฝีก้าว ทำให้ละม่อมได้ทำมาตุฆาต
                ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ความกตัญญูในเรื่องของละม่อนนี้เป็นลักษณ์ความกตัญญูที่ไม่ได้แสดงออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด จนกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ไทยอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ผู้ศึกษาจึงได้นำบทวิเคราะห์ลักษณะและพฤติกรรมของละม่อนแสดงเป็นทัศนะส่วนตัวในส่วนของภาคผนวก
                ความกตัญญู เป็นเอกลักษณ์ไทยแบบกลาง ๆ คือของชาติอื่น ๆ ก็มี แต่ชาติไทยเราแปลกกว่าที่ยกเอาอื่น ๆ อ้างเอาเป็นเหตุให้ทำ หาใช่การสอนให้พิจารณาด้วยเหตุของบุคคลที่เราต้องกตัญญู แม้ว่าการสอนหรือระบบความเชื่อเรื่องกตัญญูที่ไปผูกกับชาดก นิทาน คำสอนทางศาสนา จารีตและอื่น ๆ อาจจะทำให้เราต้องเผชิญกับเรื่องราวความตรงกันข้ามของแนวความคิดที่เป็นเอกลักษณ์ก็เป็นไปได้ เช่นในบทประพันธ์ เรื่อง เจ้าลอยและละม่อมดังที่กล่าวมา
                 ค่านิยมของคนไทยในการแก้ไขปัญหาที่หาหนทางแก้ไขไม่ได้ (เอกลักษณ์ไทย -การแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนา)
                “... เมื่อทราบข่าวในตอนแรกนั้น  หัวใจของเสมแทบจะสลายลง ใจหนึ่งคิดจะทำอันรายต่อตนเองเสียให้สิ้นทุกข์ อีกใจหนึ่งนี้เครียดแค้นใคร่ที่จะบุกฆ่านางพิณเสียให้สมแก่ที่เคยรัก..มีเสียงอันเยือกเย็นสงบนิ่งร้องห้าม  ออกมาว่า “อย่าทำ ! เสมอย่าทำ ในโลกนี้ไม่มีอะไรยั่งยืนแม้แต่ใจคน แต่ชีวิตสัตว์นั้นควรจะปรานี ... นึกว่าปล่อยลุกนก ลูกกา ไปเถิด..”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๔๐  -พระเสม )
                บทความที่ยกมานี้เป็นบทเมื่อเสมประสบกับความรักที่ไม่สมหวังเนื่องด้วย นางพิณ ได้เปลี่ยนใจไปแต่งงานกับผู้อื่น ๆ จะเห็นว่าในขั้นต้นผู้ประพันธ์ ประพันธ์ว่าเสมคิดจะทำร้ายตนเอง คือ การฆ่าตัวตาย และบุกไปฆ่านางพิณ ให้สมที่เคยรัก แต่สุดท้ายแล้วผู้ประพันธ์ ก็ยกความดีความชั่วที่ปรากฏในจิตใจของมนุษย์ขึ้นมา ดังที่จะเห็นว่าเมื่อเสมนึกคิดจะทำ ก็ปรากฏมีเสียงของใครสักคนตะโกนมาห้าม
                บทนี้น่าสนใจอีกบทหนึ่ง เพราะแสดงให้ท่านทราบว่าผู้ประพันธ์ ได้ใช้เอกลักษณ์ไทยในด้านพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งในทางวิถีชีวิตทั่วไป และแนวทางการแก้ไขปัญหา   อาจจะเรียกได้ว่า เอกลักษณ์นี้เป็นเอกลักษณ์ไทยที่มีความเป็นเฉพาะอย่างมากสิ่งหนึ่ง เพราะในสังคมอื่น ๆ วิถีทางในการแก้ไขปัญหาของเขาก็ต่าง ๆ กันไป แต่มิใช่ว่าทุกคนจะคิดถึงหลักทางศาสนาเป็นสิ่งแรก แต่ด้วยหลักคุณธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทยที่มีพระพุทธศาสนาเป็นฐาน จึงมีการนำพระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องเกือบทุกกรณี การแก้ไขปัญหาที่ไม่อาจจะสามารถแก้ไขได้อย่างง่าย หรือการที่เห็นว่ามีผู้อื่นประสบปัญหาที่ไม่อาจจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ แล้ว เอกลักษณ์ของคนไทยมักจะยกศาสนาเข้ามาเป็นทางแก้ไขปัญหา และปรกอบกับศาสนาพุทธเน้นสอนในด้านความสุขทางจิตใจ ดังนั้นจึงมาเป็นที่แปลกใจที่การแก้ไขปัญหาของคนไทยส่วนมากก็คือการวางเฉย ต่อปัญหาที่หาทางออกไม่ได้  จึงกล่าวเรียกได้ว่าการแก้ไขปัญหาเพื่อหาความสงบทางจิตใจต่อปัญหาที่แก้ไขไม่ได้นั้น เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของไทย ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา

                หัวข้อย่อย   เอกลักษณ์ไทยที่ปรากฏในวรรณกรรม “ หลายชีวิต” ที่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลพระพุทธศาสนา ด้านประเพณี จารีต
                เอกลักษณ์ไทยที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา อีกสิ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้นั้นก็คือประเพณี จารีตและวัฒนธรรม
อธิบายความหมาย
ประเพณี          น. สิ่งที่นิยมถือประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาจนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือจารีตประเพณี. (ส. ปฺรเวณิ; ป. ปเวณิ).
จารีต               [-รีด] น. ประเพณีที่ถือสืบต่อกันมานาน. (ป. จาริตฺต; ส. จาริตฺร).
วัฒนธรรม      น. สิ่งที่ทําความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมในการแต่งกาย, วิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา.
(ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๔๒ )
                เมื่อทราบความหมายแล้ว ลำดับต่อไปใคร่จะเสนอบทประพันธ์บางตอน เฉพาะที่กล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา อันเป็นบ่อเกิดแห่งความเป็นเอกลักษณ์ไทยที่ปรากฏในวรรณกรรม   ดังนี้
บทประพันธ์ที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา
                “... เมื่อเสมอายุครบบวช   มารดาก็นำตัวไปอุปสมบทที่วัดกลาง   อันเป็นวัดที่ครอบครัวของเสมขึ้นอยู่เมื่อทำขวัญนาค เมื่อมีคนพรรณนาให้ศีลให้พรในพิธีทำขวัญ เสมได้เห็นมารดาของตนร้องไห้ด้วยความปีติที่ได้บวชลูก.... เสมก็อุ้มผ้าไตรเข้าขอบรรพชาอุปสมบทด้วยสำเนียงที่แจ่มใสเป็นกังวาน..”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๔๑  -พระเสม )

