Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : หลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัย จำเป็นหรือไม่

หลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัย จำเป็นหรือไม่

“หลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัยมีความจำเป็นหรือไม่”  เป็นคำถามที่นักการศึกษาและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับด้านปฐมวัยในประเทศสอบถามมากมาย

          หลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัย เป็นการส่งเสริมครูปฐมวัยให้สามารถจัดประสบการณ์ในรูปของกิจกรรมบูรณาการที่สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยได้อย่างครบถ้วนทุกด้าน โดยไม่จำเป็นต้อง แยกออกมาสอนเป็นวิชาวิทยาศาสตร์  เพียงแต่ครูปฐมวัยควรจะตระหนักรู้ว่ากิจกรรมที่จัดให้กับเด็กในแต่ละช่วงเวลานั้น เป็นการส่งเสริมทักษะและแนวคิดทางวิทยาศาสตร์อะไรให้กับเด็กๆ และควรจะจัดกิจกรรมอย่างไรเพื่อจะสามารถตอบสนองและต่อยอดธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างเป็นระบบ 
          นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549    สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  (สสวท.)  ได้ดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัย ที่เป็นไปตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2546  และต่อเนื่องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา 
          อาจารย์ชุติมา  เตมียสถิต  หัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)  หนึ่งในทีมงานที่ริเริ่มโครงการนี้  กล่าวถึงที่มาของการจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัย  ว่าจากการเยี่ยมชมโรงเรียนปฐมวัยทุกสังกัดทั่วประเทศ ระหว่างปี พ.ศ.2548 – 2549  พบว่าครูปฐมวัยได้สอนวิทยาศาสตร์ในเชิงเนื้อหามากมาย โดยผ่านการบอกเล่า  มากกว่าที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็กที่มีความอยากรู้อยากเห็น และมีความกระตือรือร้นที่จะสำรวจตรวจสอบหาคำตอบ เนื้อหาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ครูสอนถูกแนวคิด (concept) บ้างไม่ถูกบ้าง และจากการสัมภาษณ์ครูถึงแนวทางการสอนวิทยาศาสตร์ของครู     พบว่าครูได้ใช้หลักสูตรปฐมวัย พ.ศ 2546 ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นแนวทาง ซึ่งได้กำหนดไว้อย่างกว้าง ๆ ในสาระที่ควรรู้ 4 สาระ ปัญหาที่ครูต้องคิดต่อจากหลักสูตรนี้คือ ครูจะต้องตอบโจทย์ให้ได้ในว่าแต่ละสาระ ครูจะสอนอะไร สอนแค่ไหน สอนอย่างไร และมีสื่อการเรียนรู้อะไรบ้างที่ควรนำมาใช้

          สสวท.  จึงได้รวบรวมข้อคิดเห็นเหล่านี้   และได้ตั้งคณะทำงาน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศ เช่น หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา   หม่อมหลวงอนงค์ นิลอุบล   อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นนักการศึกษาด้านปฐมวัย แพทย์ นักจิตวิทยา และนักวิชาการในสาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา สสวท.  มาร่วมวิเคราะห์หลักสูตรปฐมวัยปี พ.ศ.2546  หลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัยของต่างประเทศ 
และวิเคราะห์มาตรฐานหลักสูตรสาระวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา จากนั้นได้ร่วมกันจัดทำกรอบมาตรฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัย เพื่อเป็นแนวทางให้ครูในการจัดการเรียนรู้บูรณาการวิทยาศาสตร์ปฐมวัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 
          เมื่อเสร็จแล้วได้นำกรอบมาตรฐานนี้ไปทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ โดยเชิญผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาปฐมวัยทุกภาค ส่วน ร่วมประชุมพิจารณ์หลักสูตรกรอบมาตรฐานหลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัย ในปี พ.ศ. 2551 “การเรียนวิทยาศาสตร์ในชั้นปฐมวัยนั้น    ไม่ได้มุ่งเน้นให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหา  แต่มุ่งเน้นให้เด็กเรียนรู้เรื่องกระบวนการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์  ซึ่งประกอบไปด้วยการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว การตั้งคำถาม การหาวิธีที่จะตอบคำถาม โดยใช้ทักษะการสังเกตตามวัยของเด็ก  เมื่อเด็กได้พัฒนาทักษะในการสืบเสาะหาความรู้อย่างง่าย ๆ ตามวัยของเขา ก็จะทำให้เขามีเครื่องมือสำคัญที่จะแก้ปัญหาในอนาคตของตัวเองได้ เพราะเด็กจะเรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างมีเหตุมีผล และได้พัฒนาทักษะในการสังเกต เก็บรวบรวมข้อมูล สามารถที่จะเรียนรู้จากสิ่งรอบ ๆ ตัวได้ ถือว่าเป็นพื้นฐานสำหรับชีวิตของเด็ก ๆ ในการเรียนรู้ต่อไป”

          เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการได้แบ่งมาตรฐานหลักสูตรวิทยาศาสตร์ประถมศึกษาเป็น 8 สาระ สสวท. จึงจัดทำมาตรฐานหลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัยให้สอดคล้องกับทั้ง 8 สาระ    สอดคล้องกับหลักสูตรปฐมวัย พ.ศ. 2546 ของกระทรวงศึกษาธิการ และสอดคล้องกับหลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัยของต่างประเทศ

          ขณะนี้  สสวท. ได้ทำกรอบมาตรฐานหลักสูตรผ่านทุกกระบวนการที่สำคัญหมดแล้ว ก็คือผ่าน การประชาพิจารณ์ การนำไปทดลองใช้ การปรับแล้วนำไปทดลอง และวิจัยผลการใช้  ในส่วนของการทดลองใช้หลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัย    สสวท. ได้เชิญชวนให้โรงเรียนต่าง ๆ อาสาสมัครมาเป็นโรงเรียนทดลองใช้กรอบมาตรฐานหลักสูตร ฯ   ได้โรงเรียนทั่วประเทศ 23 โรง  จากภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคอีสาน  และทดลองใช้ในปี 2551  
          ผลจากการติดตามการทดลองใช้ พบว่าครูสามารถที่จะนำกรอบมาตรฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัย ไปจัดกิจกรรมบูรณาการวิทยาศาสตร์ในทุกสาระที่ควรรู้ได้ในทุกสาระโดยสอดแทรกเข้าไปในทุกกิจกรรมหลักที่ครูจัดอย่างสม่ำเสมอได้ แต่สิ่งที่ครูยังมีความต้องการนั้น ครูยังต้องการตัวอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เยอะ ๆ ซึ่ง สสวท. กำลังพัฒนาส่วนนี้อยู่
          “เราได้ทดลองแล้ว พบว่ากรอบมาตรฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัยนั้นตอบโจทย์ครูได้ว่า ในการสอนบูรณาการวิทยาศาสตร์ ครูจะสอนอะไร จะสอนแค่ไหน จะสอนอย่างไร และจะใช้สื่อรอบ ๆ ตัวเด็กนั้นมาเป็นสื่อในการเรียนรู้อย่างไร เพราะฉะนั้นคุณครูมีแนวทางสามารถที่จะจัดการเรียนรู้บูรณาการวิทยาศาสตร์ปฐมวัยได้แน่นอน”  อ. ชุติมา กล่าวหลังจากนั้นได้จัดอบรมครูทั่วประเทศไปแล้วในปี พ.ศ. 2552   ที่อุดรธานี  เชียงใหม่ ภูเก็ต  และระยอง  ต่อจากนี้จะจัดอบรมให้แก่ศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศเขตพื้นที่ละหนึ่งคน เพื่อที่จะให้ศึกษานิเทศก์ได้เป็นผู้ที่คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือแก่ครู
          ส่วนการดำเนินงานเกี่ยวกับหลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัยในอนาคต  หลังจากที่ สสวท. จัดทำคู่มือการใช้หลักสูตรเสร็จแล้ว ก็คือการชักชวนพันธมิตร เช่น ภาควิชาปฐมวัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งมีอยู่ทั่วทุกประเทศ เป็นศูนย์การอบรมครูปฐมวัย  และในขณะเดียวกัน สสวท. และคณะที่เป็นนักการศึกษาปฐมวัยที่เป็นผู้เริ่มต้นโครงการนี้ก็จะถอยมาเป็นผู้อบรมวิทยากรอีกทีหนึ่ง 
          “ทุกประเทศในโลกจะสอนปฐมวัยในเชิงบูรณาการ ก็คือจะบูรณาการทุกวิชาไว้ด้วยกัน  เพราะถือว่าเด็กจะต้องพัฒนาเป็นองค์รวม  แต่การที่ครูจะจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการพัฒนาเด็กเป็นองค์รวมนั้น จะต้องมีมาตรฐานเป็นที่ตั้งในของแต่ละสาระ เช่น คณิตศาสตร์ควรจะเรียนแค่ไหน วิทยาศาสตร์ควรจะเรียนแค่ไหน ครูก็จะยึดเอากรอบมาตรฐานมาจัดทำเป็นหลักสูตรบูรณาการปฐมวัยของตัวเอง ทุกประเทศจะเป็นแบบนี้ รวมทั้งประเทศเราด้วย”   อ. ชุติมากล่าวทิ้งท้าย


ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือนิตยสาร สสวท. กับวิชาการดอทคอม
ที่มา : นิตยสาร สสวท.
www.ipst.ac.th

สินีนาฎ  ทาบึงกาฬ/ รายงาน
www.vcharkarn.com

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์