Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : การพัฒนาด้านรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

การพัฒนาด้านรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ


      

    การพัฒนาด้านรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดย นายไพฑูรย์ พงศะบุตร
          การท่องเที่ยวเชิงนิเวศมีรูปแบบต่างๆให้เลือกได้หลายอย่างตามความสนใจของนักท่องเที่ยว ในปัจจุบันได้มีการนำเสนอการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในบางรูปแบบแก่ นักท่องเที่ยวแล้ว และก็ได้รับความนิยม เป็นอย่างดี คาดว่าในอนาคตคงจะมีรูปแบบใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีก 
          รูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ได้ มีการนำเสนอให้แก่นักท่องเที่ยวแล้ว มีดังนี้ 

          การเดินเส้นทางธรรมชาติ 

          เส้นทางธรรมชาติ (nature trail) หมายถึง  เส้นทางที่กำหนดไว้ หรือแนะนำให้นักท่องเที่ยวเดินชมสภาพธรรมชาติของพื้นที่แห่งหนึ่งแห่งใด เช่น บริเวณป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าชายเลน ป่าพรุ  ทั้งนี้เพื่อมิให้นักท่องเที่ยวหลงทางหรือเดินสะเปะสะปะไปเหยียบย่ำทำลายพืชพรรณไม้ หรือได้รับอันตรายจากอุบัติภัย ตามเส้นทางเดินจะมีเครื่องหมายบอกทาง รวมทั้งมีป้ายแนะนำชื่อพรรณไม้ต่างๆ และสิ่งที่นักท่องเที่ยวควรทราบในสถานที่นั้น มีการทำเส้นทางให้เดินได้อย่างสะดวกสบายพอสมควร และไม่เกิดอันตราย

          การส่องสัตว์/ดูนก 

          เป็นการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ป่าและ นกชนิดต่างๆในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ของมัน โดยการมองจากกล้องส่องทางไกล การส่องไฟฉายในช่วงเวลากลางคืน และการ ถ่ายภาพ บริเวณพื้นที่ซึ่งเหมาะสำหรับการ ท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สวนสัตว์เปิด และอุทยานนกน้ำ รวมทั้งสถานที่บางแห่งซึ่งมีนกย้ายถิ่นตามฤดูกาลบินมาเกาะอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก 

          การสำรวจถ้ำ/น้ำตก 
          เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่นิยมกันมาก เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทนี้เป็นจำนวนมากในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาให้เดินทางเข้าถึงได้ไม่ยากนัก ถ้ำเป็นลักษณะภูมิประเทศที่พบมากในบริเวณภูเขาหินปูน หากเกิดตามบริเวณชายฝั่งทะเลเรียกว่า ถ้ำทะเล ภายในถ้ำมักมีหินงอกหินย้อยสวยงาม หากเป็นถ้ำขนาดใหญ่อาจมีความ ยาวหลายร้อยเมตรภายในถ้ำก็ได้ และเป็นจุดดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวที่ต้องการ เข้าไปสำรวจ หรือดูความงดงามของหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ 
          ส่วนน้ำตกมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ บางแห่งเป็นน้ำตกลดหลั่นกันหลายชั้น การท่องเที่ยวดูน้ำตก นอกจากจะชมความสวยงาม ของน้ำที่ไหลตกลงมาแล้ว ยังอาจสำรวจบริเวณ เส้นทางน้ำไหล และพืชพรรณธรรมชาติที่มีอยู่ ในพื้นที่นั้นด้วยก็ได้

          การปีนเขา/ไต่เขา 

          เป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เคยชิน และเพิ่งจะเริ่มนำเข้ามาเผยแพร่โดย นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเมื่อไม่นานมานี้  การปีนเขา/ไต่เขาต้องอาศัยประสบการณ์เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ยังต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วย ปัจจุบันกิจกรรมการท่องเที่ยวประเภทนี้มีทำกันบ้างตามหน้าผาชันบริเวณชายฝั่งทะเลบางแห่งในภาคใต้ของประเทศ 

          การล่องแก่ง 

          ลำน้ำบางสายที่มีแก่งหินพาดผ่านกลางลำน้ำ ทำให้น้ำไหลเชี่ยว มากเป็นพิเศษ หรืออาจมีโขดหินโผล่พ้นพื้นน้ำ กั้นขวางทางเป็นตอนๆ ลักษณะเช่นนี้ทำให้เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวแบบผจญภัยที่เรียกว่า การล่องแก่ง (rapids shooting) โดยนักท่องเที่ยวนั่งในเรือยางขนาดเล็กหรือบน แพไม้ไผ่ ล่องไปตามลำน้ำที่น้ำไหลเชี่ยวกราก และพยายามหลบหลีกโขดหินต่างๆที่กั้นขวาง อยู่ในลำน้ำ 