                ในบทประพันธ์ที่ยกมานี้ ท่านจะเห็นว่าเอกลักษณ์ไทยที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ด้านประเพณีนั้น จะเห็นถึงค่านิยมของคนไทยที่มีบุตรชาย เมื่ออายุครบบวชต้องให้บวช โดยมีจุดประสงค์สองประการที่สำคัญคือ การสืบทอดพระพุทธศาสนา และการสร้างความปีติยินดีให้เกิดบิดามารดา โดยเชื่อว่าจะนำผลบุญให้บิดามารดาไปสู่สวรรค์ หรือ จะได้เกาะผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ นั้นเอง  
                นอกจากนั้นยังมีเอกลักษณ์หนึ่งที่ปรากฏในบทที่ยกมาคือ การทำขวัญนาค ซึ่งจะมีขึ้นก่อนวันอุปสมบท ในบทที่ยกขึ้นมาได้พรรณนาว่ามารดาของเสมยินดีเป็นล้นพ้นที่เห็นบุตรชายจะได้เข้าอุปสมบท ถึงกับร้องไห้ด้วยความยินดี
               
“.... พระเสมบวชอยู่จนครบพรรษารับกฐินแล้ว โยมก็มีอาราธนาให้สึกตามวันและฤกษ์ยามที่โยมผู้หญิงหามาให้เสร็จ  ....”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๔๓  -พระเสม )
                จากบทประพันธ์ในบทนี้จะเห็นได้ว่า มีอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นประเพณีวัฒนธรรมของไทยที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา คือประเพณีการทอดกฐิน และจากบทประพันธ์นี้ จะเห็นถึงเอลักษณ์อย่างหนึ่งคือ การบวชอย่างแท้จริงตามแบบอย่างของเอกลักษณ์ไทยนั้น จะต้องบวชให้ครบจนรับกฐินได้ หรือการบวชในช่วงเข้าพรรษาและสึกเมื่อรับกาลกฐินแล้ว ดังนั้นคำว่าพรรษาจึงมีความหมายถึงระยะเวลา ๓ เดือน นั้นเอง
                  
