Featured post

เรียนภาษาไทย-ติวO-NETสังคม : เด็กไทยเรียนฟรี เมื่อไหร่?เป็นจริง

แม้รัฐบาลได้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และก่อนประถมศึกษา โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่ปี 2542 แต่ในความเป็นจริง...ยังมีเด็กเยาวชน 12.1 เปอร์เซ็นต์ ต้องออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ
ปัจจุบันครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 10% ของประเทศ กับครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุด 10% ของประเทศ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนแตกต่างกันถึง 19 เท่า...
โดยครัวเรือนยากจนที่สุดมีกำลังเสียค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาภาคบังคับราว 2,252 บาทต่อปีการศึกษา หรือคิดเป็น 3.2% ของรายได้ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้
ขณะที่ครัวเรือนกลุ่มร่ำรวยที่สุดใช้จ่ายด้านการศึกษาเฉลี่ยราว 21,351 บาทต่อปีการศึกษา คิดเป็น 1.62% ของรายได้
สถานะทางเศรษฐกิจจึงมีผลอย่างมากต่อโอกาสทางการศึกษา และผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กเยาวชนออกจากระบบการศึกษาย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ
สะท้อนได้จากเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม (World Economic Forum : WEF) หรือเวทีเศรษฐกิจโลก ได้รายงานขีดความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพการศึกษา ประจำปี 2555-2556 พบว่า คุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในอันดับรั้งท้ายของกลุ่มประเทศอาเซียน
อีกปัญหาที่หลายคนกลับมองข้าม คือ ยังมีเด็กด้อยโอกาสที่หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี จำนวนประมาณ 13% ของประชากรนักเรียนที่เข้าเรียนพร้อมกันในชั้น ป.1
ข้อมูลจากบัญชีรายจ่ายเพื่อการศึกษา โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ พบว่า ที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายให้งบสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับเด็กยากจนในรูปแบบงบประมาณรายการหลักเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
แต่ 3 ปัญหาสำคัญ ทำให้ไปไม่ถึงฝั่งฝันนั้นก็คือ
“งบประมาณยังไปไม่ถึงตัวเด็กที่ยากจนจริงเป็นรายบุคคล”...
“การใช้เงินอุดหนุนผิดเป้าหมาย”...
และ “งบประมาณไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ”
ปัญหาแรก...งบประมาณไปไม่ถึงตัวเด็ก จากรายงานดังกล่าววิเคราะห์ว่า จำนวนเด็กยากจนที่โรงเรียนทั่วประเทศแจ้งยอดมาทั้งสิ้นราว 3.5 ล้านคน มากกว่างบประมาณที่มี 1.6 ล้านคน
การจัดสรรจึงใช้ระบบโควตาทำให้เด็กยากจนในโรงเรียนที่มีมากกว่า 40% ได้รับการอุดหนุนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่เด็กที่ครอบครัวมีฐานะสูงกว่าเกณฑ์ยากจนบางส่วนก็ได้รับส่วนแบ่งเงินอุดหนุนไปด้วย
ถัดมา...การใช้จ่ายเงินอุดหนุนผิดเป้าหมาย เป้าหมายเงินอุดหนุนรายหัวแก่เด็กยากจนควรจะเป็นการช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจนเพื่อลดภาระรายจ่ายและสร้างหลักประกันโอกาสในการเข้าเรียนของเด็กยากจนจนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ แต่ปัจจุบันโรงเรียนใช้เงินอุดหนุนเหล่านี้ไปจัดซื้อชุดกีฬา วัสดุอุปกรณ์การเรียน หรือใช้เป็นค่าอาหารกลางวัน ซึ่งอาจไม่ใช่ความจำเป็นของบางครัวเรือนที่ยากจนที่สุดเหล่านั้น และยังไม่มีระบบติดตามผลการใช้จ่ายเงินอุดหนุนของโรงเรียนว่าตรงตามเป้าหมาย...มีประสิทธิภาพเพียงใด
ปัญหาสุดท้าย...งบไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ผลการวิจัยจากโครงการจัดทำบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2551-2556 พบว่ารายจ่ายการศึกษาไทยสูงกว่าที่เคยมีรายงานและรายจ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ตรงกันข้ามกับการตอบสนองการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและเป้าหมายนโยบาย
งบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาภาครัฐ เฉลี่ยปีละ 500,000 ล้านบาท สำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน...ไม่รวมอาชีวะ
ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายประจำประเภทเงินเดือน พัฒนาครูและการบริหารจัดการ คิดเป็น 86% ลงทุน 4% เหลือที่ตกถึงผู้เรียน 10%... แยกย่อยเป็นพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาผู้เรียน 6% และเครื่องแบบ เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน 4%
ที่น่าสนใจคือ ในแต่ละปีกระทรวงศึกษาธิการจัดสรรงบประมาณไปยังเด็กยากจน ขาดโอกาส เพียง 2,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 0.5% ของงบประมาณที่กระทรวงศึกษาได้รับ ซึ่งถือว่าน้อยเกินกว่าที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาใหญ่ให้บรรลุผลสำเร็จได้
ถึงเวลาแล้วหรือยัง...ที่รัฐบาลควรปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับอยู่แล้วให้ตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น?
ตัวอย่างนโยบายที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติด้วยการใช้ “เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข” (Conditional Cash Transfer: CCT) ควบคู่ไปกับการใช้ “ระบบสารสนเทศระดับโรงเรียน” เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานร่วมกันระหว่างครอบครัวและโรงเรียนในการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กยากจนทุกคน
เช่น โครงการ Bolsa Familia ของรัฐบาลบราซิลที่เข้าถึงครัวเรือนที่ยากจนจริงได้สูงถึง 80% หรือ 14 ล้านครัวเรือน และสามารถลดอัตราการเลิกเรียนกลางคันของเด็กเยาวชนได้ 21%
ธนาคารโลกและองค์การโออีซีดี ประเมินว่า ภายในเวลาเพียง 10 ปี...ช่วยทำให้ระบบการศึกษาบราซิลมีพัฒนาการด้านคุณภาพการศึกษาที่เร็วที่สุดในโลก และมีการลดลงของความเหลื่อมล้ำทางรายได้ถึง 15%
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กำลังทดลองนำร่องต้นแบบระบบสารสนเทศในลักษณะ
ดังกล่าวในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง เพื่อแก้ปัญหาการเลิกเรียนกลางคันของเด็กเยาวชนด้อยโอกาสประเภทยากจนและพิการ
ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ หัวหน้าโครงการบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า น่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับรัฐบาลชุดนี้ เพราะไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงฐานเสียงทางการเมือง
“ปฏิรูประบบงบประมาณการศึกษา” เพื่อให้ไปถึงมือเด็กและเยาวชนที่จำเป็นต้องได้รับโอกาส
ปัญหามีว่า...ที่ผ่านมากลับเอื้อมไม่ถึงอย่างจริงจัง ด้วยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนยากจน เช่น อาจให้ทุนช่วยเหลือครอบคลุมครัวเรือนยากจนที่สุด 20% แรกของประเทศให้สามารถส่งบุตรหลานให้ได้รับการดูแล ตั้งแต่ก่อนปฐมวัยและเข้าเรียนจนจบช่วงการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี
ผลที่เกิดขึ้นจะลดจำนวนเด็กที่หลุดออกนอกระบบลงในท้ายที่สุด...ควบคู่ไปกับการพัฒนา “ระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการศึกษา” เพื่อเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลใช้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ปฏิรูปการศึกษา...ลดเหลื่อมล้ำ เด็กไทยเรียนฟรี...ฝันจะเป็นจริงเสียที.




ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 24 ก.ค.2558 

ภาพ http://www.isaanbizweek.com/wp-content/uploads/2014/07/pskku-001.jpg

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ดาวน์โหลด"มานะมานี" แจกไฟล์ตำราเรียนฟรี

กทม. 6 โซน : เพื่อวางแผนเส้นทางการสอนสำหรับติวเตอร์

แจกฟรีแบบฝึกหัดภาษาไทยมานะมานี ป.1