          การนั่งเรือ/แพชมภูมิประเทศ 
          เป็นการท่องเที่ยวแบบพักผ่อนสบายๆ ซึ่งเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในประเทศไทยที่มีแม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวได้ชมภูมิประเทศตามสองฝั่งลำน้ำ และสังเกตดูชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในท้องถิ่นนั้นๆ การนั่งเรือชมภูมิประเทศ ยังครอบคลุมไปถึงการท่องเที่ยวในบริเวณอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ และในท้องทะเลด้วย 

          การพายเรือแคนู/เรือคะยัก 
          เรือแคนู (canoe) และ เรือคะยัก (kayak) เป็นรูปแบบของเรือพายที่นำมาจากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการท่องเที่ยวตามลำน้ำ เป็นเรือพายขนาดเล็ก นั่งได้ ๑ - ๓ คน ตัวเรือใช้วัสดุที่คงทนแต่มีน้ำหนักเบา ไม่ล่มได้ง่าย และพายได้คล่องตัว คำว่า แคนู เป็นชื่อเรือพายของชนพื้นเมืองแถบทะเลแคริบเบียนในอเมริกากลาง ส่วน คะยัก* เป็นชื่อเรือพายของชาวเอสกิโมในทวีปอเมริกาเหนือ การพายเรือแคนูและเรือคะยักเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ มีทั้งการล่อง แก่งในลำน้ำ และการพายเรือชมทัศนียภาพตามชายฝั่งทะเล

          *คะยัก เป็นคำที่คนไทยเรียกกันติดปาก ที่ถูกต้องแล้ว kayak ต้องอ่านออกเสียงว่า ไคแอ็ก
 


          การขี่ม้า/นั่งช้าง 
          การขี่ม้าหรือนั่งช้างเป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวที่สร้างความ สนุกสนานตื่นเต้นให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้าไป ชมสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ โดยเฉพาะ การนั่งช้าง ซึ่งเหมาะสำหรับการเข้าไปในบริเวณป่า อันเป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของ สัตว์ชนิดนี้ 

          การขี่รถจักรยานชมภูมิประเทศ 
          การขี่รถจักรยานชมภูมิประเทศให้ทั้งความเพลิดเพลินในการชมภูมิประเทศสองข้างทาง และการออกกำลังกาย จึงเป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในวัยหนุ่มวัยสาว ปัจจุบันมีรถจักรยานที่ออกแบบให้ขับขี่ได้คล่องแคล่วและเบาแรง เหมาะสำหรับการเดินทางในระยะไกล และการเดินทางขึ้นลงตามลาดเขา เรียกชื่อรถจักรยานดังกล่าวว่า รถจักรยานเสือภูเขา 

          การกางเต็นท์นอนพักแรม 
          การกางเต็นท์นอนพักแรมเป็นกิจกรรมที่นิยม ทำกันในบริเวณอุทยานแห่งชาติ หรือในสถานที่ซึ่งจัดสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ให้โดยเฉพาะ เป็นรูปแบบของการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่าง ใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางคืนอาจมีกิจกรรมอื่นๆประกอบด้วย เช่น การส่องสัตว์ การสังสรรค์รอบกองไฟหรือการเล่นแคมป์ไฟ (campfire) การดูดาว 

          การดำน้ำในทะเล 
          การดำน้ำในทะเลเพื่อดูปะการัง พืชน้ำ และปลาสวยงามใต้น้ำ เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับความ นิยมอย่างมากในขณะนี้ แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ การดำน้ำในน้ำตื้น ใช้เครื่องมือช่วยการหายใจที่เรียกว่า ท่อหายใจ (snorkel) เพื่อให้ผู้ดำน้ำสามารถดำน้ำได้ในระดับผิวน้ำ ที่ลึกไม่เกินความยาวของท่อหายใจ และ การดำน้ำในน้ำลึก อาศัยเครื่องมือช่วยการหายใจเป็นถังออกซิเจนขนาดเล็กผูกติดไว้กับผู้ดำน้ำ เป็นวิธีการดำน้ำที่เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า scuba diving 

ขอบคุณที่มา : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 27

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์