เอกลักษณ์ไทยในวรรณกรรม “การเชื่อโชคลาง ไสยศาสตร์ คติความเชื่อ ภูตผีวิญญาณ และความเชื่อเรื่องเวรกรรม” เอกลักษณ์ไทยที่แสดงออกมาในวรรณกรรม “หลายชีวิต” ความเป็นจริงของสภาพสังคมไทยที่สะท้อนจากวรรณกรรม
            เป็นธรรมดาของทุกสังคม ล้วนต้องมีความเชื่อเรื่องโชคลาง ไสยศาสตร์ และอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะหากเราพิจารณาดูจะพบว่าเกือบทุกอารยธรรมของโลก ล้วนสรรค์สร้างความคิด ความเชื่อ จากความเชื่อในธรรมชาติและสิ่งที่มองไม่เห็น  ด้วยที่พื้นฐานแห่งอารยธรรมมีผี มีธรรมชาติเป็นบ่อเกิด
                สังคมไทยก็เป็นอีกสังคมหนึ่งที่มีรากเหง้าแห่งอารยธรรมที่เริ่มต้นจากภูตผีวิญญาณ เป็นปฐม และเมื่อภายหลังมีการผสมผสานระหว่างลัทธิศาสนาทั้งพุทธและพราหมณ์เข้า ก็ก่อเกิดเป็นคติความเชื่อแบบใหม่ ที่มีพื้นฐานแห่งความเชื่อความศรัทธาจากลัทธิศาสนาธรรมชาติ (ศาสนาผี) เข้ามาเป็นตัวหลัก แม้ในปัจจุบันจะมีอีกลัทธินิยมหนึ่งที่มีความเชื่อที่หนักแน่นในเรื่องของความเป็นจริงแห่งสรรพสิ่ง “วิทยาศาสตร์” เข้ามาแทนที่และมีอิทธิพลอย่างมาก แต่เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นว่าไม่ว่าจะยุคสมัยใดศาสนาดั้งเดิมอย่างการเคารพนับถือธรรมชาติและผี ล้วนยังคงมีอิทธิพลอยู่
                วรรณกรรมและบทประพันธ์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงการนำเสนอในทัศนะนี้ได้ แต่การนำเสนอของบทประพันธ์นั้นมีสิ่งหนึ่งที่ผู้ศึกษาเห็นว่าเป็นเอกลักษณ์ไทยอีกอย่างหนึ่งที่เด่นชัดมาก คือการผสมผสานแนวความคิด ความเชื่อ จากผีสู่พุทธ ผ่านกระบวนการทางคติความเชื่อ  โชคลาง ไสยศาสตร์ และอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังจะปรากฏในบทประพันธ์ “หลายชีวิต” ดังนี้
การเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “การสาบาน”  
                “... แกสั่งให้เจ้าเถิกและลอย แบ่งกันคนละครึ่ง เพราะลูกหลานอื่นแกไม่มี แล้วแกก็ให้เจ้าเถิกและลอยสาบานต่อหน้าพระพุทธรูปและต่อหน้าแกว่า จะรักกันสามัคคีกันต่อไปเมื่อแกตายแล้ว ....”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๒๙  -เจ้าลอย)
                การสาบานเป็นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างหนึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่เป็นสังคมเดียวในโลกที่มีคติการสาบาน แต่กระนั้นการสาบานของไทยมีความแตกต่างกว่าที่อื่นจนเป็นเอกลักษณ์คือ เมื่อได้รับอิทธิพลจากศาสนาธรรมชาติ ก็นำเอาภูตผีวิญญาณเป็นประธานในการสาบาน  เช่น  การสาบานต่อต้นไม้ ต่อธรรมชาติ  ต่อพระจันทร์ ต่อพระอาทิตย์ เป็นต้น   ต่อมาเมื่อเปลี่ยนการนับถือเป็นลัทธิพราหมณ์-ฮินดูแล้ว ก็มีการเอาเทวรูปเคารพของศาสนาพราหมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสาบาน หรือการนำชื่อเทพยดาที่เป็นอิทธิพลจากพราหมณ์-ฮินดูเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การสาบานต่อพระพรหม พระนารายณ์ เป็นต้น และท้ายสุดเมื่อสังคมไทยได้รับศาสนาพุทธเข้ามา แม้ว่าในศาสนาพุทธเองจะไม่ได้กล่าวถึงและให้ความสำคัญต่อการสาบาน แต่คนไทยก็ยังลากเอาลัทธิความเชื่อเรื่องการสาบานเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังจะเห็นจากบทประพันธ์ที่ยกมานี้ เป็นตอนหนึ่งในเรื่องเจ้าลอย ที่ยายพริ้มแบ่งสมบัติที่ให้เจ้าเถิกและลอยสาบาต่อหน้าพระพุทธรูป
ความเชื่อในฤกษ์ยามมงคล   “ลักษณะการเข้าปล้นของโจรในสมัยก่อน”
                “....เสือเปรื่องเตรียมการอยู่หลายวัน และเมื่อได้ฤกษ์ดีก็ยกพวกขึ้นปล้นบ้านกำนันอย่างอุกอาจ..”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๓๐  -เจ้าลอย)
                จากบทประพันธ์ที่ยกขึ้นมานี้ ท่านจะเห็นได้ว่าเอกลักษณ์หนึ่งของคนไทยที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือการถือฤกษ์งามยามดี ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ประพฤติปฏิบัติกันมานานนม แม้ในคติธรรมเนียมอย่างโจรผู้ร้ายที่เข้าปล้น ก็ยังมีการถือคติอย่างนี้อยู่   จึงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ที่แสดงตัวตนของคนไทยออกมา
                ทั้งนี้ผู้ศึกษาเห็นว่าในบทประพันธ์นี้มีอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นว่ามีความแปลกและแตกต่างในเรื่องของธรรมเนียมอย่างโจร อีกสิ่งหนึ่ง คือลักษณะการปล้นที่มีชั้นเชิงและวางแผนอย่างเป็นระบบ มีการตะโกนกู่ร้องให้บ้านที่จะเข้าปล้นนั้นทราบว่าเป็นกองโจรใด จนมีผู้กล่าวว่า ในบ้างครั้งเมื่อบ้านที่เคราะห์ร้ายตกเป็นบ้านที่กลุ่มโจรมุ่งหมายจะเข้าปล้นเมื่อได้ยินการตะโกนกู่ร้องดังนี้แล้วก็ใจเสีย ไม่คิดจะขัดขืนแต่ประการใด จึงนับว่าเป็นเอกลักษณ์ของโจรไทยอีกประการหนึ่งซึ่งไม่พบเห็นในปัจจุบันแล้ว
เสริม   ลักษณะการเข้าปล้นของโจรสมัยก่อน  
“...เสือเปรื่องสั่งให้ลอยคอยสังเกตการณ์อยู่ข้างต้นไม้ใหญ่ ห่างจากตัวเรือนออกไป ส่วนตัวเสือเปรื่องคุมสมุนขึ้นปล้นบ้านกำนัน ... ท่ามกลางเสียงปืนและเสียงร้องตะโกน    “อ้ายเสือเอาวา!”  หรือ “อ้ายเสือเปรื่องเข้าปล้น” ซึ่งเป็นคำร้องที่สมุนเสือเปรื่องถือเป็นธรรมเนียม ต้องร้องเวลาเข้าปล้นทุกครั้งไป...”
                “... บางทีชาวบ้านจะนัดกันยกกองมาช่วย ...ลอยยืนนิ่งอยู่อีกสักครู่หนึ่งแล้วก็ร้องตะโกนขึ้นว่า “อ้ายเสือถอย!”   เสียงร้องบอกตะโกนกันต่อ ๆ ไป ....”




ความเชื่อในเรื่อง ไสยศาสตร์ และเครื่องรางของขลัง
                “...ระยะเวลาอีกสามปีต่อมา ...พระเสมก็กระหายในอิทธิฤทธิ์ เชื่อแน่ว่าด้วยการบำเพ็ญตนโดยเคร่งครัด อิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ หรืออำนาจอันเป็นทิพย์นั้นอาจบังเกิดแก่ตนได้ พระเสมเริ่มท่องจำคาถาอาคมต่าง ๆ และเริ่มสะสมของดีของวิเศษ ...ถ้าพระเสมรู้ว่าที่วัดไหนมีตะกรุดหรือเครื่องราง ก็มัก จะไปติดต่อคุ้นเคยจนได้ของดีของวิเศษ   -นั้น ๆ มา ...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๔๗  -พระเสม)

                จากบทประพันธ์ตอนที่ยกมานี้ เอกลักษณ์อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นจะพบปะได้แม้ในปัจจุบันคือการเชื่อในโชคลางไสยศาสตร์ คาถาอาคม และสิ่งของวิเศษ อย่างที่กล่าวมาในขั้นต้นแล้ว จะเห็นว่าลักษณะความเชื่อและการเคารพนับถือลัทธิศาสนาของไทยนั้นเป็นลักษณะของการเคารพนับถือศาสนาธรรมชาติ หรือการเคารพบูชาภูตผี ต่อมามีการนำเอาลัทธิศาสนาพราหมณ์ –ฮินดูเข้ามาก็เข้ามาในลักษณะการเข้ามาแทนที่ คือเปลี่ยนจากผีต่าง ๆ นานา มาเป็นเทวดา เช่นผีฟ้าก็กลายเป็นเทวดา เป็นต้น ท้ายสุดไทยก็รับเอาลัทธิศาสนาพุทธทั้งนิกายเถรวาท (หินยาน) และนิกายมหายาน เข้ามานับถือ ไทยจึงได้มีการปรับเปลี่ยนและผสมรวมลัทธิศาสนาทั้งสามเข้าด้วยกัน จนไม่อาจจะแยกความเชื่อ การเคารพบูชา ต่าง ๆ ออกจากันได้อย่างชัดเจน ท่านจะเห็นจากบทประพันธ์ที่ผู้ศึกษาได้ยกขึ้นมานี้ได้เป็นอย่างดี ว่าไสย และพุทธนั้น ผสมผสานจนแยกออกจากกันไม่ได้เลย แม้พระเสม ตัวละครเด่นในบทประพันธ์จะเป็นนักบวชที่อยู่ในพระพุทธศาสนา แต่ก็แสดงออกมาอย่างชัดเจนว่า ท่านก็เคารพและบูชา พร้อมทั้งมีความเชื่อในไสยศาสตร์ด้วยเช่นกัน แม้ว่าในระยะเวลาต่อมาจะมาพระเสมจะเปลี่ยนทัศนะไปจากเดิมก็ตาม
                เอกลักษณ์ไทยอีกสิ่งที่ต้องพิจารณามองให้ละเอียดถี่ถ้วนคือ ลักษณ์การคงอยู่ของไทย ที่มักจะไม่มีการกีดกันหรือปฏิเสธลัทธิศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม หรือทัศนะ การดำรงชีวิต ที่แปลกแตกต่างจากตน แต่มักจะอนุโลมและพัฒนาปรับเปลี่ยนให้โยงเข้าสู่วิถีของตนให้ได้ อาจจะกล่าว่าไม่ใช่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่มีเอกลักษณ์ดังนี้ แต่ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซีย ก็ล้วนแต่มีลักษณ์นี้เช่นเดียวกัน

                “.... เพียงเท่านั้นเอง สบงเก่าตัวนั้นถูกฉีกออกเป็นฝอยแบ่งปันกัน และกากใบชานั้นก็แบ่งกันคนละหยิบมือ จนหมดถาดภายในพริบตาเดียว..
                ..ชายสบงและกากใบชาของหลวงพ่อเสม กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อเสมมีคนมาฝากตัวเป็นศิษย์มากขึ้นทุกวัน และทุกคนต้องขอชายสบงหรือกากใบชาไปเป็นเครื่องราง ว่ากันว่าเป็นของดีที่ขลังในทางเมตตาใครได้ไปไว้ย่อมคิดสิ่งใดสำเร็จปรารถนาทำมาค้าขึ้น และศัตรูหมู่ร้ายก็หมดไปสิ้น ..”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๕๙   -พระเสม)
                เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะกล่าวข้ามไปเสียไม่ได้คือลักษณะแบบไทยอีกอย่างคือการเชื่อถือโชคลางและเครื่องรางของขลัง พิจารณาจากบทประพันธ์ สู่เอกลักษณ์ของความเป็นไทย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าในยุคสมัยที่ท่านผู้ประพันธ์เริ่มการประพันธ์ หรือในยุคสมัยที่ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์นี้ เห็นว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงเสียเท่าใดนัก เอกลักษณ์ในข้อนี้ยังคงเด่ชัด และเป็นอยู่อย่างเสมอมา คนไทยยังคงมีวิถีความเชื่อและการเคารพเชื่อถือในเรื่องราวของเครื่องรางที่เชื่อว่าจะป้องกันหรือดลบันดาลสิ่งที่ตนต้องการให้สำเร็จได้ หากมองในแง่ของพระพุทธศาสนา ก็เห็นว่าเป็นอะไรที่งมงายเป็นอย่างมาก แต่หากพิจารณาในแง่ของสังคมศาสตร์เราจะเห็นว่า มนุษย์มีสิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกันคือความต้องการสิ่งที่พักพิงอาศัยทั้ง ทางร่างกายและจิตใจ เมื่อจิตใจยังต้องการที่ยึดเหนี่ยว จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อเครื่องรางของขลัง ตามบทประพันธ์ ก็คือ สบงเก่า ๆ และกากใบชา ก็สามารถเป็นของวิเศษที่ดลบันดาลและมีคุณวิเศษนานาประการ วิถีอย่างไทยคือความผสมกลมกลืน นำเอาสิ่งที่เด่นมาปรับและประยุกต์ใช้ สิ่งใดที่ดูขัดต่อความเป็นวิถีของตนก็ตัดรอนหรือปฏิเสธเสีย

ความเชื่อ ที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  
                “...ด้วยเหตุที่เมื่อยังเป็นเด็กเล็กทองโปรยเคยเจ็บมากจนพ่อแม่นึกว่าจะตายแต่กลับรอดมาได้นั้นอีกประการหนึ่งและด้วยเหตุที่พ่อแม่เชื่อมั่นว่า ทองโปรย บุตรสาวคนเล็กนั้นนำลาภมาให้แก่ครอบครัว ตั้งแต่เกิดมาพ่อแม่ก็ทำมาค้าขึ้น...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๒๒๓-ทองโปรย)
                บทประพันธ์ที่ยกมานี้ เป็นบทประพันธ์ตอนทองโปรย หนึ่งในหลาย ๆ เรื่องของวรรณกรรม “หลายชีวิต” ในช่วงเกริ่นนำตอนต้นของเรื่องทองโปรย ได้แสดงทัศนะให้ทราบอีกสิ่งหนึ่งถึงความเป็นเอกลักษณ์ไทยนั้นคือ ความเชื่อในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ในบทประพันธ์กล่าวถึงตอนที่ทองโปรยป่วยตอนเล็ก และรอดตายมาอย่างอัศจรรย์  บิดาและมารดาของทองโปรยเชื่อว่าเหตุการณ์อัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นมงคล นำพาครอบครัวของทองโปรยให้ค้าขายดีมีกำไร 
                บทประพันธ์นี้จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ยกกล่าวให้เราทราบถึงเอกลักษณ์ของไทยอีกอย่างหนึ่งคือ ความเชื่อในโชคลาง แต่เป็นโชคลางในลักษณะโชคลางที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ซึ่งมีผู้ใดผู้หนึ่งนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ๆ มาประสมความคิด ความเชื่อ จนกลายมาเป็นความเชื่ออย่างเหนียวแน่นในที่สุด สิ่งที่นำมาประสมนั้นก็ต้องดูมีน้ำหนักด้วย เช่น บิดามารดาของทองโปรย เชื่อว่าการรอดตายอย่างอัศจรรย์ของทองโปรย เป็นเหตุ   นำมาสู่การทำมาค้าขึ้นของครอบครัวของทองโปรย เป็นผล เหตุและผลจึงสอดคล้องกัน และผสมกับความเชื่อดั้งเดิมนำไปสู่คติความเชื่อด้านโชคลางที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ และคงมีส่วนคล้ายคลึงกับบทประพันธ์อีกบทที่ยกเอาความสัมพันธ์กับเหตุการณ์อธิบายความเชื่อเช่นเดียวกัน  บทประพันธ์ตอนเจ้าลอย ดังนี้
               
                “.... ไอ้ลอยมันนำลาภมาให้  ตั้งแต่เลี้ยงมันมาก็ทำมาค้าขึ้น มาตลอด เห็นจะเป็นบุญของเด็กมันสร้างสมมา ฉันเองก็ตัวคนเดียวไม่มีลูกมีเต้า หาได้ก็เก็บไว้ให้มันนั่นแหล่ะ เพราะได้เลี้ยงมันมาเหมือนลูก พ่อแม่ของมันเขาใส่หม้อลอยทิ้งน้ำมันเสียแต่แรกเกิด ...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๑๓   -เจ้าลอย)

ความเชื่อในผี
                “...เพราะเจ้าดั่นไปสุ่มไฟให้ควายที่คอก ....พอกลับขึ้นเรือนมาแล้ว เจ้าดั่นก็ไม่ค่อยจะกินข้าวกินน้ำ นั่งเหม่อมองไปทางคอกควาย แล้วก็ร้องไห้บ่อย ๆ ...เมื่อพระเสมไต่ถามชาวบ้านดู เขาก็บอกว่าเจ้าดั่นกลัวจะไม่รอด คงจะตายเร็ว ๆ นี้เพราะถูกผีทำ ....”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๕๔   -พระเสม)

                “... พระเสมเหลียวไปดูหน้าพ่อเจ้าดั่น และได้รับคำตอบว่า “พี่มันทำน่ะขอรับ หลวงพี่ มันบอกผมทีแรกก็ออกไปนั่งฟังตั้งหลายคืนก็ไม่เห็นมีอะไร บอกมัน มันก็ไม่เชื่อ.....”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๕๕   -พระเสม)

                บทประพันธ์ข้างต้นทั้งสอง เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของวิถีความเชื่อของไทย ที่นำไปสู่ความเป็นเอกลักษณ์ของไทยในที่สุด  พุทธ พราหมณ์ ผี สามสิ่งที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันละกัน ไม่มีสิ่งใดที่อยู่เหนือกว่าหรือต่ำกว่ากัน ทั้งสามสิ่งล้วนมีอิทธิพลต่อเอกลักษณ์ของไทยด้วยกันทั้งสิ้น บทประพันธ์ในตอนพระเสมดูอาการของเจ้าดั้นที่ป่วยเพราะได้ยินเสียงของภูตผี ที่ร้องขอให้ช่วยชีวิต ที่ยกมาทั้งสองบทนี้ จะเห็นได้ชัดถึงเอกลักษณ์และลักษณ์ของคนไทยอีกประการหนึ่งที่มักจะยกให้เหตุการณ์ที่ไม่อาจจะทราบสาเหตุได้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด ก็โทษหรือบอกว่าผี เป็นคนทำ จึงสะท้อนภาพของเอกลักษณ์ไทยที่ว่า คนไทยและวิถีแบบไทยยังคงมีความเชื่อเรื่องผีเป็นใหญ่ แม้จะรับนับถือพุทธศาสนาแล้วก็ตาม  อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากบทประพันธ์ที่ยกมาตอนแรก จะเห็นถึงลักษณะวิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อนที่มีการเลี้ยงสัตว์สำคัญ เช่น กระบือ และโค เพื่อใช้แรงงาน ดังปรากฏในความว่า
“...เพราะเจ้าดั่นไปสุ่มไฟให้ควายที่คอก ....พอกลับขึ้นเรือนมาแล้ว เจ้าดั่นก็ไม่ค่อยจะกินข้าวกินน้ำ นั่งเหม่อมองไปทางคอกควาย...”
                และหากพิจารณาถึงบทความตอนนี้ให้ชัด แสดงให้เห็นว่าการสร้างคอกกระบือและโคนั้นคนไทยสมัยก่อนมักจะสร้างเอาไว้ใกล้เรือน เพราะง่ายต่อการดูแล และอาจจะอนุมานตามความเป็นจริงแห่งสังคมไทยได้ว่าสถานที่สร้างคอกอาจเป็นบริเวณบ้าน หรือใต้ถุนบ้าน แต่ในบทประพันธ์ เห็นว่าน่าจะเป็นบริเวณบ้านมากกว่า เพราะเจ้าดั่นมองทอดสายตาไปยังบริเวณคอกกระบือ มิใช่ก้มลงมอง

การตื่นข่าวมงคล
                “..อันความเชื่อถือของคนเรานั้นเป็นโรคติดต่ออย่างรุนแรงชนิดหนึ่ง เพราะเชื้อแห่งศรัทธาของคนเรานั้นมีอยู่อย่างมากมาย ...นามที่คนเรียกกันโดยทั่วไปนั้นก็กลายเป็นจากหลวงพี่เสมหรือหลวงน้าเสมไปเป็น “หลวงพ่อเสม ในแคว้นเจ้าเจ็ดแคว้นสุพรรณตลอดจนถึงอยุธยา คนก็รู้จักหลวงพ่อเสมไปทั่ว ...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๕๘   -พระเสม)
                เป็นธรรมดาของสังคมไทยที่ต้องมีเรื่องตื่นข่าวมงคล ในด้านภาษาจะมีคำ วลี หลายคำที่กล่าวถึงเอกลักษณ์ไทยในด้านนี้ และที่คุ้นหูที่สุด คือ “ไทยมุง”   ความหมายอนุมานได้ว่า หมายความถึงกลุ่มบุคคลที่รุมเข้าไปดูเหตุการณ์หรือสิ่งใด อย่างไม่เป็นระเบียบ เป็นในลักษณะเดียวกันกับคำว่า “ตื่นข่าวมงคล” คนไทยอาจจะไม่ใช่ชาติเดียวที่มีลักษณะประเภทนี้  แต่ก็ไม่อาจะปฏิเสธได้ว่าไม่ใช่เอกลักษณ์ของไทยอย่างแท้จริง เอกลักษณ์ของไทยนี้ เป็นเรื่องที่คงอยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตาม คนไทยชื่นชอบเรื่องราวของผู้อื่น และปรารถนาที่จะทราบเรื่องราวนั้น ๆ จุดประสงค์เพื่อนำไปบอกเล่าหรือกระจายข่าวให้ทราบกัน แต่เนื้อความเนื้อมักจะไม่ตรงกับเหตุที่เกิดขึ้น
                ที่กล่าวมานี้ก็น่าจะสอดคล้องกับบทประพันธ์ที่ยกขึ้นมานี้เห็นได้ว่า บทประพันธ์กล่าวว่ามีคนรู้จัก “หลวงพ่อเสม” กันอย่างรวดเร็ว การรู้จักนั้นเป็นไปในลักษณะของการตื่นข่าวมงคล คือเห็นว่าหลวงพ่อเสมมีของดี ของวิเศษ หาได้ทราบถึงข้อเท็จจริงในเรื่อง่าเหตุใดจึงมีผู้เคารพนับถือท่าน แต่เชื่อและตื่นข่าวว่า “สบงและกากใบชา”นั้นเป็นของวิเศษ ใครมีไว้ครอบครองจะปลอบภัยจากอันตรายและค้าขายเจริญ
ความเชื่อในเรื่องเวรกรรม
                ในหัวข้อนี้ผู้ศึกษาจะยกบทประพันธ์บางตอนที่มีข้อความอันเกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์ความเป็นไทยอีกประการหนึ่ง คือ ความเชื่อในเรื่องของเวรกรรม  อันเป็นผลจากการที่คนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนา แต่กระนั้นในบทวรรณกรรมก็มิได้แสดงให้เห็นเฉพาะส่วนของผลแห่งกรรมที่กระทำหรือการแสดงความผิดชั่วร้ายแห่งการก่อกรรมทำเข็ญ แต่แสดงออกมาอีกทัศนะหนึ่งคือ กรรมเวร ที่เกี่ยวเนื่องในชีวิต
(ทั้งนี้ผู้สนใจจะต้องทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า การตีความ คำว่า กรรม ในทัศนะของคนไทยนั้น หาได้แปลความตามอย่างความหมายทางพุทธศาสนาไม่ แต่เป็นการแปลความที่มีความมุ่งหมายแต่เพียงทางเดียวคือ การกระทำอันเป็นบาป ความผิดชั่ว ความทุกข์อันร้อนร้น เป็นต้น )

                “...อีลูกกรรม! เกิดมาทำไมไม่รู้ ให้กูต้องเลี้ยง อีกปากหนึ่ง !...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๖๕   -พรรณี)
               
“..รื่นเอ็งเชื่อแม่เถิด อย่าไปบางกอกอีกเลย อยู่กับแม่อยู่กับลูกเอ็งเสียที่นี่แหล่ะ เงินทองเราก็พอมีอยู่แล้ว เอ็งอย่ากลับไปทำเขาอีกเลย บาปกรรมเปล่า ๆ ชาติก่อนเอ็งกับแม่จะทำกรรมอะไรไว้ก็ไม่รู้ แต่ชาตินี้เราก็ใช้กรรมมาพอแล้ว ..”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๘๙   -พรรณี)
                “..จะเป็นเพราะกฎธรรมชาติ ว่าด้วยความดำรงอยู่ของสัตว์ที่แข็งแรงที่สุด หรือจะเป็นเพราะกรรมเวรย่อมตามสนองผู้ที่ได้ประกอบกรรมก็ตามแต่  พอผลมันเริ่มจะมีอายุมากหน้าตาไม่สดชื่นเหมือนแต่ก่อน และสุ้มเสียงก็ไม่ใสเป็นกังวานเหมือนเมื่อก่อน การกระทำบางอย่างที่มันเคยกระทำแก่นายทับทิม ก็มาเกิดขึ้นแก่ตัวมันเอง...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๑๓๕   -ผลพระเอก)

                “...ลูกอะไรก็ไม่รู้ ใจดำกับแม่ของตนเอง      -แล้วนางลมุลก็หยุดกินเหล้ากลั้วคอครู่หนึ่ง และจะเริ่มพรรณนาถึงกรรมเวรของตน ที่เกิดมากับเขาชาติหนึ่งแล้วมีลูกไม่ได้ดั่งใจ ทั้งที่ตนเองได้ยอมพลีกายเสียสละทุกอย่างในชีวิตเพื่อลูกของตน ...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๑๔๓   -ละม่อม)

                “...ละม่อมก็เหมือนกับคนทั้งหลายทั้งปวงอีกเป็นอันมากที่เมื่อทำความดีแล้วก็อยากให้มีคนรู้มีคนเห็น และอยากให้ความดีสนองตอบแก่ตน ภาษิตที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นั้น ...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๑๔๕   -ละม่อม)

                “... ละม่อมเดินลงมาข้างล่างเหมือนกับว่าฝันไป ชีวิตเก่าหมดลงด้วยความตายของแม่ ชีวิตใหม่จะเป็นเช่นใดละม่อมก็เดาไม่ออก ความรู้สึกว่าตนได้ประกอบกรรมอย่างหนักที่สุดคือมาตุฆาตนั้น มิได้ผ่านเข้ามาในหัวใจเลยแม้แต่น้อย มีแต่ความรู้สึกโล่งเหมือนกับว่าได้ปลดพยาธิชนิดหนึ่ง ที่คอยสูบกินโลหิตจากตนมาตลอดชีวิตให้พ้นไปจากตัวไป..”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๑๕๕   -ละม่อม)

                “... ถึงหมอสุดจะตักเตือน ยกเหตุผลว่าความตายเป็นเรื่องชองบุญกรรม ถึงคนไข้จะถึงหมอถึงยาสักเท่าไร แต่ถ้าถึงคราวแล้วก็ต้องตายดั่งนี้ ...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๒๓๗ -หมอแสง)

        

                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                              เอกลักษณ์ไทยในวรรณกรรม “ความนิยมของคนไทยต่อเรื่องสนุกสนาน เริงร่า” เอกลักษณ์ไทยที่แสดงออกมาในวรรณกรรม “หลายชีวิต”   ความเป็นจริงของสภาพสังคมไทยที่สะท้อนจากวรรณกรรม
                 หากจะเปรียบเทียบคนไทยว่าเป็นคนจิตใจยินดี ไม่ยินร้าย ไม่มีความทุกข์นั้น ในสภาพปัจจุบันอาจจะไม่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มที่นัก เพราะคนไทยในปัจจุบันมีคุณค่าการใช้ชีวิตที่เป็นเอกเทศ ไม่เกี่ยวข้องผูกพันกันเหมือนแต่เก่าก่อน แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ว่าบทประพันธ์ “หลายชีวิต” จะไม่แสดงทัศนะความเป็นเอกลักษณ์ของไทยผ่านวรรณกรรมนี้ออกมา เพราะแม้ว่าในปัจจุบันเอกลักษณ์ไทยคุณลักษณะนี้จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ยังคงมีอยู่ให้พบอยู่ใช่ว่าขาดหายไปเลย เพราะหากจะให้คำนิยามของคำว่าเอกลักษณ์ไทย คงจะต้องกล่าวว่าคุณลักษณะที่คนไทยเป็นและมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ไม่ได้ละทิ้งซึ่งความเป็นตัวตน คุณลักษณะที่จะกล่าวถึงนี้คือ ความนิยมของคนไทยต่อเรื่องความสนุกสนานเริงร่า

                “...เสมมิใช่คนที่ผิดธรรมดาถึงกับจะเกิดมาโดยปราศจากตัณหาราคะหรือมีจิตใจที่ปราศจากความชั่วเสียเลย เพื่อนฝูงหนุ่ม ๆ รุ่นเดียวกันก็มีอยู่มากพอที่จะชักจูงเสมเข้าหาความสุขจากอบายมุขต่าง ๆ เป็นต้นว่า สุรานารี และการพนัน...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๓๗ -พระเสม)

                “... สิ่งที่กำหนดชีวิตของเจ้าผลนั้น ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันหนึ่ง ขณะที่ตามแม่ไปธุระที่ตลาดผักไห่ วันนั้นเขามียี่เกที่ตลาด แสดงโดยคณะยี่เกมีชื่อจากอยุธยา เสียงคนโจษจันกันที่ตลาดเรื่องยี่เกตั้งแต่กลางวัน เสียงเลื่องลือกันว่ายี่เกโรงนี้ดีนักดีหนา ใครไม่ได้ดูก็เท่ากับว่าเสียเที่ยวเกิด  พวกยี่เกเขาจะมาเล่นที่ตลาดเพียงสามคืน .... ต่างคนต่างพูดเรื่องยี่เกอยู่เซ็งแซ่ และทุกคนก็ชวนให้แม่เจ้าผลอยู่ดูยี่เก ...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๑๕๕ –ผล พระเอก)

                จากบทประพันธ์ทั้งสองเรื่องที่ยกขึ้นมานี้ แม้จะไม่ใคร่เห็นชัดเจนว่าคุณลักษณะของคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ชื่นชอบในความสนุกสนาน แต่เมื่อพิจารณาแล้วในบทพระเสม จะเห็นว่า คุณลักษณะประการสำคัญหนึ่งของชายหนุ่มในสมัยนั้นคือ ความชื่นชอบในคามสนุกสนาน ด้านสุรานารี และการพนัน และแม้ว่าจะเป็นในปัจจุบันเราเองก็ไม่อาจะปฏิเสธได้ว่า ในบทประพันธ์ที่เขียนเป็นบทละครในโทรทัศน์นั้นไม่มีลักษณะนี้อยู่  อาจจะเรียกว่าพบเห็นคุณลักษณะของชายหนุ่มในแบบนี้ได้มากทั้งในละครและในวิถีชีวิตของคนไทย ความชื่นชอบความสนุกสนาน และร่าเริง ความรู้สึกรังเกียจความทุกข์ยาก ความหดหู่ แสดงออกมาอย่างชัดเจนในบทประพันธ์ ผล พระเอก ที่กล่าวถึงตอนต้นที่เจ้าผลได้รู้จักกับคำว่า ยี่เก หรือลิเกในปัจจุบัน ในบทประพันธ์บรรยายให้ทราบว่า ในช่วงเวลาที่ชาวตลาดทราบว่ามียี่เกมาและจะทำการแสดงนั้น ชาวตลาดทั้งหลายก็พากันพูดคุยแต่เรื่องยี่เก ไม่เป็นอันทำมาหากิน แต่การที่ไม่เป็นอันทำการทำงานนี้ หาใช่ความทุกข์จนทำไม่ได้ แต่เป็นเพราะดีใจและสุดจะรั้งรอเวลาไม่ได้ เอกลักษณ์ไทยในด้านความนิยมในความสุนกสนาน นั้น แสดงออกมาในบทประพันธ์ ผล พระเอก อย่างชัดที่สุด เพราะได้กล่าวถึงคุณลักษณะของคนหมู่มาก ทั้งในช่วงเกริ่นก่อนยี่เกทำการแสดง และถึงช่วงที่เริ่มทำการแสดง ในบทบรรยายจะกล่าวว่ามีผู้คนมากมาย ต่างรอชมยี่เก อย่างมีความสุข ดังเช่นบทประพันธ์ตอนนี้
                “..ผลกับแม่นั่งคอยอยู่นาน คนดูค่อย ๆ ทยอยกันมาเรื่อย ๆ เสียงทักกัน เสียงหัวเราะต่อกระซิกดังอยู่รอบ ๆ ตัว จะมองไปทางไหนก็เห็นแต่หน้าคนที่รื่นเริงมีความสุขใจ ... และมุ่งหน้ามาหาความสุขสำราญชั่วครู่...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๑๑๗ –ผล พระเอก)
                นอกจากนี้ แม้บทประพันธ์จะให้ค่านิยมของคนไทยที่ชื่นชอบความสนุกสนาน แต่ก็ไม่ทิ้งลักษณะอีกประการหนึ่งที่เข้าข่าย “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” คือแม้จะนิยมชมชอบความสนุกสนาน แต่ก็ไม่นิยมให้บุตรหลานหรือคนในวงศ์ตระกูลเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความสนุกสนานร่าเริง

                “... ไอ้ผลมันอยากดูยี่เกฉันก็เลยพามันไปดู- แม่ตอบซัดมายังผล
                “แกละก็เป็นเสียอย่างนี้ “ เสียงพ่อบ่นพึมพำ “ลูกมันยังเล็ก แกพาไปดูพวกเต้นกินรำกิน เดี๋ยวมันใจแตกไม่คิดทำมาหากินก็จะลำบากเปล่า ๆ ...”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๑๑๙ –ผล พระเอก)




เอกลักษณ์ไทยในวรรณกรรม “นิยมการนินทา” เอกลักษณ์ไทยที่แสดงออกมาในวรรณกรรม “หลายชีวิต”   ความเป็นจริงของสภาพสังคมไทยที่สะท้อนจากวรรณกรรม

                “... หลังจากเด็ก ๆ สังเกตเห็นความวิปริตของเจ้าแดง ผู้ใหญ่ในละแวกบ้านนั้นก็เริ่มซุบซิบเลื่องลือกันว่า ลินจงมีลูกเป็นคนบ้าคนเบื้อ ....”
(คึกฤทธิ์ ปราโมช, ๒๕๓๓ :๒๐๑ –ลินจง)
                จากบทประพันธ์ที่ยกขึ้นมาในบทนี้ เห็นได้ว่า คนไทยมีอีกเอกลักษณ์หนึ่งซึ่งผู้ศึกษาเห็นว่าเป็นคุณลักษณะที่มีทั้งคุณและโทษอยู่ในตัว  เพราะคนไทยมีนิสัยอยากรู้ประสงค์เห็นในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ และเป็นผู้กระจายข่าวได้ดี   คุณลักษณะนี้ของคนไทย มักจะสร้างปัญหามากกว่าสร้างคุณประโยชน์ แต่กระนั้นก็นับว่าเป็นเอกลักษณ์ไทยแท้ ๆ สิ่งหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะผ่านไปอีกสักอีกยุคกี่สมัยคุณลักษณะนี้อันเป็นเอกลักษณ์นี้ก็ยังคงอยู่












บทสรุป
                บทประพันธ์ “หลายชีวิต” ผู้ศึกษาจะทำการศึกษาจากบทประพันธ์โดยยกเอาความเป็นเอกลักษณ์ไทย ทั้งที่เป็นค่านิยม ความคิด วิถีชีวิต และสภาพการเมืองการปกครอง พร้อมทั้งอื่น ๆ ขึ้นมาแสดงให้ผู้สนใจทราบว่า แม้ว่าบทประพันธ์จะสรรค์สร้างขึ้นจากความคิดของผู้ประพันธ์แล้ว แต่กระนั้นผู้ประพันธ์เป็นบุคคลหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ภายใต้คุณค่าของสังคม คือมีแนวความคิดของสังคม ทั้งด้านดีและด้านร้าย ดังนั้นบทประพันธ์ที่ออกมาจากผู้ประพันธ์ส่วนใหญ่จึงมีความคิดหรือคุณค่าของสังคมติดอยู่ไม่มากก็น้อย การวิเคราะห์เอกลักษณ์ไทยในวรรณคดี จึงไม่ใช่เรื่องที่ยกจนเกินไปเพราะผู้ประพันธ์คือคนที่อยู่ในสังคม ตราบใดสังคมย่อมครอบงำความคิดของผู้ประพันธ์และแสดงออกมาผ่านบทประพันธ์ถึงความคิดของสังคมว่าเป็นเช่นใด
                เอกลักษณ์ไทยต่างก็มีความเปลี่ยนแปลงไปทุกยุคทุกสมัย ในสมัยหนึ่งอาจจะเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัด เช่นความนิยมในความสนุกสนาน แต่ในยุคหนึ่งอาจจะไม่มีความนิยมเทียบเท่าในยุคสมัยนั้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงไปนี้ เกิดมาจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก อันจะพิจารณาไปแต่ละกรณี แต่กระนั้น ผู้ศึกษาเห็นว่า เมื่อขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของไทยแล้ว ก็ย่อมมีส่วนหนึ่งที่ผู้ศึกษาเห็นว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จนไม่อาจจะสามารถกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์หรือไม่ เอกลักษณ์สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามค่านิยม คุณค่า ของสังคมที่ให้ไว้ แต่ในที่ท้ายสุด ก็ยังคงต้องหลงเหลือบางสิ่งบางอย่างไว้ให้เห็นเป็นเค้ารางบ้างว่าสิ่งนี้คือผลพวงจากเอกลักษณ์ไทยที่ปรากฏเมื่อยุคสมัยหนึ่งและได้มีการสืบทอดมาพร้อม ๆ ความเปลี่ยนแปลง
                ผู้ศึกษาใคร่อธิบายว่า เอกลักษณ์ไทยที่ผู้ศึกษาได้วิเคราะห์นี้ หาใช่ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ชาติอื่น ไม่มีแต่อย่างใด เอกลักษณ์ไทยหรือเอกลักษณ์ที่คนไทยนิยม นั้น อาจจะมีชนชาติอื่น ๆ กระทำเช่นเดียวกัน หรืออาจจะมีความนิยมเช่นเดียวกัน แต่ผู้ศึกษาเห็นว่า คุณค่า ลักษณะของเอกลักษณ์นั้นย่อมจะไม่มีความเหมือนกันทุกประการ ยกเว้นเสียว่าเอกลักษณ์นั้น ๆ เป็นเอกลักษณ์ได้ได้รับการถ่ายทอดจากกลุ่มอารยธรรมเดียวกัน เช่นคำราชาศัพท์ที่ในกัมพูชาก็ใช้บางคำเหมือนกับทางราชสำนักไทย เป็นต้น   ความเหมือนมิใช่อุปสรรคที่กีดขวางการวิเคราะห์ความเป็นเอกลักษณ์แต่ความเหมือนอาจจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ต่อไปอีกได้ว่า น่าจะมีบางสิ่งบางอย่างที่ชนชาติ   -นั้น ๆ มีคล้ายคลึงหรือเหมือนกับชนชาติไทย เพราะคุณค่า ค่านิยม และเอกลักษณ์นั้นย่อมจะสามารถอธิบายเป็นเหตุและผลได้ ตามหลักสังคมศาสตร์ ผู้ศึกษาจึงใคร่อธิบายให้ผู้สนใจทราบดังที่กล่าวมานี้
                 



บรรณานุกรมอ้างอิง
คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว.,๒๕๕๓ .หลายชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒  ,กรุงเทพฯ:ดอกหญ้า ๒๐๐๐
ทวีศักดิ์  ปิ่นทอง .๒๕๕๖ . วรรณคดีกับสังคมไทย. กรุงเทพ ฯ . มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ราชบัณฑิตยสถาน. ๒๕๔๒ .พจนานุกรมอิเล็กทรอนิค  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ



โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1